ตอบคำถาม “ประเด็นอ่อนไหว” ทำไมต้องใช้วิธีการไกล่เกลี่ย?
“ประเด็นอ่อนไหว” คือ เรื่องที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นแล้วปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจะต้องส่งผลกระทบอย่างมาก ยิ่งในกรณีที่ความขัดแย้งเกิดขึ้นกับคู่พิพาทที่มีความสนิทชิดเชื้อหรือเป็นคนในครอบครัว ยิ่งนำไปสู่การเกิดความอ่อนไหวมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นการเลือกวิธีการระงับข้อพิพาทจึงต้องมีความใส่ใจอย่างมาก โดยบทความนี้ของ THAC จะขอพาทุกคนมารู้เหตุผลว่าทำไมประเด็นอ่อนไหวที่เกิดขึ้น การใช้วิธีการระงับข้อพิพาททางเลือกนอกศาลอย่างไกล่เกลี่ยจึงเป็นวิธีได้รับความนิยมอย่างมาก
ในการระงับข้อพิพาทนั้น สามารถดำเนินการได้ทั้งการใช้กระบวนการยุติธรรมผ่านการตัดสินของศาลหรือเจ้าหน้าที่พนักงาน ซึ่งจะมีการมอบคำตัดสินที่มีผลผูกพันทางกฎหมายหรือคำพิพากษา แต่ก็เป็นวิธีการที่มีขั้นตอนยุ่งยาก ใช้เวลายาวนาน ต้องเปิดเผยเนื้อหาสู่สาธารณะ และในหลายกรณีอาจกระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างคู่พิพาทได้ ทำให้การระงับข้อพิพาททางเลือกนอกศาลเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่หลายฝ่ายนิยมใช้ในขั้นตอนแรก สามารถแบ่งออกได้เป็นทั้งการพูดคุยของทั้งสองฝ่ายเองและการแต่งตั้งคนกลางขึ้นมาเพื่อช่วยประสานความเข้าใจ รายละเอียดดังนี้
- การเจรจา คือ การพูดคุยระหว่างคู่พิพาททั้งสองฝ่าย ไม่มีคนกลาง เพื่อตกลงความต้องการและนำไปสู่การระงับข้อพิพาท นับเป็นวิธีที่ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย รวมถึงการรักษาความลับได้ อย่างไรก็ตามวิธีการนี้ไม่เหมาะกับกรณีที่คู่พิพาทฝ่ายหนึ่งมีอำนาจต่อรองมากกว่าอีกฝ่ายอาจทำให้การเจรจาไม่สำเร็จได้
- การประนอมข้อพิพาทหรือการไกล่เกลี่ย คือ การแต่งตั้งบุคคลที่สามารถขึ้นมาเพื่อประสานความเข้าใจทั้งสองฝ่ายให้ตรงกันและร่วมหาทางออกได้อย่างสันติ โดยบุคคลที่สามจะไม่ได้ทำหน้าที่ตัดสินว่าฝ่ายใดถูกหรือผิด ทำหน้าดำเนินการเจรจากับทั้งสองฝ่ายเพียงเท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีที่ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะเป็นการให้ทั้งสองฝ่ายสามารถพูดคุยถึงความต้องการ ไม่มีขั้นตอนซับซ้อน ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในบางกรณี ไม่มีความตึงเครียดเท่ากับการขึ้นศาล รักษาความลับและความสัมพันธ์ ในกรณีที่ระงับข้อพิพาทสำเร็จก็จะมีการทำสัญญาประนีประนอมขึ้น หากไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จก็สามารถเลือกวิธีการอื่นอย่างการอนุญาโตตุลาการหรือดำเนินการฟ้องร้องต่อได้ โดยเนื้อหาที่เกิดระหว่างไกล่เกลี่ยจะไม่ถูกนำมาใช้ในการฟ้องร้อง
- การอนุญาโตตุลาการ คือ การสมัครใจแต่งตั้งบุคคลที่สามจากทั้งสองฝ่ายขึ้นที่มีความเป็นอิสระและชำนาญ มาสืบสวนและมอบคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทดังกล่าว โดยคำชี้ขาดจะมีผลผูกพันทางกฎหมาย เป็นอีกวิธีระงับข้อพิพาทที่หลายองค์กรใช้และมักอยู่ในหนังสือสัญญาหลายฉบับ เพราะมีการมอบคำชี้ขาดที่ชัดเจน มีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อน ซึ่งหากดำเนินการฟ้องในขั้นตอนศาลอยู่ คู่พิพาทจำเป็นต้องถอนฟ้องเพื่อมาใช้วิธีการนี้เอง
กล่าวได้ว่า การระงับข้อพิพาทแต่ละวิธีมีจุดเด่นและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน โดยส่วนมากแล้ว คู่พิพาทมักจะเริ่มด้วยการเจรจาก่อน หากไม่สำเร็จจะนำไปสู่การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หรือการอนุญาโตตุลาการในภายหลัง ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือความสมัครใจของคู่พิพาทที่จะต้องยินยอมให้มีกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกนอกศาลเกิดขึ้น
