พามารู้จักการเพิกถอนคำชี้ขาด ตามมาตรา 40 ของพรบ อนุญาโตตุลาการ
การอนุญาโตตุลาการ คือ การระงับข้อพิพาททางเลือกนอกศาลที่คู่พิพาทต่างสมัครใจคัดเลือกคณะอนุญาโตตุลาการขึ้นมาเพื่อตัดสินมอบคำชี้ขาด โดยคำชี้ขาดที่คณะอนุญาโตตุลาการให้นั้นเป็นคำตัดสินที่เป็นที่สุด ทว่าในบางกรณีคำชี้ขาดเหล่านี้ก็สามารถเพิกถอนได้ ดังนั้นในบทความนี้จะพาทุกคนมารู้จักกระบวนการอนุญาโตตุลาการ คำชี้ขาด และกรณีใดบ้างที่สามารถเพิกถอนคำชี้ขาดตามพรบ อนุญาโตตุลาการหรือพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการได้
การอนุญาโตตุลาการ หนทางใหม่ในการยุติข้อพิพาท
การอนุญาโตตุลาการ คือ การสรรหาคนกลางมาเพื่อตัดสิน โดยคนกลางสามารถเลือกได้ทั้งแบบบุคคลเดียวหรือคณะก็ได้ เพียงแค่ต้องเป็นจำนวนเลขคี่ โดยจะเรียกว่า “คณะอนุญาโตตุลาการ” โดยคนกลางจะต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีความเป็นกลาง ไม่ขึ้นตรงกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้ได้คำชี้ขาดที่เที่ยงตรงมากที่สุดและมีผลผูกพันทางกฎหมาย
โดยส่วนมากแล้วข้อพิพาทที่ต้องอาศัยการอนุญาโตตุลาการมักเป็นข้อพิพาททางแพ่งหรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญาที่มีการกล่าวถึงวิธีการระงับข้อพิพาทด้วยการใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากกระบวนการนี้มีความรวดเร็วและขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อนเท่ากับการขึ้นศาล สามารถรักษาชื่อเสียงและความลับระหว่างคู่พิพาท เพราะไม่มีการเปิดเผยข้อมูล และรักษาสัมพันธ์ระหว่างคู่พิพาทได้ อีกทั้งในด้านความยุ่งยากและซับซ้อนของคดีความนั้นจะสามารถลดลงได้ เนื่องจากคู่พิพาทจะทำการคัดเลือกอนุญาโตตุลาการผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องข้อพิพาทอย่างดีเข้ามาดำเนินการทำให้ลดระยะเวลาในการทำความเข้าใจถึงข้อพิพาทหรือพยานหลักฐานต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ การระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการสามารถดำเนินการด้วย Ad Hoc Arbitration โดยคู่พิพาทจะเป็นผู้ดำเนินการเองหรือเฉพาะกิจโดยไม่ผ่านสถาบัน มีการกำหนดรายละเอียดและวิธีพิจารณาต่างๆ เอง ในขณะที่การใช้บริการของสถาบันอนุญาโตตุลาการหรือ Institutional Arbitration จะมีความสะดวกสบายมากกว่า เพราะจะมีข้อบังคับอนุญาโตตุลาการ ทั้งกระบวนการแต่งตั้งและคัดค้านอนุญาโตตุลาการ กระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ การทำคำชี้ขาด ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายและค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการของสถาบัน และสถาบันจะอำนวยความสะดวกในการดำเนินการต่างๆ โดยที่คู่พิพาทไม่ต้องดำเนินการเอง
คำชี้ขาด จากอนุญาโตตุลาการ
คำชี้ขาด (Arbitral Award) คือ คำตัดสินที่เกิดขึ้นในการอนุญาโตตุลาการ หลังจากที่คู่พิพาทได้คัดเลือกหรือแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อมาพิจารณาข้อพิพาทแล้ว จะมีการให้คำตัดสินขึ้นเพื่อระงับข้อพิพาทในทุกประเด็นที่คู่พิพาทได้เสนอ โดยคำชี้ขาดนั้นจะตัดสินภายในขอบเขตอำนาจของอนุญาโตตุลาการและต้องเป็นที่สุด มีผลผูกพันต่อคู่พิพาท ทั้งนี้กระบวนการให้คำชี้ขาดจากอนุญาโตตุลาการจะต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 45 วันนับตั้งแต่การพิจารณาเสร็จสิ้น ในกรณีที่เป็นคณะอนุญาโตตุลาการจะให้ใช้เสียงข้างมากหรือถ้าไม่สามารถหาเสียงข้างมากได้ให้ประธานคณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ทำคำชี้ขาด ตามมาตรา 35 ของพรบ อนุญาโตตุลาการ
นอกจากนี้ คำชี้ขาดจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคณะอนุญาโตตุลาการ ระบุวัน และสถานที่ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ และจำเป็นที่จะต้องส่งสำเนาคำชี้ขาดนั้นให้แก่คู่พิพาททุกฝ่าย ตามมาตรา 37 ของพรบ อนุญาโตตุลาการ
