ยืมเงินแล้วไม่คืนผิดกฎหมาย! เรื่องสำคัญควรศึกษาไว้ก่อนให้หรือกู้เงิน
ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ค่าแรงผันแปรไปในทิศทางตรงกันข้ามกับค่าครองชีพที่นับวันยิ่งสูงขึ้น หลายคนจึงต้องมองหาเงินในรูปแบบของการ “ยืม” จากสถาบันทางการเงินหรือคนสนิท ส่วนบางคนก็อาจพบกับเพื่อนหรือแม้กระทั่งคนในเครือญาติเข้ามาขอกู้หนี้ยืมสิน ซึ่งอาจเกิดเหตุการณ์ยืมเงินแล้วไม่คืน ที่ถือเป็นการผิดสัญญาอย่างหนึ่ง ส่งผลให้มีการฟ้องร้องกันในที่สุด
วันนี้ THAC จะมาแนะนำข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการกู้ยืมเงินว่า ยืมเงินไม่คืนเป็นคดีอะไร แจ้งความได้ไหม พร้อมแนะนำวิธีการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution: ADR) ที่สามารถช่วยทั้งผู้กู้และผู้ให้กู้ได้หาข้อตกลงที่ลงตัวระหว่างกัน
ยืมเงินไม่คืนเป็นคดีอะไร?
การกู้เงินแล้วไม่คืน นับเป็นคดีระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย ที่ผิดสัญญาต่อกัน โดย “ลูกหนี้” กระทำผิดสัญญาโดยไม่ชำระคืนเงินแก่ “เจ้าหนี้” ตามจำนวน วันและเวลาที่ตกลงกันไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้บุคคล “ใช้สิทธิทางศาล” เพื่อรับรองคุ้มครองสิทธิของตน ดังนั้นการยืมเงินแล้วไม่คืนนับเป็นคดีแพ่ง สามารถยืนฟ้องร้องต่อศาลได้
อีกทั้ง การกู้ยืมเงินแล้วไม่ชำระคืนยังเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๑๓ ที่ระบุว่า “ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตน เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้” นอกจากนี้ การที่ลูกหนี้ขอชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอย่างอื่นหรือแบ่งชำระบางส่วนนอกเหนือจากที่ตกลงกันไว้ถือเป็นการผิดสัญญา เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะไม่รับชำระและยื่นฟ้องได้ เพราะถือว่าลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ถูกต้อง
ยืมเงินแล้วไม่คืน แจ้งความได้ไหม เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย ซึ่งคำตอบคือ “ไม่ได้” เนื่องจากคดีแพ่งนั้นต่างจากคดีอาญา ตำรวจหรือเจ้าพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจในการฟ้องคดีแพ่งแทนผู้เสียหาย แนะนำให้ติดต่อกับทนายความเพื่อขอความช่วยเหลือในการดำเนินเรื่องฟ้องร้องคดีแทน
ฟ้องร้องขอคืนเงิน ต้องมีหนังสือสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร
ทั้งนี้ ในกรณีที่ผิดสัญญากู้ยืมเงิน เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องต่อศาลได้ก็ต่อเมื่อมีการยืมเงินมากกว่า 2,000 บาทขึ้นไป และต้องมีหนังสือสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมลายเซ็นผู้กู้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๓ วรรคหนึ่ง ความว่า “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”
ดังนั้น ผู้ให้กู้ควรร่างหนังสือสัญญากู้ยืมอย่างชัดเจน โดยระบุรายละเอียดให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น วัน/เดือน/ปี ในการทำสัญญา รายละเอียดของผู้ให้กู้และผู้กู้ วันกำหนดชำระคืน ดอกเบี้ยต่อเดือน/ต่อปี หรืออื่นๆ ส่วนในกรณีที่มีการยืมเงินไปแล้ว สามารถทำหนังสือรับสภาพหนี้หลังจากการกู้ยืมเงิน ก็สามารถใช้ดำเนินคดีต่อศาลได้เช่นกัน
ไม่มีหนังสือสัญญาการกู้ยืม ยื่นฟ้องร้องได้ไหม?
ในกรณีที่คนรู้จักมายืมเงิน เช่น เพื่อน ญาติ หรือคนรู้จัก ส่วนใหญ่มักไม่มีการทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเป็นลายลักษณ์อักษร หลายคนจึงมองว่าไม่สามารถฟ้องร้องได้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหนี้สามารถใช้หลักฐานอย่างประวัติการแชท (Chat) ที่เป็นข้อความการสนทนาขอกู้ยืมเงิน เช่น Messenger หรือ LINE ในการยื่นฟ้องร้องได้ โดยต้องมีรายละเอียดระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ผู้กู้ยืมเป็นใคร จำนวนเงินที่กู้ยืม วันกำหนดชำระคืน รวมไปถึงสลิป (Slip) การโอนเงิน เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นหนังสือและหลักฐานการกู้ยืมเงินนั่นเอง
ยืมเงินแล้วไม่คืน มีอายุความกี่ปี?
