บันทึกสรุปงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง “มาตรการทางกฎหมายในการอำนวยความสะดวกให้แก่อนุญาโตตุลาการชาวต่างชาติที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในราชอาณาจักรไทย”
1. Smart Visa
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI
การอนุญาโตตุลาการถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งมีสิทธิได้รับการพิจารณาคุณสมบัติให้รับ Smart-visa T ได้ โดยมีเงื่อนไขในการยื่นคำขอที่แตกต่างจาก Smart Visa ประเภทอื่นๆ กล่าวคือ ไม่มีการระบุอัตราเงินเดือนขั้นต่ำ ระยะเวลาของสัญญาก็ไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจนอย่างกรณีอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น และจะต้องมีการรับรองคุณสมบัติความเป็นผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงจากหน่วยงานระงับข้อพิพาททางเลือกในประเทศ
ขั้นตอนทางปฏิบัติ
ผู้ยื่นคำขอต้องยื่นคำขอพร้อมแสกนเอกสารประกอบผ่านทางออนไลน์ ถ้าหากว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ติดต่อกลับไปว่าเอกสารไม่พอ หรือต้องยื่นเอกสารอะไรเข้ามาเพิ่มเติม ก็ถือว่าเสร็จสิ้นหน้าที่ของผู้ยื่นคำขอแล้ว ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 30 วันทำการ
ภายหลังจากได้รับแบบยื่นคำขอออนไลน์แล้ว BOI จะแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ และเข้าไปตรวจสอบแบบคำขอดังกล่าว หากผ่านการพิจารณาจากทุกหน่วยงาน (กรมการจัดหางาน หน่วยงานระงับข้อพิพาททางเลือก สำนักงานตรวจคนเข้ามเอง) จึงจะมีสิทธิได้รับ Smart visa
ซึ่งหากบุคคลใดผ่านการพิจารณาให้มีสิทธิได้รับ Smart visa แล้ว BOI จะดำเนินการแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ยื่นคำขอ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (กรณีในประเทศ) และสถานกงสุลหรือสถานทูตไทย (กรณีต่างประเทศ) ทราบ เพื่อดำเนินการตรวจลงตราให้คนต่างด้าวรายดังกล่าวต่อไป หลังจากนั้น ผู้ที่ผ่านจะต้องไปยืนยันตัวตนในการขั้นตอนการตรวจลงตราที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (กรณีในประเทศ) หรือไปรับสติกเกอร์เพื่อปิดลงในหนังสือเดินทางจากสถานกงสุลหรือสถานทูตไทย (กรณีต่างประเทศ) นอกจากนี้ ในส่วนของการรายงานตัวต่อ นอกจากการรายงานตัวต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ต้องดำเนินการทุก 1 ปีแล้ว ก็จะต้องรายงานตัวต่อ BOI ทุกปี ถึงสถานภาพการปฏิบัติงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงด้านการอนุญาโตตุลาการด้วย ที่ผ่านมา โดนสถิติมีผู้ยื่นคำขอราวร้อยกว่าราย แต่ได้รับการพิจารณาอนุมัติจำนวน 89 ราย
ขอบเขตของการเป็นผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง
ประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ ป.12/2561 กำหนดขอบเขตคุณสมบัติของผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงด้านการอนุญาโตตุลาการเอาไว้ว่า หมายถึง ผู้ที่เข้ามาเพื่อการอนุญาโตตุลาการ ผู้ว่าต่างแก้ต่างในชั้นอนุญาโตตุลาการ และผู้สนับสนุนงานของอนุญาโตตุลาการ
จำนวนเอกสาร
