ศาลมีอำนาจในการเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในต่างประเทศได้หรือไม่?
การอนุญาโตตุลาการ หรือ Arbitration ถือเป็นกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายสำหรับข้อพิพาททางพาณิชย์หรือทางธุรกิจระหว่างประเทศ เนื่องด้วยมีอนุสัญญาที่กำหนดกลไกการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ คือ Convention on the recognition and enforcement of foreign arbitral awards (1958) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปในนาม “อนุสัญญานิวยอร์ก” กล่าวคือ คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการสามารถนำไปยื่นบังคับในประเทศที่เป็นสมาชิกของอนุสัญญาฉบับดังกล่าวได้ ซึ่งปัจจุบันมีประเทศสมาชิกจำนวนถึง 161 ประเทศ และครอบคลุมประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจต่างๆ อย่างครบถ้วน
อย่างไรก็ดี อนุสัญญาดังกล่าวไม่ได้หมายความว่า หากมีคำชี้ขาดแล้ว ประเทศสมาชิกจะต้องบังคับตามให้ในทุกกรณี แต่หากเมื่อปรากฏความบกพร่องในทางกฎหมายต่างๆ แล้ว คำชี้ขาดนั้นก็มีโอกาสที่จะถูกเพิกถอนหรือปฏิเสธไม่บังคับตามก็ได้
ทั้งนี้ เพื่อให้การเพิกถอนและปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดนี้มีความแน่นอนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อนุสัญญานิวยอร์กจึงได้วางหลักเกณฑ์เรื่องการเพิกถอนและปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดหากมีความบกพร่องในทางกฎหมายด้วย โดยเหตุดังกล่าวนี้จำแนกออกเป็น 2 ส่วน คือ เรื่องที่ผู้ถูกบังคับตามคำชี้ขาดมีภาระในการพิสูจน์ให้ศาลเห็น (เช่น เหตุบกพร่องเรื่องความสามารถ, สัญญาอนุญาโตตุลาการไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายภายในแห่งประเทศที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ให้ใช้, ไม่มีการแจ้งล่วงหน้าเรื่องการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการหรือการพิจารณาคดีของอนุญาโตตุลาการ เป็นต้น ) และเรื่องที่ศาลสามารถยกขึ้นพิจารณาได้เอง (ได้แก่ เรื่องข้อพิพาทไม่สามารถระงับได้โดยการอนุญาโตตุลาการตามกฎหมาย และ ถ้าบังคับแล้วจะเป็นการขัดหรือแย้งต่อประโยชน์สาธารณะ) ซึ่งกรณีที่คำชี้ขาดนั้นถูกเพิกถอนโดยองค์กรที่มีอำนาจในประเทศ หรือภายใต้กฎหมายของประเทศที่คำชี้ขาดนั้นได้ทำขึ้น ก็ถือเป็นเหตุให้คำชี้ขาดถูกปฏิเสธไม่บังคับตามได้เช่นกัน โดยอยู่ในหมวดที่คู่สัญญาซึ่งถูกบังคับตามชี้ขาดมีภาระในการพิสูจน์ [1]
ประเทศไทยเองก็เป็นสมาชิกของอนุสัญญานิวยอร์กเช่นกัน โดยลงนามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 แต่มีกฎหมายที่อนุวัติการและกำหนดหลักการเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2530 ผ่านทางพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 โดยที่กฎหมายนี้มีข้อบกพร่องคือไม่ได้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ การเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเอาไว้เหมือนดังกฎหมายต้นแบบของ United Nations Commission on International Trade Law หรือ UNCITRAL ต่อมาจึงได้มีการยกร่างกฎหมายอนุญาโตตุลาการฉบับใหม่ขึ้น และแก้ไขบทบัญญัติหลายประการเพื่อให้สอดคล้องกับ UNCITRAL Model law on International Commercial Arbitration (1985) ซึ่งหลักเกณฑ์ประการหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาในพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 นี้ ก็มีเรื่องหลักเกณฑ์การเพิกถอนและปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศด้วย โดยปรากฏอยู่ในมาตรา 43 (6) ซึ่งบัญญัติว่า
“ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ไม่ว่าคำชี้ขาดนั้นจะได้ทำขึ้นในประเทศใด ถ้าผู้ซึ่งจะถูกบังคับตามคำชี้ขาดพิสูจน์ได้ว่า…..(6) คำชี้ขาดยังไม่มีผลผูกพัน หรือได้ถูกเพิกถอน หรือระงับใช้เสียโดยศาลที่มีเขตอำนาจ หรือภายใต้กฎหมายของประเทศที่ทำคำชี้ขาด…”
นอกจากนี้ยังปรากฏในมาตรา 40 วรรคแรก เรื่องการเพิกถอนคำชี้ขาด โดยบัญญัติว่า
“การคัดค้านคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการอาจทำได้โดยการขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ … ”