อายุความของการยืมเงินแล้วไม่คืนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี ขึ้นอยู่กับรายละเอียดการชำระหนี้ที่ระบุในหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ดังนี้
- กรณีกำหนดชำระเป็นงวด (อายุความ 5 ปี)
หากเจ้าหนี้และลูกหนี้ตกลงที่จะแบ่งชำระเงินเป็นงวดๆ (รายเดือน รายปี) สิทธิเรียกร้องจะมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๓ - กรณีไม่ได้กำหนดชำระเป็นงวด (อายุความ 10 ปี)หากเจ้าหนี้และลูกหนี้ตกลงที่จะแบ่งชำระเงินเป็นงวดๆ (รายเดือน รายปี) สิทธิเรียกร้องจะมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๓
เมื่อไม่ได้มีรายละเอียดกำหนดการชำระหนี้ระบุในสัญญาแต่อย่างใด สิทธิเรียกร้องจะมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐
ระงับข้อพิพาททางเลือก เมื่อผิดสัญญาการกู้เงิน
การยื่นฟ้องร้องต่อศาลอาจเป็นวิธีอันดับแรกที่เจ้าหนี้เลือกใช้เพื่อให้ได้เงินคืน ทั้งนี้การดำเนินคดีอาจใช้เวลานานหลายเดือนหรือเป็นปี เนื่องจากศาลนั้นมีจำนวนคดีที่ต้องดำเนินการเป็นจำนวนมาก มีขั้นตอนซับซ้อน อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่สูง อย่างไรก็ตาม ยังมีวิธีการระงับข้อพิพาททางเลือก ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ต้องผ่านการตัดสินของศาล พร้อมช่วยยุติหรือหาทางออกให้กับทั้งสองฝ่ายได้อย่างเป็นธรรม
การระงับข้อพิพาททางเลือกทั่วไปมีด้วยกัน 3 วิธี ได้แก่
- การเจรจา (Negotiation)
การเจรจา คือ การที่ทั้งสองฝ่าย (เจ้าหนี้และลูกหนี้) ยินยอมที่จะเจรจาหาข้อตกลงกันเอง โดยปราศจากบุคคลที่สามมาเกี่ยวข้อง ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลา ความลับระหว่างคู่เจรจาไม่รั่วไหล - การประนอมข้อพิพาท (Mediation)
การประนีประนอมข้อพิพาท หรือ “การไกล่เกลี่ย” เป็นการระงับข้อพิพาทด้วยความยินยอมของคู่กรณี โดยที่มีบุคคลที่สามอย่าง “ผู้ประนอม” เข้ามาเป็นคนกลางคอยช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการหาทางออกร่วมกัน ที่อาจเป็นผู้พิพากษาในศาล ซึ่งไม่ใช่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน หรือเป็นบุคคลหรือคณะบุคคลทั่วไปก็ได้เช่นกัน ส่งผลให้การไกล่เกลี่ยมีความเป็นกลาง ทั้งนี้ ผู้ประนอมไม่มีหน้าที่ตัดสินชี้ขาดข้อพิพาท - อนุญาโตตุลาการ (Arbitration)
อนุญาโตตุลาการ คือ กระบวนการที่คู่พิพาทตกลงให้บุคคลที่ 3 ที่มีความเป็นกลางและเป็นอิสระ และมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่พิพาทนั้นเป็นผู้ทำการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทดังกล่าว โดยคู่พิพาทจะต้องยอมรับคำวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งมีข้อผูกพันทางกฎหมาย แม้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลแล้ว คู่พิพาทก็สามารถต้องถอนฟ้องจากศาลเพื่อมาอนุญาโตตุลาการแทนได้
การระงับข้อพิพาททางเลือกเป็นทางออกที่ดีในการหาทางออกในกรณีที่เกิดการยืมเงินแล้วไม่คืน เพราะช่วยประหยัดทั้งเงินและเวลา เก็บรักษาความลับของทั้งสองฝ่าย อีกทั้งช่วยรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ดี พร้อมเป็นการลดจำนวนคดีในชั้นศาล
ทั้งฝ่ายเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ก็สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อร้องขอความเป็นธรรมได้ในกรณีที่ต้องดำเนินการฟ้องร้องหรือถูกฟ้องในคดีการกู้เงินแล้วไม่คืน ซึ่งก่อนที่จะขึ้นโรงขึ้นศาล คู่พิพาทก็มีทางเลือกในการหาทางออกด้วยการระงับข้อพิพาททางเลือก ไม่ว่าจะเป็นการเจรจา ไกล่เกลี่ย หรืออนุญาโตตุลาการ เพื่อประนอมข้อพิพาทและหาทางออกที่ลงตัวกับทั้งสองฝ่าย ซึ่งทาง THAC ยินดีให้บริการคำแนะนำ รวมถึงบริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจากประสบการณ์และความชำนาญ
เกี่ยวกับ THAC
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
สนใจติดต่อ THAC ได้ทาง
อีเมล: [email protected]