กรณีของเอกสารประกอบการยื่นขอ Smart visa T สำหรับผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงด้านอนุญาโตตุลาการ ปัจจุบันเอกสารเหลือเพียง 5-6 อย่างเท่านั้น (ไม่รวมแบบคำขอ) นอกจากเอกสารทั่วไป ก็มีใบรับรองแพทย์ ซึ่งจะออกจากคลินิคหรือโรงพยาบาลแห่งใดซึ่งตั้งอยู่ในราชอาณาจักรไทยก็ได้, หนังสือรับรองจากหน่วยงานหรือสถาบันให้บริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก หรือการอนุญาโตตุลาการ หากมีสัญญาจ้างหรือสัญญาบริการที่ได้ทำขึ้นระหว่างอนุญาโตตุลาการกับคู่พิพาทก็ต้องแนบมาเพื่อประกอบการพิจารณาด้วยหากเข้ามาเป็นอนุญาโตตุลาการ ก็ต้องมีคำสั่งแต่งตั้ง ประสบการณ์การทำงาน เอกสารหลักฐานทางการศึกษา เป็นต้น
อย่างไรก็ดี หากมีกรณีที่ไม่มีการทำสัญญา อาจใช้หนังสือรับรองจากทางสถาบันหรือหน่วยงานที่ให้บริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือกทดแทนก็ได้ แต่ในรายละเอียดของหนังสือรับรองอาจจะต้องมีความครอบคลุมด้วย เช่น เรื่องของระยะเวลาที่จะเข้ามาปฏิบัติงาน, ข้อตกลงเรื่องค่าตอบแทน เป็นต้น
หมายเหตุ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการยื่นคำขอ Smart visa T โดยการเป็นผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงด้านอนุญาโตตุลาการมาก่อน จึงต้องศึกษาจากแบบคำขอจริง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ที่แน่นอนต่อไป
กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
หลังจากที่ได้รับหนังสืออนุมัติจาก BOI แล้ว จะใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 3-5 วันทำการ เจ้าหน้าที่สถานกงสุลไทยหรือสถานทูตไทยในต่างประเทศจะแปะสติกเกอร์ที่ต้องแปะในหนังสือเดินทาง อย่างไรก็ดี ในขณะนี้กำลังมีความพยายามอำนวยความสะดวกให้โดยการลดทอนขั้นตอนการแปะสติกเกอร์ลง
สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
ค่อนข้างเป็นหน่วยงานปลายทางของมาตรการ Smart visa แล้ว ซึ่งการดำเนินการของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มี 2 ขั้นตอน คือ
- (1) การตรวจลงตรา : ภายหลังจากที่ได้รับการอนุมัติให้ได้รับ Smart visa จาก BOI แล้ว สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองก็มีหน้าที่ต้องตรวจลงตราลงในหนังสือเดินทางให้บุคคลดังกล่าวอยู่ในราชอาณาจักรไทยได้ภายในระยะเวลาที่ BOI อนุมัติ
ด้านทางปฏิบัติ ผู้ยื่นคำขอต้องแสดงแบบ ตม. 90 (คำขอสำหรับ Smart visa โดยเฉพาะ) , แบบรับทราบเงื่อนไข สตง.6 เพื่อให้บุคคลดังกล่าวได้รับทราบว่าการได้รับอนุญาตให้เข้ามานั้นเป็นไปตามเงื่อนไขของ Smart visa, แบบการรับแจ้งที่พักอาศัย ซี่งในกรณีของ Smart visa จะเป็นแบบ ตม.91 เนื่องจากในกรณีนี้ผู้ที่ได้รับ Smart visa จะได้รับการผ่อนปรนไม่ต้องมารายงานตัวทุก 90 วัน แต่ให้รายงานตัวทุก 1 ปี
- (2) การขยายระยะเวลาการอยู่ในราชอาณาจักรไทย : หากกรณีที่ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตนั้น ไม่เพียงพอ ก็สามารถขยายเวลาการอยู่ต่อได้ ซึ่งกระบวนการก็จะกลับไปอยู่ภายใต้การพิจารณาของ BOI อีกครั้งหนึ่งว่าเป็นบุคคลผู้สมควรมีสิทธิได้อยู่ต่อหรือไม่
