ข้อเท็จจริงที่ต้องเปิดเผย: เหตุที่อาจนำไปสู่การคัดค้านอนุญาโตตุลาการ
บทบาทของอนุญาโตตุลาการ คือ การพิจารณาและชี้ขาดตัดสินข้อพิพาทหรือเรียกว่า อำนาจกึ่งตุลาการ ซึ่งมีหลักสำคัญ คือ ความเป็นกลางและความเป็นอิสระ ไม่ขึ้นอยู่กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
ดังนั้นเพื่อรักษาความเป็นกลางและเป็นอิสระให้เกิดขึ้นได้จริง สถาบันอนุญาโตตุลาการจึงได้กำหนดให้บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น อนุญาโตตุลาการ ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงที่อาจมีผลต่อความเป็นกลางและความเป็นอิสระ ซึ่งต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตลอดการทำหน้าที่พิจารณาคดี
อะไรคือข้อเท็จจริงที่ควรเปิดเผย?
ข้อเท็จจริงอันอาจส่งผลกระทบต่อความสงสัยในความเป็นกลางและเป็นอิสระที่อนุญาโตตุลาการต้องเปิดเผย ได้แก่
1. การเทียบเคียงกับการคัดค้านผู้พิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ซึ่งได้ยกเลิกไปแล้วโดยพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ได้บัญญัติเอาไว้ในมาตรา 14 วรรค 3 ว่า “เหตุแห่งการคัดค้านตามวรรคสองได้แก่เหตุที่จะคัดค้านผู้พิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือเหตุประการอื่นอันมีสภาพร้ายแรงซึ่งอาจทำให้การพิจารณาหรือชี้ขาดข้อพิพาทเสียความยุติธรรมไป” หมายความว่า อนุญาโตตุลาการต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุร้ายแรงซึ่งอาจทำให้การพิจารณาหรือชี้ขาดข้อพิพาทเสียความยุติธรรม ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ทำเป็นสาเหตุสำคัญในการทำให้การตัดสินใจเอนเอียง ไม่เป็นกลาง ประกอบด้วย กรณีที่ผู้พิพากษาหรือญาติใกล้ชิดมีส่วนได้-เสียกับคดีนั้นโดยตรง, เคยเป็นทนายความของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง, เคยเป็นผู้พิพากษาพิจารณาคดีเดียวกันในศาลอื่น, มีอีกคดีหนึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณา, เป็นข้อพิพาทของญาติใกล้ชิด เป็นต้น สาเหตุเหล่านี้ถือว่าร้ายแรง อาจส่งผลต่อการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ซึ่งนอกจากเหตุข้างต้นแล้ว คู่ความอาจคัดค้านผู้พิพากษาได้หากปรากฎเหตุร้ายแรงอื่น ๆ ที่ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีเสียความยุติธรรมไปได้
2. International Bar Association (IBA) Guidelines on conflicts of interest in international arbitration
ผลประโยชน์ทับซ้อนหรือการขัดกันของผลประโยชน์ในคดี (Conflict of Interest) ถือเป็นปัญหาที่สามารถส่งผลกระทบต่อคู่พิพาทและกระบวนการอนุญาโตตุลาการได้ ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นข้อสงสัยถึงความเป็นกลางและความเป็นอิสระที่อนุญาโตตุลาการต้องเปิดเผย
เนื่องจากเล็งเห็นว่าในคดีอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ประเด็นเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ถือเป็นเหตุที่คู่พิพาทอ้างเพื่อคัดค้านอนุญาโตตุลาการมากขึ้น International Bar Association หรือ IBA องค์กรวิชาชีพทางกฎหมายระดับโลก จึงได้จัดทำ IBA Guidelines on conflicts of interest in international arbitration ขึ้นแนวทางฉบับนี้ วางหลักการไว้ว่า อนุญาโตตุลาการทุกคนต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางและเป็นอิสระนับตั้งแต่เวลาที่ได้รับการแต่งตั้งจนกระทั่งได้กระบวนการพิจารณาคดีสิ้นสุดลง, กำหนดให้อนุญาโตตุลาการต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงอันเป็นข้อสงสัยถึงความเป็นกลางและความเป็นอิสระของตนเอง, และหากพบว่าตนเองมีข้อสงสัยที่อาจกระทบกับความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระ อนุญาโตตุลาการต้องไม่รับดำเนินการหรือปฏิเสธไม่ดำเนินการต่อในคดีนั้น ๆ
ซึ่งข้อสงสัยอันมีผลต่อการคัดค้านอนุญาโตตุลาการตามแนวทางฉบับนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ตามความรุนแรงที่อาจกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการ ได้แก่
- (1) Non – Waivable red list
ข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญที่หากพบว่าเกิดขึ้นอนุญาโตตุลาการต้องปฏิเสธไม่รับปฏิบัติหน้าที่ เพราะมีผลโดยตรงต่อการตัดสินใจ ซึ่งประกอบด้วย กรณีที่อนุญาโตตุลาการได้รับผลประโยชน์ในคดีโดยตรง โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางการเงิน เช่นอนุญาโตตุลาการมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลกิจการของคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง, อนุญาโตตุลาการได้ให้คำปรึกษาแก่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือบริษัทในเครือของคู่พิพาทฝ่ายนั้นอยู่ประจำ, หรืออนุญาโตตุลาการได้รับเงินจากคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างมีนัยสำคัญ - (2) Waivable red list