นอกจากนี้ ในกรณีการทำอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศนั้น ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญานิวยอร์ก 1958 (New York Convention 1958) ซึ่งหมายความว่าเมื่อมีการให้คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศสามารถนำบังคับตามคำชี้ขาดภายในประเทศไทยได้อีกด้วย เพราะสาระสำคัญของอนุสัญญานิวยอร์ก คือ การขยายขอบเขตการยอมรับและการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ดังนั้นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศไม่ว่าจะทำ ณ ที่ใด ประเทศที่เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญานิวยอร์กนั้นจะยอมรับนับถือและทำการบังคับตามคำชี้ขาด เว้นแต่จะได้มีการกำหนดข้อสงวนไว้ตามอนุสัญญานิวยอร์ก (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)
กรณีใดบ้างที่สามารถเพิกถอนคำชี้ขาดได้
โดยทั่วไปแล้ว หลังจากได้รับคำชี้ขาดแล้ว คู่พิพาทสามารถยื่นคำร้องให้คณะอนุญาโตตุลาการในการแก้ไขข้อผิดพลาดในการคำนวณตัวเลข ตัวอักษร ข้อผิดพลาดเล็กน้อย ตลอดจนขอคำอธิบายเพิ่มเติมหรือตีความส่วนใดส่วนหนึ่งได้ภายใน 30 วันหลังได้รับคำชี้ขาด ทั้งนี้ต้องส่งสำเนาคำร้องให้คู่พิพาทร่วมด้วย ตามมาตรา 39 ของพรบ อนุญาโตตุลาการ อย่างไรก็ตาม หากต้องการคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการสามารถดำเนินการเพิกถอนคำชี้ขาดได้โดยการขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจเพิกถอน ภายในระยะเวลา 90 วันนับได้รับสำเนาคำชี้ขาด โดยศาลจะเพิกถอนได้ตามมาตรา 40 ของพรบ อนุญาโตตุลาการ ในกรณีคู่พิพาทฝ่ายที่เพิกถอนสามารถพิสูจน์ได้ว่าคู่สัญญาตามสัญญาอนุญาโตตุลาการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บกพร่อง สัญญาอนุญาโตตุลาการไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายของประเทศคู่พิพาท ไม่มีการแจ้งให้ทราบถึงการแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการหรือการพิจารณาหรือบุคคลไม่สามารถเข้าต่อสู้คดีได้เพราะเหตุผลอื่น คำชี้ขาดอยู่นอกขอบเขตการพิจารณา ซึ่งศาลอาจเพิกถอนในส่วนที่เกินขอบเขต ตลอดจนพิสูจน์ได้ว่าวิธีการหรือองค์ประกอบของการอนุญาโตตุลาการไม่เป็นไปตามคู่พิพาทได้ตกลงกัน
นอกจากนี้ ศาลยังสามารถพิจารณาเพิกถอนได้ ในกรณีที่คำชี้ขาดปรากฏต่อศาลว่าไม่สามารถระงับได้โดยการอนุญาโตตุลาการตามกฎหมาย หรือการบังคับขัดต่อศีลธรรมอันดีหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนกับการตีความของศาล ได้ที่นี่) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นไม่ตรงกับคำชี้ขาด ผู้พิพากษาหรือตุลาการได้ให้ความเห็นแย้งไว้ในคำพิพากษา หรือเป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยการใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่พิพาท ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 45 ของพรบ อนุญาโตตุลาการ
สุดท้ายนี้ จะเห็นได้ว่าพรบ อนุญาโตตุลาการได้กำหนดรายละเอียดของการเพิกถอนคำชี้ขาดอย่างชัดเจนว่าจะต้องมีลักษณะประการใดบ้าง เพื่อให้การอนุญาโตตุลาการเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ใช้ในการระงับข้อพิพาททางเลือกนอกศาลที่ได้รับการยอมรับจากประเทศไทยในวงกว้างและมีความทัดเทียมกับนานาประเทศ สำหรับใครที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการหรือต้องการใช้บริการของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สามารถติดต่อได้ที่ THAC
เกี่ยวกับเรา
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
สนใจติดต่อ THAC ได้ที่ อีเมล [email protected] หรือ เบอร์โทรศัพท์ +66(0)2018 1615