Brexit จะส่งผลต่ออนุญาโตตุลาการในสหราชอาณาจักรอย่างไร?
การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษซึ่งรวมถึงเวลส์ สกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือที่เรียกกันว่า Brexit นั้น ได้สิ้นสุดระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2020 แล้ว และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญสำหรับข้อพิพาทระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ในสหราชอาณาจักรและฝ่ายต่าง ๆ ในสหภาพยุโรปโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2021 เป็นต้นไป
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดี คำถามที่ว่า Brexit จะมีผลกระทบระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญต่อการอนุญาโตตุลาการของ. สหราชอาณาจักรหรือไม่? ความเห็นของนักวิชาการนั้นมองว่าการ Brexit นั้นไม่มีผลกระทบต่อการอนุญาโตตุลาการในอังกฤษ ทั้งนี้เนื่องมาจากข้อดีของอนุญาโตตุลาการในสหราชอาณาจักรนั้นไม่ได้มาจากกฎหมายของสหภาพยุโรปรวมทั้งไม่ได้มาจากการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร ดังนั้นการอนุญาโตตุลาการในสหราชอาณาจักรจะยังคงมีผลบังคับใช้ตามเดิมแม้ว่าสหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรปแล้วก็ตาม ในที่นี้จะะขอสรุปสาระสำคัญๆที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาโตตุลาการของสหราชอาณาจักรและ Brexit
1.ผลกระทบต่อการอนุญาโตตุลาการในลอนดอนในฐานะที่เป็นสถานที่ที่ได้รับความนิยมสำหรับการอนุญาโตตุลาการ
ลอนดอนเป็นสถานที่ที่ได้รับความนิยมในการอนุญาโตตุลาการเป็นอย่างมาก อีกทั้งการอนุญาโตตุลาการในอังกฤษนั้นก็มักจะถูกใช้เป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกอีกด้วย[1] นอกเหนือไปจากนี้ลอนดอนในสถานะของการเป็นสถานที่สำหรับอนุญาโตตุลาการยังเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการตัดสินข้อพิพาท ตัวอย่างเช่น London Court of International Arbitration (LCIA) ก่อตั้งขึ้นในปี 1892 เป็นสถาบันที่ได้รับความนิยมอันดับสองของยุโรปในด้านอนุญาโตตุลาการเชิงพาณิชย์ระหว่างประเทศ (ICC ในปารีสเป็นสถาบันเดียวที่ได้รับความนิยมมากกว่าลอนดอน)[2] คู่สัญญามักเลือกที่จะแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยอนุญาโตตุลาการประจำกรุงลอนดอนแม้ว่าคู่สัญญาจะไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ ก็ตาม ถึงแม้ว่าสัญญาหรือข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ทำหรือดำเนินการในสหราชอาณาจักร ความสำเร็จของลอนดอนในฐานะสถาบันอนุญาโตตุลาการนั้นประกอบด้วยคุณสมบัติของกฎหมายอังกฤษและความเชื่อมั่นของฝ่ายต่าง ๆ ในระบบการพิจารณาคดีของอังกฤษ รวมไปถึงความมีประสิทธิภาพและความเป็นกลาง[3]
ทั้งนี้เนื่องมาจากพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการอังกฤษ ค.ศ 1996 (1996 Act) นั้นได้ชื่อว่ามีความทันสมัยและครอบคลุมสำหรับการแก้ไขข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ[4] หลักการที่สำคัญใน 1996 Act คือ การที่กรณีพิพาทควรได้รับการแก้ไขโดยคณะอนุญาโตตุลาการที่เป็นกลางและเป็นธรรมโดยไม่ล่าช้าหรือเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น คู่สัญญามีอิสระที่จะตกลงกันในแนวทางการแก้ข้อพิพาทรวมไปถึงการไม่แทรกแซงของศาลเวลส์และอังกฤษนอกเหนือไปจากกรณีที่จำเป็น
นอกเหนือไปจากนี้ศาลยุติธรรมของอังกฤษได้รับการยอมรับในระดับสากลในเรื่องความเป็นกลาง รวมไปถึงประสบการณ์และทักษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดการกับเรื่องที่ซับซ้อนและมีความเกี่ยวพันในหลายเขตอำนาจศาลอย่างมีประสิทธิภาพ
2.การยอมรับและการบังคับใช้คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปหลัง Brexit
ในทางกลับกัน การอนุญาโตตุลาการก็จะไม่รับผลกระทบจาก Brexit เช่นกัน ทั้งนี้เนื่องมาจากการที่ อนุสัญญานิวยอร์ก (The United Nations Convention on the Recognition and Enforcement of Foreign Arbitral Awards (New York, 1958) หรือที่เรียกกันว่า “New York Convention”) จะมีผลบังคับใช้ต่อไปและกำหนดให้รัฐผู้ทำสัญญาปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและบังคับใช้คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ปัจจุบันอนุสัญญานิวยอร์กมีภาคีรัฐภาคีที่ทำสัญญา 165 รัฐซึ่งรวมถึงประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศ ดังนั้นจึงหมายความว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการสามารถบังคับใช้ได้เกือบทั่วโลก