บทบัญญัติมาตราดังกล่าวข้างต้นเป็นบทมาตราที่ล้อไปกับ Article 5 (1) (e) ของ New York Convention แต่จุดที่ทำให้เกิดปัญหาด้านการตีความคือคำว่า “ศาลที่มีเขตอำนาจ” ซึ่งในอนุสัญญาใช้คำว่า “a competent authority of the country in which that award was made” ซึ่งถ้าแปลตามตัวน่าจะหมายความว่า “องค์กรที่มีอำนาจของประเทศที่ได้ทำคำชี้ขาด” มากกว่า และในทางระหว่างประเทศเองก็ยอมรับในหลักการว่า องค์กรที่มีอำนาจของประเทศที่ทำคำชี้ขาดเท่านั้น จึงจะสามารถเพิกถอนคำชี้ขาดได้
การใช้ถ้อยคำว่า “ศาลที่มีเขตอำนาจ” ในมาตราดังกล่าวนี้เอง ทำให้ที่ผ่านมามีปัญหาด้านการตีความ คำว่า “ศาลที่มีเขตอำนาจ” ซ้อนทับกับเขตอำนาจของศาลตามมาตรา 9 [2] ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ทำให้เข้าใจไปได้ว่า ศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้สามารถเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศได้เช่นกัน ดังจะเห็นได้จากแนวคำพิพากษาทั้งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง (ต่อไปในบทความนี้จะเรียกว่า “ศาลทรัพย์สินฯ”) รวมทั้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินฯ และศาลฎีกาที่ยังแตกออกเป็น 2 แนวความเห็น
ฝ่ายแรก เห็นว่า ศาลที่มีเขตอำนาจตามมาตรา 9 มีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดต่างประเทศ โดยปรากฏใน คดี กค. 151-152/2550 [3] กรณีเป็นเรื่องการผิดสัญญาซื้อขาย โดยผู้ร้องไม่ยอมเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตทำให้ผู้คัดค้านในคดีนี้ได้รับความเสียหาย ผู้คัดค้านจึงเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ณ ประเทศอังกฤษตามที่ได้ระบุไว้ในสัญญา และคณะอนุญาโตตุลาการก็ได้มีคำชี้ขาดให้ผู้ร้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้คัดค้าน ผู้ร้องจึงได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาซื้อขายระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านยังไม่เกิดขึ้น เมื่อสัญญาซื้อขายซึ่งเป็นสัญญาหลักยังไม่เกิดขึ้น ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายจึงไม่มีผลผูกพันผู้ร้องและผู้คัดค้านด้วย อันเป็นเหตุที่ให้อำนาจศาลเพิกถอนคำชี้ขาดและปฏิเสธไม่รับบังคับคำชี้ขาดได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 40 (1) (ข) และมาตรา 43 (2) คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาในประเด็นว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยออกมาเป็นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5511-5512/2552 เห็นว่า พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 40 บัญญัติว่า “การคัดค้านคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการอาจทำได้โดยการขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้” ดังนั้น แม้คำชี้ขาดกรณีนี้จะได้ทำขึ้นโดยคณะอนุญาโตตุลาการต่างประเทศที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ศาลในประเทศไทยที่มีเขตอำนาจพิจารณาปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดหรือเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวได้
คดี กค.119/2557 กรณีเป็นเรื่องคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ได้ทำขึ้น ณ ประเทศอังกฤษ และผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวต่อศาลทรัพย์สินฯ ซึ่งศาลทรัพย์สินฯ พิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่า กระบวนการอนุญาโตตุลาการไม่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2545 มาตรา 25 อันเป็นเหตุให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้ [4]
