
แนวทางการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางเลือกกับ THAC

การดำเนินคดีหรือการขึ้นศาล ถือเป็นวิธีการที่ประชาชนส่วนมากเข้าใจและเลือกใช้เป็นอันดับแรก เพื่อระงับข้อพิพาท ทำให้เกิดปัญหาปริมาณคดีล้นศาล ส่งผลให้ประชาชนเสียเวลาและค่าใช้จ่ายสูงกว่าทุนทรัพย์ในคดีได้ ตลอดจนปัญหาคำพิพากษาที่อาจไม่ได้เปิดโอกาสให้คู่พิพาทได้เจรจากัน เพราะจะต้องดำเนินไปตามข้อกฎหมายระบุเท่านั้น ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทขึ้นมา ดังนั้นในบทความนี้จะพาทุกคนมารู้จัก “พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562” ว่าเกิดขึ้นจากปัญหาใด ข้อพิพาทใดบ้างที่สามารถไกล่เกลี่ยได้ ตลอดจนแนวทางการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางเลือกกับ THAC ว่ามีสาระสำคัญอย่างไรและมารู้จักบริการของเราในการระงับข้อพิพาทต่างๆ
การส่งเสริมการระงับข้อพิพาทด้วยการไกล่เกลี่ย
ดังที่กล่าวไปเบื้องต้นว่า การเข้ามาของพรบ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 เกิดขึ้นจากปริมาณคดีที่ล้นของศาล เนื่องจากข้อพิพาททางแพ่งและอาญาเกิดขึ้นจำนวนมาก และความจำเป็นด้านสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งต้องการให้ข้อพิพาททางแพ่งที่มีทุนทรัพย์ไม่มากและข้อพิพาททางอาญาที่ยอมความได้สามารถที่จะไกล่เกลี่ยในเบื้องต้นได้ ไม่จำเป็นต้องถึงชั้นศาล ซึ่งเป็นการลดภาระศาลและรวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินการพิจารณาคดีหรืองบประมาณ ตลอดจนช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการระงับข้อพิพาทต่างๆ ได้โดยสะดวก ง่าย เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ พร้อมไม่มีค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร เพราะคู่พิพาทสามารถมีโอกาสในการเจรจาตกลงกันโดยสันติวิธี ไม่มีการให้คำวินิจฉัยจากบุคคลกลาง ซึ่งช่วยให้คู่พิพาทหาจุดพึงพอใจของแต่ละคนได้และคำนึงถึงความยินยอมของคู่พิพาทเป็นสำคัญ ทำให้ปริมาณคดีลดลง ลดความขัดแย้ง โดยข้อพิพาทที่สามารถไกล่เกลี่ยได้ ประกอบด้วย
- ข้อพิพาททางแพ่งที่สามารถไกล่เกลี่ยได้
- ข้อพิพาทที่เกี่ยวกับที่ดินที่ไม่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์
- ข้อพิพาทระหว่างทายาทกับทรัพย์มรดก
- ข้อพิพาทอื่นๆ ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
- ข้อพิพาทอื่นๆ ที่ทุนทรัพย์ไม่เกิน 5 ล้านบาท
ข้อพิพาทที่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ คือ ข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัว หรือกรรมสิทธื์ในอสังหาริมทรัพย์
- ข้อพิพาททางอาญาที่สามารถไกล่เกลี่ยได้
- ข้อพิพาทอันยอมความได้
- ข้อพิพาทความผิดลหุโทษ ตามมาตรา 390 – 395 และมาตรา 397
สำหรับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาในชั้นสอบสวนสามารถไกล่เกลี่ยในคดีความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปีอีกด้วย
ในการไกล่เกลี่ยนั้น ทางหน่วยงานของภาครัฐบาลก็จะมีศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชนขึ้น โดยจัดตั้งขึ้นตามศาลประจำจังหวัดและหน่วยงานยุติธรรมอื่นๆ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด ฝ่ายปกครองฯ การไกล่เกลี่ยชั้นสอบสวน รวมถึงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ ตลอดจนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนอกศาล ซึ่งเมื่อการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสำเร็จจำเป็นที่จะต้องมีการบันทึกข้อตกลงระงับข้อพิพาทหรือสัญญาประนีประนอมเพื่อให้มีผลบังคับได้