ดังนั้นเนื่องจากการยอมรับและการบังคับใช้คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายของสหภาพยุโรป ดังนั้น ผลของคำชี้ขาดจึงไม่ควรได้รับผลกระทบจาก Brexit อันที่จริงคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่นำมาใช้ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องได้รับการยอมรับจากศาลที่มีอำนาจ การดำเนินการทั้งหมดอยู่ภายใต้อนุสัญญานิวยอร์กและกฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่กฎหมายของสหภาพยุโรป
3.ผลกระทบที่มีต่อ Anti-suit injunctions
Anti-Suit injunctions คือคำสั่งห้ามคู่ความฝ่ายหนึ่งในการไปใช้สิทธิทางศาลในศาลอื่นอีก เนื่องจากศาลในคดีนั้นจะมีคำพิพากษาในประเด็นนั้นอยู่แล้ว ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้คู่ความไปฟ้องศาลให้อื่น ๆ อีกเพื่อป้องกันไม่ได้คู่ความอีกฝ่ายต้องเดือดร้อน เป็นแนวคิดของกฎหมายระบบ Common Law และไม่เป็นที่รู้จักในประเทศที่ใช้ในระบบ Civil Law แนวคิดนี้ได้รับการพัฒนาอย่างมากที่สุดในอังกฤษ
ในอดีตที่ผ่านมานั้น ศาลอังกฤษได้แสดงให้เห็นถึงความเต็มใจที่จะดำเนินการในการสนับสนุนการอนุญาโตตุลาการและเพื่อปกป้องเขตอำนาจศาลของตนเองโดยการออกคำสั่ง Anti-Suit injunctions เพื่อต่อต้านการฟ้องคดีเพื่อยับยั้งบุคคลที่ดำเนินการทางศาลโดยฝ่าฝืนข้อตกลงอนุญาโตตุลาการหรือเขตอำนาจศาล อย่างไรก็ตามกฎหมายของสหภาพยุโรปได้ลดทอนอำนาจของศาลอังกฤษอย่างรุนแรง จะเห็นได้จากการที่ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (The Court of Justice of the European Union “CJEU” ) ได้พิจารณามานานแล้วว่าคำสั่ง Anti-Suit injunctions ภายในสหภาพยุโรปไม่สอดคล้องกับกฎหมายของสหภาพยุโรป ดังนั้นเมื่อสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปแล้วศาลของอังกฤษจะไม่ผูกพันตามกฎหมายหรือเขตอำนาจศาลของสหภาพยุโรปอีกต่อไป ในกรณีนี้ศาลอังกฤษอาจมีอิสระอีกครั้งที่จะออกคำสั่ง Anti-Suit injunctions นอกเหนือไปจากนี้ หลังจาก Brexit แล้ว ศาลอังกฤษมีความเป็นไปได้ที่จะปกป้องข้อตกลงอนุญาโตตุลาการโดยการสามารถออกคำสั่ง Anti-Suit injunctions ซึ่งอาจเป็นวิธีเพิ่มความนิยมของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในสหราชอาณาจักรและเป็นตัวกระตุ้นให้ธุรกิจของสหภาพยุโรปเลือกลอนดอนเป็นสถานที่อนุญาโตตุลาการมากขึ้น เนื่องจากศาลอื่น ๆ ของสหภาพยุโรปไม่สามารถออกคำสั่ง Anti-Suit injunctions แต่ศาลอังกฤษก็มีโอกาสที่จะดำเนินการดังกล่าวได้นั่นเอง
แหล่งที่มา
- https://www.nortonrosefulbright.com/en-gb/knowledge/publications/a655ac50/how-will-brexit-impact-arbitration-in-england-and-wales
- https://poseidon01.ssrn.com/delivery.php?ID=244094087111098082080087102084000122002041002072040074081004117108031101090084025092110057106062021112049088110006025017107081119017001015088022089110070076103090028020036007092101001085007124069028065012100112022086069012094110030069112011070026064005&EXT=pdf&INDEX=TRUE
- https://www.eversheds-sutherland.com/documents/services/competition/arbitration.pdf
- https://www.globallegalinsights.com/practice-areas/international-arbitration-laws-and-regulations/england-and-wales
- https://www.ashurst.com/en/news-and-insights/legal-updates/dispute-resolution-in-a-post-brexit-world—a-reminder-to-think-about-international-arbitration/
- https://www.simmons-simmons.com/features/brexit/ck0qm6cb11vib0b49gbxxw9ni/brexit-dispute-resolution
- [1] A. Dahlberg, A. Welsh, ‘Arbitration Guide: England and Wales’ [2012]
- [2] A. Ahmedov, ‘Born’s Finest: 19 Leading Arbitral Institutions of the World’ [2015] https://www.linkedin.com/pulse/borns-finest-19- leading-arbitral-institutions-world-aibek-ahmedov
- [3] Norton Rose Fulbright (2017). How will Brexit impact arbitration in England and Wales?. https://www.nortonrosefulbright.com/en-gb/knowledge/publications/a655ac50/how-will-brexit-impact-arbitration-in-england-and-wales
- [4] Ibid.