สำหรับกรณีผู้ยื่นคำขอได้รับ Smart visa เมื่ออยู่นอกราชอาณาจักร หากเข้ามาในราชอาณาจักรไทยแล้ว มีสิทธิใช้ priority lane ได้ที่สนามบินซึ่งมีช่องทางให้บริการ โดยบุคคลนั้นจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยตามระยะเวลาที่สถานกงสุลไทยหรือสถานทูตไทยหมายเหตุเอาไว้ใน Smart visa
กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
ผู้ที่ได้รับ Smart visa ได้รับยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางานอีก โดยสามารถทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรไทยได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน Smart visa
นอกจากคนต่างด้าวซึ่งได้รับ visa ประเภท Smart visa T แล้ว ได้กำหนดให้คู่สมรส รวมถึงบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีสิทธิเข้าทำงานในราชอาณาจักรได้โดยไม่ต้องรับใบอนุญาตทำงานด้วย แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่เป็นงานต้องห้ามตามกฎหมายสำหรับคนต่างด้าว
สิทธิประโยชน์ของ Smart Visa
หากกล่าวโดยสรุปคือ ผู้ได้รับ Smart visa สามารถใช้เอกสารดังกล่าวแทนใบอนุญาตทำงานได้ในคราวเดียวเลย และยังมีสิทธิประโยชน์ไปถึงผู้ติดตาม ไม่ว่าจะเป็นคู่สมรสรวมทั้งบุตรโดยชอบ ด้วยกฎหมายให้สามารถพำนักอยู่และสามารถทำงานในราชอาณาจักรได้ (กรณีการทำงานบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่เป็นงานต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวเท่านั้น และอยู่ภายใต้ระยะเวลาเท่ากับผู้ยื่นคำขอที่ได้รับสิทธิหลัก
การรายงานตัวจากเดิมที่รายงานตัวทุก 90 วัน ก็ขยายระยะเวลาเป็นรายงานตัวทุก 1 ปี
สามารถเดินทางเข้าออกในราชอาณาจักรได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง (re-entry)
นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ช่องทาง priority lane ได้ในท่าอากาศยานที่มีช่องทางดังกล่าวให้บริการได้อีกด้วย
2. ใบอนุญาตทำงานกรณีธรรมดา (มาตรา 59)
พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2561 มีความพิเศษคือ จากเดิมคนต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานต้องทำงานในอาชีพตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตทำงานเท่านั้น ถ้าจะเปลี่ยนอาชีพ จะต้องมาขออนุญาตจากกรมการจัดหางานใหม่ แต่มาตรา 59 วรรคท้าย ของพระราชกำหนดที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่นี้ ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตทำงานโดยชอบแล้วมีสิทธิทำงานที่มิได้มีประกาศห้ามคนต่างด้าวทำได้ทุกชนิดงาน ซึ่งหมายความว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงงาน หรือมีการทำงานใดเพิ่มเติมนั้น ก็ไม่ต้องมาแจ้งขออนุญาตที่กรมการจัดหางานอีก
สำหรับการทำงานของอนุญาโตตุลาการนั้น ไม่ได้อยู่ภายในขอบเขตงานห้ามตามกฎหมายเช่นกัน ดังนั้น หากกรณีที่คนต่างด้าวมีใบอนุญาตทำงานตามมาตรา 59 อยู่แล้ว มีความประสงค์จะดำเนินการเป็นอนุญาโตตุลาการเพิ่มเติม ก็ไม่มีความจำเป็นต้องขอใบอนุญาตทำงานตามมาตรา 62 อีก แต่สามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติเลย อย่างไรก็ดี ใบอนุญาตทำงานกรณีนี้จะมีระยะเวลาจำกัด กล่าวคือ จะให้อนุญาตเท่าระยะเวลาที่ยื่นคำขอแต่ไม่เกิน 2 ปี