กล่าวได้ว่า พรบ. เกิดขึ้นผ่านกระบวนการรับฟังเสียงจากประชาชน ซึ่งเป็นไปตามกลไกมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยพรบ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 เป็นพรบ.ที่เปิดโอกาสให้ประชาชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องสามารถดำเนินการขึ้นทั้งภาคในหน่วยงานรัฐบาลและภาคเอกชนอย่าง สถาบันอนุญาโตตุลาการหรือ THAC
แนวทางการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางเลือกกับ THAC
สถาบันอนุญาโตตุลาการ THAC เป็นสถาบันที่ผลักดันและส่งเสริมให้ประเทศไทยมีมาตรการที่เป็นมิตรต่อการระงับข้อพิพาททางเลือก พร้อมให้บริการด้านการระงับข้อพิพาทอย่างการประนอมข้อพิพาทและการอนุญาโตตุลาการที่เป็นอิสระและมีมาตรฐานสากลซึ่งสอดคล้องกับพรบ.ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ต้องการแบ่งเบาภาระของศาล เพราะเมื่อคู่พิพาทเกิดความขัดแย้งสามารถที่จะติดต่อมายังสถาบันได้อย่างสะดวก พร้อมให้บริการประนอมข้อพิพาทอย่างครบวงจรโดยมืออาชีพ
โดยส่วนมากแล้วมักจะเป็นข้อพิพาททางแพ่ง การละเมิดสัญญาต่างๆ ระหว่างเอกชนกับเอกชน เอกชนกับรัฐบาล และรัฐบาลกับเอกชน ตลอดจนข้อพิพาททางแพ่งระหว่างประเทศ ที่มักเลือกใช้วิธีการระงับข้อพิพาททางเลือกนอกศาลในการประนอมข้อพิพาทจนถึงการอนุญาโตตุลาการกับทาง THAC ซึ่งข้อดีของการใช้บริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกับเรานั้น คือ มีการดำเนินการที่อิสระ เป็นกลาง ตามมาตรฐานสากล ปราศจากการแทรกแซงใดๆ จากหน่วยงานต่างๆ พร้อมระบบตรวจสอบและโต้แย้ง อีกทั้งยังมีบริการที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการอย่างการให้บริการผ่านเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ อนุญาโตตุลาการ ผู้ประนอมข้อพิพาทที่มีประสบการณ์จากหลากหลายสาขาและประเทศ จึงช่วยให้หลายคดีสามารถประสบความสำเร็จในระยะเวลาและงบประมาณที่เหมาะสม
โดยข้อพิพาทที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง คือ ข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ทั้งในด้านสัญญาก่อสร้างหรือการชดเชย เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลต่อธุรกิจก่อสร้างโดยตรง ทั้งเรื่องของความล่าช้าในการก่อสร้างซึ่งเกิดขึ้นจากโรคระบาดที่ทำให้การก่อสร้างหยุดชะงักไปในระยะหนึ่ง หรือแม้แต่ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองจนทำให้ค่าวัสดุที่ราคาสูงเกินประเมิน ย่อมส่งผลให้เกิดข้อพิพาทได้โดยง่าย ตลอดจนการชำระเงินตามสัญญาก่อสร้าง ซึ่งการดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีนั้นใช้เวลาที่ยาวนาน จนอาจส่งผลกระทบอย่างมากหากไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในระยะเวลาที่จำกัด
ทำให้ทาง THAC เล็งเห็นปัญหาด้านนี้ จึงได้ทำการผลักดันเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาททางเลือกนอกศาลผ่านร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (TCA) และสำนักแก้ปัญหางานก่อสร้าง (CSA) รวมถึงการส่งเสริมจัดเสวนาร่วมกับชมรมนักกฎหมายก่อสร้างในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการระงับข้อพิพากทางเลือกนอกศาล ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาของ THAC ที่ผ่านมาพบว่ามีข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับสัญญาก่อสร้างมากถึง 48 ข้อพิพาท อีกทั้งเรายังมีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับคดีก่อสร้างที่มีรายละเอียดเชิงลึกที่ช่วยเข้ามาเป็นผู้ประนอมข้อพิพาทและช่วยให้คู่พิพาทสามารถหาทางออกที่พึงพอใจต่อกันได้
เกี่ยวกับเรา
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
บทความเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ย
ข่าวเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ย