การระงับข้อพิพาททางเลือกคดีแพ่ง
หลายท่านอาจไม่ทราบว่า หากเกิดความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับคดีทางแพ่งนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องดำเนินคดีผ่านศาลหรือตกลงยอมความที่โรงพักเท่านั้น ยังมีวิธีการระงับข้อพิพาททางเลือก โดยไม่มีการบันทึกคดีในประวัติอีกด้วย ในวันนี้ทาง THAC จะขอแนะนำให้รู้จักการระงับข้อพิพาททางเลือกคดีแพ่ง ว่ามีคดีความแบบใดและครอบคลุมเรื่องใดบ้าง มีวิธีการดำเนินการอย่างไร และหากสนใจจะสามารถใช้บริการได้อย่างไร
ข้อพิพาทคดีแพ่ง
ข้อพิพาทคดีแพ่ง คือ ข้อพิพาทที่เกิดจากการผิดสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างคู่พิพาทหรือบุคคลทั้ง 2 ฝ่าย และมีการเรียกร้องค่าเสียหายหรือสินไหมทดแทน ไม่ว่าจะเป็น คดีกู้ยืมเงิน คดีเช่าทรัพย์ คดีตั๋วเงิน คดีผิดสัญญา คดีจำนอง คดีซื้อขาย คดีมรดก ซึ่งจำเป็นจะต้องจ้างทนายในการฟ้องร้องดำเนินคดีในชั้นศาล
การระงับข้อพิพาททางเลือก
บางครั้งเมื่อคู่พิพาทสามารถตกลงกันได้ว่าไม่ต้องการให้ไปถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล ก็สามารถเลือกใช้วิธีการระงับข้อพิพาททางเลือกนอกศาลได้ (Alternative Dispute Resolution, ย่อ: ADR) ซึ่งวิธีการระงับข้อพิพาททางเลือกนอกศาลประกอบด้วย การเจรจา (negotiation), การไกล่เกลี่ย (conciliation), การประนีประนอมข้อพิพาท (mediation) และ การใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการ (arbitration) (อ่านเพิ่มเติม ที่นี่) ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะไม่มีการบันทึกในประวัติและค่อนข้างสะดวกกับคู่พิพาทมากกว่า เนื่องจากไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางไปเพื่อขึ้นศาลบ่อยครั้งและมีระยะเวลาในการดำเนินคดีที่สั้นกว่าและไม่ซับซ้อนเท่ากับในชั้นศาล อีกทั้งไม่จำเป็นที่จะต้องเปิดเผยรายละเอียดส่วนตัวแก่สาธารณะ จึงทำให้การระงับข้อพิพาททางเลือกนอกศาลในคดีแพ่งเป็นที่นิยม อย่างเช่น กรณีการผิดสัญญาว่าจ้างในการก่อสร้างอาคารที่ไม่สำเร็จตามระยะเวลาที่กำหนด กรณีฟ้องร้องค่าเสียหายบริษัทที่ทำผิดสัญญา หรือ คดีการแบ่งมรดกของครอบครัว
สถาบันอนุญาโตตุลาการ
หนึ่งในวิธีการระงับข้อพิพาททางเลือกนอกศาลที่คู่พิพาทนิยมใช้ โดยจะมีการตกลงเลือกบุคคลที่มีความเป็นอิสระไม่เกี่ยวข้องกับผู้พิพาททั้งสอง มีความชำนาญการในเรื่องพิพาทและเป็นกลาง โดยเรียกผู้ที่มาทำหน้าที่นี้ว่า อนุญาโตตุลาการ ซึ่งสามารถมีได้ทั้งแบบบุคคลเดียวหรือคณะที่เป็นจำนวนคี่ มาเป็นผู้ทำการวินิจฉัยข้อพิพาททางแพ่งนั้นโดยอิงกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทำการพิจารณาคดีและสืบพยาน เมื่อได้คำชี้ขาดแล้ว คู่พิพาททั้งสองจะต้องยอมรับคำชี้ขาดและผูกพันที่จะปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้นด้วย ไม่สามารถละเมิดคำชี้ขาดนั้นได้ โดยอาจจะออกเป็นเอกสารคำชี้ขาดให้แก่คู่พิพาททั้งสอง หากมีการละเมิดคำชี้ขาดของคู่พิพาท สามารถนำเอกสารที่เกี่ยวข้องต่างๆ ไปยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อบังคับให้คู่กรณีปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้นๆ ได้ อย่างไรก็ตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการเป็นเพียงการระงับข้อพิพาททางเลือกนอกศาลเท่านั้น คู่พิพาทสามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้เช่นกัน (อ่านเพิ่มเติม ที่นี่)
จากที่กล่าวไปข้างต้นการใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการค่อนข้างแพร่หลายและได้รับความนิยมอย่างสูง เนื่องจากเป็นวิธีการที่สะดวกและประหยัดกว่ากระบวนการทางศาลในหลายๆ กรณี อีกทั้งยังไม่มีการบันทึกประวัติอีกด้วย หากท่านผู้อ่านสนใจบริการด้านอนุญาโตตุลาการ สามารถสอบถามเพิ่มเติมกับ สถาบันอนุญาโตตุลาการ หรือ THAC ได้ที่อีเมล [email protected] หรือ เบอร์โทรศัพท์ +66(0)2018 1615
เกี่ยวกับเรา
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย