การประนอมข้อพิพาทสำหรับผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ตามสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ธุรกิจขนาดย่อมหรือ SMEs ถือเป็นกลุ่มธุรกิจซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในหลายด้านๆ ทั้งในแง่การจ้างงานที่มีผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณงานและรายได้ในครัวเรือน สร้างมูลค่าเพิ่มรวมถึงความหลากหลายของสินค้าและบริการ[1] เนื่องจากครอบคลุมแทบทุกวิสาหกิจทั้งภาคการผลิต การค้าส่ง-ปลีก และภาคบริการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยจากการผลิตเพื่อส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการเนื่องจากธุรกิจของผู้ประกอบการรายใหม่ส่วนใหญ่มักมีขนาดเล็กในช่วงแรกก่อนที่จะขยายธุรกิจให้มีขนาดใหญ่ต่อไป[2]
การประกอบธุรกิจ SMEs นั้น แม้จะส่งผลกระทบด้านดีต่อระบบเศรษฐกิจในองค์รวม แต่ก็อาจมีความยุ่งยากตามมาได้เมื่อเกิดข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทขึ้นระหว่างการประกอบธุรกิจ ซึ่งการจะเข้าสู่กระบวนการยุติหรือระงับข้อพิพาททางหลักโดยองค์กรศาล อาจจะไม่ได้เป็นวิธีการซึ่งตอบโจทย์เนื่องด้วยข้อจำกัดทางเวลา ค่าใช้จ่าย กระบวนการที่ไม่ได้มุ่งหมายในการรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างคู่พิพาท หรือรักษาชื่อเสียงทางธุรกิจของคู่กรณี
วิธีการระงับข้อพิพาทโดยการประนอมข้อพิพาท มีข้อดีในแง่ที่ว่าเป็นกระบวนการระงับข้อพิพาทที่ประหยัดเวลา และมีประสิทธิผลเนื่องจากมีวิธีการและขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากและไม่เคร่งครัดหากเทียบกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาล และไม่มีกระบวนการทำคำชี้ขาดอย่างอนุญาโตตุลาการ อนึ่ง ในการคัดเลือกผู้ประนอมนั้น คู่กรณีสามารถตกลงร่วมกันตั้งผู้ประนอมได้เอง ดังนั้น ผู้ประนอมจึงมักจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในสายงานที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทดังกล่าว ซึ่งจะมีความเข้าใจในรายละเอียด ที่มา สภาพปัญหา ตลอดจนสามารถค้นหาแนวทางระงับข้อพิพาทที่สมประโยชน์แก่คู่กรณีทุกฝ่าย จึงถือได้ว่ากระบวนการประนอมข้อพิพาทเป็นวิธีการสำคัญในการระงับข้อพิพาทที่อาจมีลักษณะพิเศษ หรือเฉพาะทาง เป็นกระบวนการที่รักษาชื่อเสียงและความลับของคู่กรณี ผู้ที่เข้าร่วมการประนอมข้อพิพาทจำกัดอยู่เพียงวงแคบโดยอาจมีเพียงคู่กรณีและผู้ประนอมเท่านั้น ท้ายสุดคือเป็นกระบวนการที่เป็นการรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าการพณิชย์ของคู่กรณี ทำให้คู่กรณียังมีโอกาสที่จะสามารถดำเนินธุรกิจกันต่อไปได้ด้วย[3]
ข้อดีอีกประการหนึ่งคือ การประนอมข้อพิพาทนั้นค่อนข้างประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นศาล เช่น ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการประนอมข้อพิพาทของสถาบันอนุญาโตตุลาการ จัดแบ่งเป็นค่าธรรมเนียมเริ่มต้นเรียกเก็บจากผู้เสนอและผู้ตอบรับ (กรณีมี ข้อเรียกร้องแย้ง) เพียงฝ่ายละ 1,000 บาท เท่านั้น ส่วนค่าธรรมเนียมผู้ประนอมจะพิจารณาจากทุนทรัพย์เป็นหลักและเป็นอัตราแบบก้าวหน้า กล่าวคือ หากทุนทรัพย์มากขึ้นค่าธรรมเนียมก็จะมากขึ้น ตามไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้เป็นหลักการที่ปรากฏทั่วไปทั้งในเรื่อค่าธรรมเนียมศาล และค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการ อนึ่ง หากจะเปรียบเทียบแล้วค่าธรรมเนียมผู้ประนอมก็ยังนับว่าค่อนข้างต่ำกว่าอยู่มาก โดยรายละเอียดเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมผู้ประนอม ปรากฏตามตารางดังต่อไปนี้ [4]
- [1] “บทบาทของ SMEs ต่อระบบเศรษฐกิจไทย” โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
- [2] “มุมมองของสินเชื่อธุรกิจไทยจากข้อมูลรายสัญญา ตอนที่ 1”, นิตยสารออนไลน์ aBRIDGEd ฉบับที่ 12/2018 เผยแพร่เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2018
- [3] ศาสตราจารย์เสาวนีย์ อัศวโรจน์, คำอธิบายกฎหมายว่าด้วยวิธีการระงับข้อพิพาททางธุรกิจโดยอนุญาโตตุลาการ,พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2554), น.11-13.
- [4] ข้อบังคับสถาบันอนุญาโตตุลาการว่าด้วยการประนอมข้อพิพาท (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561