ฝ่ายที่สอง เห็นว่า ศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฉบับนี้ไม่มีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดที่ได้ทำขึ้นในต่างประเทศ โดยปรากฏในคำพิพากษาคดี กค.80-81/2553 [5] กรณีเป็นเรื่องการทำคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการที่ได้ทำขึ้นในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งผู้ร้องในคดีนี้เป็นฝ่ายแพ้ตามคำชี้ขาดและต้องชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาซื้อขายให้แก่ผู้คัดค้าน จึงได้ยื่นคำร้องเป็นคดีนี้เพื่อขอให้ศาลทรัพย์สินฯ เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว ซึ่งภายหลังศาลทรัพย์สินฯ พิพากษาไม่เพิกถอนคำชี้ขาด โดยได้อธิบายเพิ่มเติมว่ามาตรา 40 กำหนดเหตุแห่งการเพิกถอนคำชี้ขาดไว้เหมือนกับเหตุแห่งการปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดตามมาตรา 43 และ 44 แต่กฎหมายได้แยกบทบัญญัติดังกล่าวออกจากกันเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของ New York Convention Article 5 (1) (e) ที่บัญญัติให้ศาลปฏิเสธการบังคับคำชี้ขาดที่ถูกเพิกถอนในประเทศที่ทำคำชี้ขาด และภายหลังศาลฎีกาได้ พิพากษายืน โดยปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13535-13536/2556 กล่าวคือศาลทรัพย์สินฯ ไม่มีอำนาจ เพิกถอนคำชี้ขาดต่างประเทศนั่นเอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8539/2560 ซึ่งเห็นว่า ไม่ว่าจะพิจารณาจากความหมายในข้อความตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตราต่าง ๆ หรือความสอดคล้องของบทกฎหมายต่าง ๆ ดังกล่าวกับอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศหรืออนุสัญญานิวยอร์ก ตามพันธกรณีที่ประเทศยอมรับ ล้วนแต่เป็นกรณีที่จะต้องถือว่าศาลไทยมีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น ศาลไทยไม่มีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอน คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศ ดังนั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการสมาคมฝ้ายนานาชาติจำกัด เมืองลิเวอร์พูล ประเทศสหราชอาณาจักร อันเป็นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศแต่อย่างใด
จึงยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อไปในอนาคตว่า ศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการนั้น จะมีแนวความเห็นที่แน่นอนในประเด็นเรื่องอำนาจของศาลในการเพิกถอนคำชี้ขาดของต่างประเทศอย่างไร และจะมีการปรับเปลี่ยนแนวความเห็นให้สอดคล้องกับแนวทางของนานาประเทศได้มากขึ้นหรือไม่
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า หากพิจารณาให้ดีแล้ว Article 5 (1) (e) ของ New York Convention กำหนดเหตุแห่งการปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดว่าต้องเป็นกรณีที่คำชี้ขาดนั้นถูกเพิกถอนโดยองค์กรที่มีอำนาจของประเทศที่ได้ทำคำชี้ขาดเท่านั้น นั่นหมายความว่า แม้ศาลไทยจะเพิกถอนคำชี้ขาดที่ทำขึ้นในต่างประเทศก็ตาม ก็ไม่ผูกพันให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ต้องปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดนั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
- [1] New York Convention Article 5
- (1) Recognition and enforcement of the award may be refused, at the request of the party against whom it is invoked, only if that party furnishes to the competent authority where the recognition and enforcement is sought, proof that:
- (e) The award has not yet become binding on the parties, or has been set aside or suspended by a competent authority of the country in which, or under the law of which, that award was made.
- [2] มาตรา 9 พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 บัญญัติว่า “ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรือศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค หรือศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการนั้น เป็นศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้”
- [3] ธวัชชัย สุวรรณพานิช, คำอธิบาย พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545, (สำนักพิพม์นิติธรรม : กรุงเทพฯ 2558), น.322
- [4] คดีนี้ ผู้พิพากษาสมทบซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อยได้แสดงความเห็นแย้งเอาไว้ ว่าศาลไม่มีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดที่ทำในต่างประเทศได้
- [5] อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 3, น.323