เป็นเหตุสำคัญแต่อนุโลมได้ ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อคู่พิพาททราบข้อเท็จจริงนั้นแล้วจะยอมให้บุคคลดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการหรือไม่ หากคู่พิพาทยิมยอม บุคคลดังกล่าวก็สามารถรับเป็นอนุญาโตตุลาการได้ ซึ่งสาเหตุนั้น ได้แก่ กรณีที่อนุญาโตตุลาและญาติใกล้ชิดมีความเกี่ยวข้องกับคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เช่น เคยให้คำแนะนำทางกฎหมาย, ถือหุ้นในบริษัทของคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดี, เป็นนักกฎหมายอยู่ในสำนักกฎหมายเดียวกันกับที่ปรึกษากฎหมายของคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง, สมาชิกครอบครัวได้รับผลประโยชน์ทางการเงินจากผลลัพธ์ของคดีนั้น, สำนักกฎหมายที่สังกัดอยู่มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง, ให้คำปรึกษาแก่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นประจำ เป็นต้น - (3) Orange list
เป็นข้อควรสงสัยที่ไม่ร้ายแรงเท่าสองกรณีแรก หากเปิดเผยแล้ว บุคคลดังกล่าวยังสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการในคดีนั้นได้ หากคู่พิพาทยินยอมหรือไม่ได้โต้แย้งภายใน 30 วัน นับตั้งแต่รับทราบถึงข้อเท็จจริง เช่น กรณีที่อนุญาโตตุลาการเคยเกี่ยวข้องกับคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นเวลานานมาแล้วหรือมีความสัมพันธ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี ได้แก่ ภายใน 3 ปีอนุญาโตตุลาการเคยเป็นที่ปรึกษากฎหมายแก่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือเคยเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้แก่ฝ่ายตรงข้ามในเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดี, นักกฎหมายในสำนักกฎหมายของอนุญาโตตุลาการเป็นอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทอื่นซึ่งมีคู่พิพาทเดียวกันกับคดีนี้, สมาชิกครอบครัวที่ใกล้ชิดเป็นหุ้นส่วนหรือพนักงานในสำนักกฎหมายตัวแทนของคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นต้น - (4) Green List
สำหรับข้อนี้ หากอนุญาโตตุลาการไม่เปิดเผยก็ไม่ถือว่าเป็นเหตุให้สงสัยในกระบวนการยุติธรรม เช่น อนุญาโตตุลาการเคยแสดงความคิดเห็นทางกฎหมาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นพิพาทในคดี แต่ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจง, อนุญาโตตุลาการมีความสัมพันธ์ทางสังคมกับอนุญาโตตุลาการรายอื่นหรือที่ปรึกษากฎหมายของคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดี, อนุญาโตตุลาการสอนในคณะหรือโรงเรียนเดียวกันกับอนุญาโตตุลาการรายอื่นหรือที่ปรึกษากฎหมายของคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดี เป็นต้น
ถึงแม้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความไม่โปร่งใส แต่อย่างไรก็ดี เอกสารดังกล่าวคือแนวทางการปฏิบัติเท่านั้น ไม่ได้มีผลผูกพันทางกฎหมายแต่อย่างใด
3. แนวคำพิพากษาของศาลไทย
ศาลไทยได้รองรับหลักความเป็นกลางและเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่อนุญาโตตุลาการว่าเป็นคุณสมบัติ ที่สำคัญเช่นกัน โดยปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2231-2233/2553 ได้รับรองเอาไว้ว่า ความเป็นกลางและ ความเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่จะเป็นหลักประกันความยุติธรรมให้แก่คู่พิพาท หากอนุญาโตตุลาการปราศจากเสียซึ่งความเป็นกลางและเป็นอิสระแล้ว คู่พิพาทก็จะไม่ได้รับความเป็นธรรมและ กระบวนการอนุญาโตตุลาการก็จะไม่ได้รับการยอมรับ ตัวอย่างเช่น
- 3.1 กรณีอนุญาโตตุลาการโอนหุ้นให้แก่คู่พิพาท
