หนังสือรับรองตามกฎหมายอนุญาโตตุลาการฉบับใหม่
เนื่องจาก ในสภาวการณ์ปัจจุบันมีการดำเนินธุรกรรมทางการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งแม้ว่าจะทำให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจในการสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ ตลอดจนกระจายการจ้างแรงงานก็ตาม แต่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไปเสียไม่ได้ ก็คือโอกาสที่คู่สัญญาในธุรกรรมนั้นๆ จะเกิดข้อพิพาททางการค้าการพาณิชย์ ตามมาด้วย ซึ่งเมื่อเกิดข้อพิพาทแล้ว หากปล่อยให้เวลาเนิ่นนานไปมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งส่งผลกระทบทางการค้าที่ตามมามากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียเวลาและโอกาสในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งความสัมพันธ์อันดีระหว่างคู่ค้า ดังนั้น การยุติหรือระงับข้อพิพาทด้วยความรวดเร็วและยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าจึงถือเป็นเป้าหมายสำคัญในการระงับข้อพิพาททางการค้าการพาณิชย์
ซึ่งหากจะกล่าวถึงการระงับข้อพิพาททางเลือกที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนั้น การอนุญาโตตุลาการถือเป็นวิธีการที่ยอมรับโดยทั่วไปในระดับสากลและนานาอารยประเทศว่าเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกหนึ่งที่เหมาะสมกับข้อพิพาททางการค้าการพาณิชย์ เพราะรวดเร็วและมีประสิทธิผล ไม่ได้มีขั้นตอนที่ยุ่งยากหากเทียบกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาล ค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก นอกจากนี้ ยังเป็นกระบวนการที่รักษาชื่อเสียงและความลับทางธุรกิจ ตลอดจนความสัมพันธ์ของคู่กรณีพิพาทได้เป็นอย่างดี[1] ตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงนับได้ว่าการอนุญาโตตุลาการถือเป็นกลไกสำคัญและมีประสิทธิภาพในการยุติหรือระงับข้อพิพาททางการค้าการพาณิชย์ด้วย
ที่ผ่านมา แม้ว่าประเทศไทยจะมีความพยายามในการก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้านการให้บริการระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ตลอดจนมียุทธศาสตร์ที่จะผลักดันและส่งเสริมให้มี การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเพื่อพัฒนาระบบการระงับข้อพิพาททางเลือกก็ตาม[2] แต่กลับพบว่า ในทางปฏิบัติ มีปัญหาติดขัดด้านกฎหมายและข้อบังคับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่ไม่อำนวยความสะดวกในการให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศมากเท่าที่ควร
ปัญหาและอุปสรรคประการหนึ่งที่ปรากฏโดยชัดแจ้ง คือ กรณีที่อนุญาโตตุลาการ และผู้รับมอบอำนาจจากคู่พิพาท ซึ่งเป็นคนต่างด้าวและมีความประสงค์จะเข้ามาดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการในราชอาณาจักรไทยนั้น จะต้องยื่นเอกสารเพื่อขออนุญาตจากหลายหน่วยงาน ตลอดจนต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายหลายฉบับ และเนื่องด้วยมาตรการที่ยุ่งยาก ซับซ้อน รวมทั้งไม่อำนวยความสะดวกต่อการปฏิบัติหน้าที่ของอนุญาโตตุลาการและผู้รับมอบอำนาจของคู่พิพาทซึ่งเป็นคนต่างด้าวนี้เอง ทำให้กระทบต่อศักยภาพในการแข่งขันด้านการให้บริการระงับข้อพิพาททางเลือกของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ด้วยสภาพปัญหาและความจำเป็นที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงได้เสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน โดยที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ก็ได้มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2562 (ซึ่งเป็นวันถัดจากวันที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา)
