ทำความรู้จัก “ทรัพย์สินที่ซื้อขายกันได้” และ “ทรัพย์สินที่ซื้อขายไม่ได้” ก่อนผิดสัญญาซื้อขาย
ในการซื้อขายทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง ไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ตาม ส่วนมากล้วนต้องมีการทำสัญญาซื้อขาย เพื่อให้การซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์เป็นไปตามกฎหมาย ป้องกันการฉ้อโกงจากทั้งสองฝ่าย และหากมีการผิดสัญญา ฝ่ายที่เสียหายก็จะมีหลักฐานอ้างอิงชัดเจน แล้วสามารถดำเนินการฟ้องร้องคดีต่อศาลได้
ทั้งนี้นอกจากทรัพย์สินที่ซื้อขายกันได้แล้ว รู้หรือไม่ว่ามีประเภททรัพย์สินที่ซื้อขายไม่ได้อยู่ด้วย ซึ่งหากมีการซื้อขายกันจะถือเป็นการกระทำผิดทางกฎหมายนั่นเอง แล้วทรัพย์สินสองชนิดนี้ต่างกันอย่างไร มีทรัพย์สินอะไรบ้างที่เราไม่สามารถซื้อขายได้ มาหาคำตอบไปพร้อมกับ THAC ในบทความนี้
รู้จักประเภทของทรัพย์สิน
อันดับแรกก่อนจะพูดถึงทรัพย์สินที่ซื้อขายได้หรือไม่ได้ เรามาทำความรู้จักประเภทของทรัพย์สินกันก่อน โดยปกติแล้ว ทรัพย์สินจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ตามการเคลื่อนที่ได้ของทรัพย์สิน ดังนี้
1.สังหาริมทรัพย์
หมายถึง ทรัพย์ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เช่น รถยนต์ สมาร์ตโฟน เครื่องประดับ เงิน ทองคำ ฯลฯ โดยเจ้าของสังหาฯ ไม่จำเป็นต้องแสดงเอกสารยืนยันการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ใดๆ
2.อสังหาริมทรัพย์
หมายถึง ทรัพย์ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ได้แก่ ที่ดิน บ้าน อาคาร รวมถึงสิ่งปลูกสร้างภายในที่ดิน โดยเจ้าของจำเป็นต้องมีเอกสารยืนยันกรรมสิทธิ์อย่าง โฉนดที่ดิน ซึ่งทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งประเภททรัพย์สินตามการแยกออกจากกันได้ของทรัพย์สินอีกด้วย โดยแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
1.ทรัพย์แบ่งได้
คือ ทรัพย์สินที่สามารถแยกออกจากกันได้ โดยไม่เสียรูปลักษณะของทรัพย์สินเดิม และทรัพย์สินแต่ละส่วนที่แยกออกไปนั้นต้องได้รูปบริบูรณ์ในตัวเอง อาทิ ที่ดิน ซึ่งสามารถแยกออกเป็นแปลงย่อยๆ ได้หลายแปลง
2.ทรัพย์แบ่งไม่ได้
คือ ทรัพย์สินที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ โดยหากแบ่งออกจากกันแล้วจะทำให้เสียรูปลักษณะจนผิดไปจากเดิม หรือส่งผลต่อมูลค่าทรัพย์ เช่น รถยนต์ หากแยกล้อออกจากตัวรถ ก็จะไม่สามารถใช้งานรถได้ต่อไป
ทรัพย์สินที่ซื้อขายกันได้มีอะไรบ้าง?
ตามกฎหมาย ทรัพย์สินที่ซื้อขายกันได้จะเป็นทรัพย์สินอะไรก็ได้ที่นับเป็นทรัพย์ในพาณิชย์ ทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ที่มีหรือไม่มีรูปร่างก็ตาม เช่น ทองคำ ที่ดิน บ้านเรือน คอนโด อาคารพาณิชย์ รถยนต์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
โดยตามกฎหมายลักษณะซื้อขาย มาตรา ๔๕๓ ในการทำสัญญาซื้อขาย ผู้ขายจะต้องสามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อได้ทันทีที่เกิดสัญญาซื้อขาย ส่วนหากเป็นทรัพย์สินที่ยังไม่มีตัวตนหรือผู้ขายยังไม่มีกรรมสิทธิ์ที่จะโอนให้ผู้ซื้อ อาจต้องทำสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขเวลา หรือทำสัญญาจะซื้อจะขายแทนได้
ทรัพย์สินที่ซื้อขายไม่ได้มีอะไรบ้าง?