คำพิพากษาฎีกาที่ 2231-2233/2553 ได้พิจารณาว่า แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะไม่ใช่ผู้ถือหุ้นที่แท้จริงของ ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 5 ซึ่งเป็นคู่พิพาทในคดีอนุญาโตตุลาการนี้ก็ตาม แต่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ลงชื่อโอนหุ้นให้แก่ ผู้ใต้บังคับบัญชาย่อมต้องรู้อยู่ก่อนแล้วว่าหุ้นของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 5 ออกในนามของตนเอง แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะ เห็นว่าตนไม่มีส่วนได้เสียในการซื้อหุ้นของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 5 แต่ผู้คัดค้านที่ 1 ก็มีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริง ดังกล่าวซึ่งเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระของตนให้คู่พิพาททราบ การที่ผู้คัดค้าน ไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นการขัดต่อหน้าที่ของอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 19 พระราชบัญญัติ อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่อาจทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการรวมทั้งเป็นประธาน อนุญาโตตุลาการได้ - 3.2 กรณีเคยเป็นทนายความและว่าความในชั้นศาลเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในเหตุการณ์เดียวกันกับ ข้อพิพาทในคดีนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 3542/2561 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ส. ประธานคณะอนุญาโตตุลาการเคยเป็น ทนายความของ ฟ. ซึ่งประกอบธุรกิจประกันภัย และรับประกันภัยความเสียหายทรัพย์สินในเหตุการณ์ดียวกันกับ คดีนี้ โดย ส. เป็นทนายความจำเลยในคดีดังกล่าว ให้การต่อสู้คดีในทำนองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการก่อความ ไม่สงบของประชาชนที่ลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลและเป็นการก่อการร้าย เข้าข้อยกเว้นความคุ้มครองตามกรมธรรม์ ซึ่งมีผลให้บริษัทประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต่อมา ส. ได้มาเป็นประธาน คณะอนุญาโตตุลาการในคดีนี้ย่อมมีแนวความคิดเห็นทำนองเดียวกับคดีที่ตนเคยเป็นทนายความในคดีดังกล่าว ถือ ว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อความเป็นกลางและเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการหรือความสงสัยต่อความเป็นกลางหรือ ความเป็นอิสระ ซึ่งอนุญาโตตุลาการมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงตั้งแต่เข้าเป็นอนุญาโตตุลาการ ตลอดจน ตลอดเวลาที่ยังคงดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการด้วย การที่ ส. ไม่เปิดเผยถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมทำให้ผู้ร้อง ทั้งสิบสี่ไม่อาจทราบเพื่อที่จะได้มีโอกาสคัดค้านเสียตั้งแต่แรก นอกจากนี้การที่ ส. เป็นทนายความจำเลยในคดี ดังกล่าว แม้จำเลยในคดีดังกล่าวกับผู้คัดค้านในคดีนี้เป็นคนละบริษัทกัน แต่เหตุการณ์ที่ต้องพิจารณาในคดีดังกล่าว กับคดีนี้เป็นเหตุการณ์เดียวกัน ถือว่ามีผลประโยชน์ในทางคดีเกี่ยวข้องกัน ผู้คัดค้านย่อมคาดหวังว่า ส. น่าจะมี ความคิดเห็นไปในทำนองเดียวกับคดีดังกล่าวอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คัดค้าน การที่ ส. ไม่เปิดเผยถึงข้อเท็จจริง ดังที่กล่าวมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นกลางและเป็นอิสระ หรือเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือความ เป็นอิสระของตนตามมาตรา 19 จึงทำให้องค์ประกอบและกระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วย กฎหมายตามมาตรา 40 (1) (จ) ย่อมส่งผลให้การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบ เรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 40 (2) (ข) ศาลชอบที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดของ อนุญาโตตุลาการได้ตามมาตรา 40
การเปิดเผยข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุชวนสงสัยถึงความเป็นกลางและความเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการนั้นนับว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะอาจเป็นเหตุนำไปสู่การคัดค้านอนุญาโตตุลาการได้ ดังนั้นการกำหนดคร่าว ๆ ว่ามีกรณีใดอยู่ในขอบเขตที่ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงบ้าง ก็น่าจะเป็นผลดีที่จะทำให้อนุญาโตตุลาการรับทราบถึงหน้าที่ของตนอย่างชัดเจน เพื่อลดปัญหาการถูกคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ เพราะไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงที่ชวนสงสัยถึงความเป็นกลางและความเป็นอิสระ ซึ่งอาจกระทบกับกระบวนการพิจารณาคดีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งหมายความว่า คดีมีความไม่โปร่งใส ส่งผลต่อการเกิดความไม่ไว้ในในกระบวนการยุติธรรม