ผลลัพธ์ที่ตามมาภายหลังจากที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฉบับนี้มีผลใช้บังคับ คือ คู่กรณีที่มีความประสงค์จะดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจะมีโอกาสได้คัดเลือกอนุญาโตตุลาการที่เหมาะสมและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเกี่ยวกับเรื่องที่ได้พิพาทกันมากขึ้น การแต่งตั้งผู้รับมอบอำนาจซึ่งเป็น คนต่างด้าวเพื่อเข้ามาดำเนินกระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการในประเทศไทยก็จะสะดวกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ประเทศไทยก็จะกลายเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับเป็นสถานที่ในการดำเนินกระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการ อันจะทำให้คู่กรณีไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ และยังเป็นการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการระงับข้อพิพาททางเลือกที่สำคัญในภูมิภาคนี้ด้วย[3]
โดยที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฉบับนี้ ได้วางมาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในราชอาณาจักรไทยของอนุญาโตตุลาการและผู้รับมอบอำนาจจากคู่พิพาทชาวต่างด้าว กล่าวคือกรณีที่เป็นการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการโดยส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวเนื่องกับการอนุญาโตตุลาการคนต่างด้าวนั้นสามารถขอหนังสือรับรองจากส่วนราชการหรือหน่วยงานดังกล่าวเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวได้, รายละเอียดของหนังสือรับรองที่จะออกโดยส่วนราชการหรือหน่วยงานดังกล่าว, สิทธิในการเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว ตลอดจนสิทธิในการทำงานในราชอาณาจักรไทยได้ตามตำแหน่งหน้าที่ของตน โดยระหว่างที่ดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานอยู่นั้น คนต่างด้าวที่ได้รับหนังสือรับรอจากสถาบันหรือหน่วยงานที่ให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการแล้ว สามารถปฏิบัติงานไปพลางก่อนได้ และจะมีระยะเวลาการดำเนินการที่รวดเร็วกว่าการยื่นขอใบอนุญาตทำงานกรณีปกติ อย่างไรก็ดี ใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายอนุญาโตตุลาการฉบับใหม่นี้ ก็มีข้อจำกัด คือ จะปฏิบัติงานได้เฉพาะในฐานะอนุญาโตตุลาการ หรือผู้รับมอบอำนาจจากคู่พิพาทเท่านั้น จะไม่สามารถดำเนินการในกรณีอื่นนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองและใบอนุญาตทำงานได้เลย เพราะมีความเสี่ยงว่าจะเป็นการปฏิบัติงานเกินสิทธิ อาจต้องโทษปรับหรือถูกขึ้นบัญชีไว้ไม่ให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรไทยได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
อนึ่ง หากคนต่างด้าวรายใดเคยได้รับใบอนุญาตทำงานอยู่แล้ว กรณีเช่นนี้ ก็ไม่ต้องยื่นขอหนังสือรับรองจากสถาบันหรือหน่วยงานด้านการระงับข้อพิพาท หรือไปดำเนินการขอออกใบอนุญาตทำงานอีก เพราะสามารถใช้ใบอนุญาตทำงานเดิมได้โดยอัตโนมัติ เนื่องจากงานอนุญาโตตุลาการและผู้รับมอบอำนาจไม่ได้เป็นงานต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขคือกรณีงานว่าต่างแก้ต่างในชั้นอนุญาโตตุลาการ ต้องเป็นกรณีกฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ข้อพิพาทที่พิจารณาโดยอนุญาโตตุลาการนั้นไม่ใช่กฎหมายไทย หรือเป็นกรณีที่ไม่ต้องขอบังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นในราชอาณาจักรไทย[4]
เอกสารอ้างอิง
- [1]ศาสตราจารย์เสาวนีย์ อัศวโรจน์, คำอธิบายกฎหมายว่าด้วยวิธีการระงับข้อพิพาททางธุรกิจโดยอนุญาโตตุลาการ,พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2554), น.11-13.
- [2] ยุทธศาสตร์กระทรวงยุติธรรม ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 – พ.ศ.2579)
- [3] บันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 และเอกสารประกอบ
- [4] ข้อ 39 บัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522