เมื่อกล่าวถึงทรัพย์สินที่ซื้อขายไม่ได้ นั่นคือ ทรัพย์นอกพาณิชย์ ซึ่งตาม ป.พ.พ มาตรา ๑๔๓ บัญญัติไว้ว่า “ทรัพย์นอกพาณิชย์ ได้แก่ ทรัพย์เช่นที่ไม่สามารถจะถือเอาได้ และทรัพย์ซึ่งไม่โอนให้กันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย” หรือก็คือทรัพย์สินที่ประชาชนไม่ได้ครอบครองตามกฎหมาย ซึ่งจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้ โดยทรัพย์สินที่ซื้อขายไม่ได้ 4 ประการ สามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
1.สาธารณสมบัติของแผ่นดิน (ตามมาตรา ๑๓๐๔)
สาธารณสมบัติของแผ่นดินนับเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ ซึ่งหมายถึง ทรัพย์ทุกชนิดของแผ่นดินที่ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น
- ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน
- ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เช่น ที่ชายตลิ่งทางน้ำ ทางหลวง และทะเลสาบ เป็นต้น
- ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เช่น ป้อมและโรงทหาร สำนักราชการบ้านเมือง เรือรบ และอาวุธยุทธภัณฑ์ เป็นต้น
โดย มาตรา ๑๓๐๕ ได้ระบุเอาไว้ว่า “ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา”
2.ทรัพย์สินที่ต้องห้ามซื้อขายตามกฎหมายเฉพาะ
เช่น วัดและที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ตาม ป.พ.พ มาตรา ๑๔๓ ซึ่งไม่สามารถโอนได้โดยชอบด้วยกฎหมาย รวมไปถึงทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งห้ามโอน เว้นแต่เพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต
3.ทรัพย์สินที่ต้องห้ามซื้อขายตามประมวลกฎหมายอาญา
คือ ทรัพย์สินที่ผู้ใดครอบครองหรือจำหน่ายโดยมีความผิดทางอาญา เช่น ทรัพย์ที่ถูกขโมยมา (ป.อาญามาตรา ๓๕๗) รูปภาพหรือสิ่งพิมพ์อันลามก (ป.อาญามาตรา ๒๘๗) เป็นต้น
4.สิทธิซึ่งกฎหมายห้ามจำหน่ายโอน
เช่น สิทธิบำเหน็จบำนาญ สิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู สิทธิในการสืบมรดกในภายหน้า สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน เป็นต้น
นอกจาก ทรัพย์สินที่ซื้อขายไม่ได้ทั้ง 4 ประเภทที่กล่าวไปข้างต้น ยังมีทรัพย์สินที่มีข้อกำหนดห้ามโอน ตามมาตรา ๑๗๐๐ ถึงมาตรา ๑๗๐๒ โดยเป็นข้อกำหนดที่ผู้ขายทรัพย์สินนั้นๆ ตั้งขึ้นภายใต้กฎหมาย ซึ่งมาตรา ๑๗๐๐ วรรคแรก บัญญัติเอาไว้ว่า “ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในหมวดนี้ บุคคลจะจำหน่ายทรัพย์สินใดๆ โดยนิติกรรมที่มีผลในระหว่างชีวิตหรือเมื่อตายแล้ว โดยมีข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้รับประโยชน์โอนทรัพย์สินนั้นก็ได้ แต่ต้องมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งนอกจากผู้รับประโยชน์กำหนดไว้ สำหรับเป็นผู้จะได้รับทรัพย์สินนั้นเป็นสิทธิเด็ดขาด ในเมื่อมีการละเมิดข้อกำหนดห้ามโอน”
สรุปได้ว่าทรัพย์สินที่ซื้อขายกันได้ คือ ทรัพย์ในพาณิชย์ทั้งหมด ซึ่งหลายคนคุ้นเคยกันดีและซื้อขายกันในชีวิตประจำวัน อย่าง รถยนต์หรือบ้านที่มีการทำหนังสือสัญญาซื้อขายชัดเจน ส่วนทรัพย์สินที่ซื้อขายไม่ได้นั้น คือ ทรัพย์นอกพาณิชย์อย่างสาธารณสมบัติของแผ่นดิน วัด และที่ธรณีสงฆ์ รวมไปถึงทรัพย์สินอื่นๆ ตามกฎหมาย
สุดท้ายนี้ ท่านใดที่กังวลในการร่างสัญญาซื้อขายทรัพย์สิน ทาง THAC สามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสัญญา พร้อมให้บริการประนอมข้อพิพาททางเลือกเพื่อระงับข้อพิพาทอย่างสันติและลงตัวกับทั้งสองฝ่าย
เกี่ยวกับ THAC
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
สนใจติดต่อ THAC ได้ทาง
อีเมล: [email protected]
โทร.: +66(0)2018 1615