ขั้นตอนการยื่นขอเอกสาร
ต้องมีการเตรียมเอกสารมากกว่ากรณีพิเศษ ซึ่งโดยรายละเอียดแล้ว จะแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี คือ
- (1) หากมีหนังสือรับรองจากหน่วยงาน/สถาบันอนุญาโตตุลาการในไทย (ใช้ช่องทางตามมาตรา 59 ได้เช่นกัน) จะต้องแนบเอกสารหนังสือรับรองซึ่งระบุตัวบุคคลที่คู่พิพาทแต่งตั้งขึ้นเป็นอนุญาโตตุลาการ หมายเลขข้อพิพาท/หมายเลขคดี ชื่อคู่กรณี ระยะเวลาแล้วเสร็จ, เอกสารคดีหมายเลขข้อพิพาท (เฉพาะใบหน้า) รวมทั้ง เอกสารของคู่กรณี เช่น หนังสือยินยอมจากคู่กรณี เอกสารยืนยันตัวตน หนังสือรับรองของนิติบุคคล เป็นต้น
หมายเหตุ ถ้ามีหนังสือรับรองจากหน่วยงาน ไม่ต้องยื่นใบรับรองแพทย์เพิ่มเติม
- (2) กรณีที่ไม่มีหนังสือรับรองจากหน่วยงาน หรือสถาบันอนุญาโตตุลาการในไทย จะต้องแนบเอกสาร เช่น หนังสือแต่งตั้งจากสำนักเลขานุการศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ระบุตัวบุคคลที่คู่พิพาทแต่งตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการ หมายเลขข้อพิพาท/หมายเลขคดี หนังสือยินยอมจากคู่กรณี/คู่พิพาท เอกสารยืนยันตัวตน หนังสือรับรองจากนิติบุคคล หนังสือเดินทางพร้อมสำเนาโดยได้รับวีซ่าประเภท Non immigrant B หนังสือรับรองการจ้าง ใบรับรองแพทย์ซึ่งออกโดยสถานพยาบาลในประเทศไทย รวมทั้งหนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่ไม่ได้มายื่นด้วยตนเอง)
ระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินการ
หากเป็นกรณีที่ยื่นคำขอ ณ สำนักบริหารแรงงานต่างด้าวกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จประมาณ 2 วันทำการ
สิทธิประโยชน์
สามารถทำงานได้ทุกประเภทเท่าที่ไม่ใช่งานห้ามสำหรับคนต่างด้าว ไม่ได้จำกัดเฉพาะอาชีพตามที่ปรากฏ ในหน้าหนังสือใบอนุญาตทำงานเท่านั้น
เหมาะสำหรับผู้ที่คาดหมายว่าจะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ยาวนาน โดยที่อาจจะประกอบอาชีพอื่นนอกเหนือจากอนุญาโตตุลาการด้วย
ข้อจำกัด
อาจใช้ระยะเวลาในการดำเนินการและต้องจัดเตรียมเอกสารยาวนานกว่ากรณีพิเศษ
3. ใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายอื่น (มาตรา 62)
กฎหมายอนุญาโตตุลาการเทียบเคียงได้กับกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายพลังงาน ซึ่งการยื่นขอออกใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายอื่นนี้จะมีความแตกต่างจากกรณีธรรมดากล่าวคือ ในแง่ของระยะเวลาในใบอนุญาตทำงาน จะไม่มีกำหนดระยะเวลาชัดเจน แต่ให้เป็นไปตามที่หน่วยงานหรือสถาบันกำหนดเอาไว้ ซึ่งจะเป็นการตัดดุลยพินิจของกรมการจัดหางานเรื่องเกี่ยวกับระยะเวลาของใบอนุญาตทำงานออกไป โดยคงเหลือไว้เฉพาะการพิจารณาว่าเป็นงานที่ต้องห้ามมิให้คนต่างด้าวทำหรือไม่ เท่านั้น
ระยะเวลาในการพิจารณาจะน้อยลง หากเป็นการไปติดต่อที่ศูนย์บริการที่จามจุรีสแควร์ จะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้ยื่นเอกสาร แต่หากยื่นที่สำนักจัดหางานจังหวัด จะใช้เวลาประมาณ 1-2 วันทำการ