ประเด็นอ่อนไหวกับการระงับข้อพิพาท
เพราะความขัดแย้งเพียงเล็กน้อย นำไปสู่ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ได้ โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างคู่พิพาท ดังนั้นมารู้กันว่าการระงับข้อพิพาททางศาลหรือการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่พนักงานจะส่งผลอย่างไรได้บ้าง
- ความสัมพันธ์: ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าส่งผลอย่างมาก โดยทั่วไปการขึ้นศาลหรือฟ้องร้องต่อเจ้าหน้าที่พนักงานมักดำเนินจากคู่พิพาทฝ่ายหนึ่ง ซึ่งในหลายคดีเมื่อเรื่องดำเนินการไปถึงชั้นศาล อาจต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการสืบสวน จนทำให้ความเชื่อใจ ความสนิทใจ ตลอดจนความสัมพันธ์พังทลายได้อีกด้วย
- ระยะเวลา-งบประมาณ: เนื่องจากศาลมีภาระงานที่ล้น ทำให้บางคดีกินเวลายาวนานไปมากหลายปี อีกทั้งทั้งโจทก์และจำเลยจำเป็นที่จะต้องเดินทางไปศาลต่างๆ บ่อยครั้งหรือกรณีที่ต้องนำสืบพยานเพิ่มเติม อาจทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางหรือการสู้คดีจำนวนมาก
- การรักษาความลับ: ในขั้นตอนการนำสืบคดีจำเป็นที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆ สู่สาธารณะเพื่อสืบสวนและใช้เป็นขั้นตอนในการตัดสิน จึงทำให้หลายครั้งคู่พิพาทต้องนำข้อมูลภายในมาเปิดเผย ซึ่งไม่สามารถที่จะปกปิดความลับได้
นอกจากนี้ ยิ่งคดีที่มีความอ่อนไหวหรือประเด็นเปราะบาง การดำเนินการด้วยวิธีการขึ้นศาลอาจส่งกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นคดีที่เกี่ยวข้องทางสายเลือดหรือสายสัมพันธ์ ทำให้การใช้การระงับข้อพิพาททางเลือกนอกศาลกลายมาเป็นตัวเลือกแรกในการหาทางยุติข้อพิพาท
การไกล่เกลี่ยกับคดีครอบครัว
คดีครอบครัวเป็นหนึ่งในคดีที่มีความอ่อนไหวอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ที่มีทั้งความสัมพันธ์และความลับภายในที่ไม่ควรนำออกมาเปิดเผย ซึ่งคดีครอบครัวนั้นมีทั้งในรูปแบบคดีแพ่งที่เกี่ยวข้องการฟ้องร้องเรียกค่าใช้จ่ายและคดีอาญาอย่างการกักขังหน่วงเหนี่ยวหรือทำอนาจาร โดยเฉพาะคดีอาญาที่ไม่สามารถยอมความได้ ดังนั้นการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจึงกลายเป็นวิธีเริ่มต้นในการระงับข้อพิพาทในคดีครอบครัว โดยได้รับการยอมรับอย่างมากเพราะมีการระบุในพรบ. ศาลเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 148 ที่ก่อนเริ่มพิจารณาคดี ศาลจะแต่งตั้งผู้ประนีประนอมเพื่อไกล่เกลี่ยและรายงานผลก่อน
ข้อดีของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีครอบครัว คือ เป็นความสมัครใจของคู่พิพาทที่ต้องการให้ความขัดแย้งยุติ จึงได้คัดเลือกคนกลางที่มีทักษะไกล่เกลี่ยขึ้นมาช่วยอำนวยความสะดวกในการพูดคุย เจรจา สามารถที่จะกำหนดขั้นตอนได้ ไม่เป็นทางการทำให้ไม่ตึงเครียดเท่ากับการขึ้นศาล จึงรวดเร็วและสะดวกต่อคู่พิพาท อีกทั้งยังสามารถรักษาความลับและความสัมพันธ์ได้อีกด้วย การไกล่เกลี่ยจึงช่วยทำให้คู่พิพาทได้รับสิ่งที่ต้องการอย่างสมานฉันท์ ซึ่งหากไกล่เกลี่ยสำเร็จจะมีการทำสัญญาประนีประนอมขึ้น ในกรณีที่ไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จก็สามารถที่จะอนุญาโตตุลาการหรือฟ้องร้องต่อศาลได้
กล่าวได้ว่าการไกล่เกลี่ยเป็นการเปิดพื้นที่ให้คู่พิพาทได้ทำความเข้าใจความต้องการของแต่ละบุคคล โดยมีผู้ไกล่เกลี่ยค่อยช่วยให้บรรยากาศในการไกล่เกลี่ยเป็นไปได้อย่างดีและผสานความเข้าใจให้กลับมาคืนดีต่อกัน วิธีการนี้จึงเหมาะสมอย่างมากในการใช้ในกับข้อพิพาทในประเด็นอ่อนไหวต่างๆ นั่นเอง
เกี่ยวกับเรา
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
สนใจติดต่อ THAC ได้ที่ อีเมล [email protected] หรือ โทร +66(0)2018 1615