ข้อดีอีกประการหนึ่งคือ ภายหลังจากที่ได้รับหนังสือรับรองแล้ว พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 กำหนดว่า คนต่างด้าวสามารถปฏิบัติงานไปพลางก่อนได้ในระหว่างที่ขอออกใบอนุญาตทำงาน อย่างไรก็ดี หน่วยงานหรือสถาบันที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการเองก็จะมีภาระหน้าที่เพิ่มขึ้นในการแจ้งผลการออกหนังสือรับรองให้แก่อธิบดีกรมการจัดหางานทราบ ในส่วนนี้จะตัดบทบาทและอำนาจหน้าที่ของนายจ้างหรือผู้ว่าจ้างที่ต้องแจ้งการเข้าเริ่มงานออกไป
แต่มีข้อควรระวัง คือ การทำงานจะจำกัดขอบเขตเฉพาะที่กำหนดในหนังสือรับรอง คือเป็นอนุญาโตตุลาการ หรือผู้รับมอบอำนาจจากคู่พิพาท อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น หากมีการทำงานนอกเหนือจากนี้ จะเข้าลักษณะทำงานนอกเหนือจากสิทธิ หรือเกินสิทธิที่จะทำได้ ซึ่งคนต่างด้าวเองมีความเสี่ยงที่ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 50,000 บาท เมื่อชำระค่าปรับแล้ว จะต้องส่ง คนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักรในทันที และอาจต้องห้ามไม่ให้กลับเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรไทยได้อีกอย่างน้อย 3 ปี
ขั้นตอนการดำเนินการ
ผู้ยื่นคำขอ ภายหลังจากที่ได้รับหนังสือรับรองจากหน่วยงานหรือสถาบันที่ให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการแล้ว จะต้องดำเนินการติดต่อทางสถานกงสุลหรือสถานทูตไทยเพื่อขอรับ Non immigrant B visa และขอใบอนุญาตทำงาน ตามลำดับ
เอกสารที่ต้องจัดเตรียม
จะลดทอนจำนวนเอกสารที่ต้องยื่นตามหลักการปกติ กล่าวคือ ไม่ต้องยื่นใบรับรองแพทย์ หนังสือยินยอมจากคู่กรณีหรือคู่พิพาท เอกสารยืนยันตัวตนจากนิติบุคคล รวมถึงหนังสือรับรองการจ้างงานจากนิติบุคคล
สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
ผู้ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ 90 วัน หากสามารถระงับข้อพิพาทได้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างใดต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอีก แต่ถ้าไม่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 90 วัน ต้องมายื่นเรื่องต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อขอขยายระยะเวลาการอยู่ต่อในราชอาณาจักร
อย่างไรก็ดี กรณีของการอนุญาโตตุลาการไม่ได้มีการกำหนดเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเอาไว้อย่างชัดเจนในระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 327/2557 เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งมีการกำหนดขึ้นมา จึงถือเป็นกรณีตามข้อ 5 ของระเบียบดังกล่าว ซึ่งเป็นดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในการพิจารณาว่า คนต่างด้าวนั้นมีความจำเป็นต้องอยู่ต่อในราชอาณาจักรหรือไม่ และนำเสนอต่อผู้บังคับบัญชาเป็น รายกรณีไป สำหรับเอกสาร เนื่องจากไม่มีได้มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเอาไว้ แต่หากเทียบเคียงกับกรณีทั่วไป ก็จะต้องเตรียมสำเนาหนังสือเดินทาง หนังสือรับรองของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำเนาใบอนุญาตทำงาน ซึ่งโดยทั่วไปก็จะอนุญาตให้ตามที่ร้องขอ โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี
ตารางเปรียบเทียบ Smart visa และใบอนุญาตทำงาน
ดาวน์โหลดบทความ : Download