สิ่งสำคัญควรรู้เกี่ยวกับใบซื้อขายรถ ให้สัญญามีผลทางกฎหมาย
ในการซื้อรถยนต์หรือจักรยานยนต์หนึ่งคัน แน่นอนว่าจำเป็นต้องเรียนรู้รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับตัวรถยนต์ เพื่อให้มั่นใจว่ารถคันนั้นๆ ที่ต้องการซื้อนั้นตอบโจทย์ความต้องการมากที่สุด ซึ่งรวมไปถึงการศึกษารายละเอียดทางกฎหมาย โดยเฉพาะเอกสารสัญญาซื้อขายรถยนต์ หรือที่หลายคนเรียกกันว่า “ใบซื้อขายรถ”
ทั้งนี้ใบซื้อขายรถมีรายละเอียดอย่างไร การซื้อขายรถยนต์จำเป็นต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง สามารถหากคำตอบได้ในบทความนี้
ใบซื้อขายรถคืออะไร
ใบซื้อขายรถ คือ หนังสือสัญญาหรือแบบฟอร์มซื้อ-ขายที่บันทึกรายละเอียดของการซื้อและขายรถยนต์ระหว่างคู่สัญญา ทั้งรูปแบบการซื้อขายรถมือหนึ่ง รถมือสอง รวมถึงรูปแบบการชำระเงิน เช่น การผ่อนชำระ การขายดาวน์ หรือการวางมัดจำเงินสด
ใบซื้อขายรถจากขนส่งหรือเป็นฟอร์มสัญญาที่สามารถค้นหาได้จากอินเทอร์เน็ตทั่วไปล้วนเป็นการทำสัญญาซื้อขาย โดยในทางกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๘ ระบุว่า “กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน” หรือก็คือ จะถือว่ากรรมสิทธิ์รถยนต์ได้ถูกโอนให้แก่ผู้ซื้อทันที แม้ว่าผู้ซื้อจะยังไม่ได้รับทรัพย์สินหรือยังไม่ได้ชำระเงินก็ตาม ยกเว้นแต่ในกรณีที่รายละเอียดสัญญามีการระบุข้อยกเว้น เช่น เมื่อผ่อนชำระสำเร็จแล้วจึงโอนกรรมสิทธิ์ อย่างที่พบเห็นได้บ่อยจากการซื้อรถแบบจัดไฟแนนซ์นั่นเอง
ใบซื้อขายรถควรมีรายละเอียดอย่างไร
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้ การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าซื้อขายกันเกินกว่า 20,000 บาท จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือและลงชื่อคู่สัญญา จึงจะมีผลผูกพันธ์ทางกฎหมาย ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นใบซื้อขายรถยนต์ หรือใบซื้อขายรถมอเตอร์ไซค์ ควรจัดการทำหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์เป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงระบุรายละเอียดต่างๆ ที่ได้ตกลงไว้ให้ชัดเจนที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา โดยสามารถใช้ในการไกล่เกลี่ย อนุญาโตตุลาการ และเป็นหลักฐานหากต้องบังคับคดีแพ่งในชั้นศาล
ใบซื้อขายรถที่ถูกต้องตามกฎหมาย ควรมีข้อมูลและรายละเอียดการซื้อขายให้ครบถ้วน ได้แก่
- รายละเอียดการซื้อขาย เช่น วัน-เวลา สถานที่ซื้อขาย ชื่อผู้ซื้อและผู้ขาย ฯลฯ
- รายละเอียดรถยนต์ เช่น หมายเลขทะเบียน สี เลขเครื่องยนต์ เลขตัวถัง ฯลฯ
- รูปแบบการชำระเงิน เช่น การวางมัดจำหรือการชำระเงินสด ฯลฯ
- ราคาตกลงซื้อขาย
- รูปแบบการส่งมอบรถ
- ลายมือชื่อของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย และพยาน
- เงื่อนไขการรับประกัน
5 ข้อสำคัญควรคำนึง ก่อนเซ็นใบซื้อขายรถยนต์
รถยนต์และจักรยานยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง ดังนั้นเพื่อป้องกันการฟ้องร้อง หรือปัญหาต่างๆ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจำเป็นต้องตรวจสอบรายละเอียดของสัญญา รวมถึงเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างถี่ถ้วนที่สุด โดยมีปัจจัยที่ควรคำนึง ดังนี้
1. เอกสารประกอบสัญญาซื้อขายรถยนต์
นอกจากใบซื้อขายรถ ควรตรวจสอบเอกสารอื่นๆ ที่ใช้ร่วมด้วยอย่างครบถ้วน เพื่อให้สามารถดำเนินการต่อที่กรมขนส่งทางบกอย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็น
- ทะเบียนรถยนต์ หรือสมุดคู่มือจดทะเบียนฉบับจริง – รายละเอียดต้องตรงกับในเล่มทะเบียนที่แจ้งไว้ ทั้งสีรถ เลขตัวถัง และเลขเครื่องยนต์ รวมถึงตรวจดูประวัติการต่อภาษี ประวัติการโอนกรรมสิทธิ์ และประวัติการเปลี่ยนแปลงแก้ไขทางทะเบียนต่างๆ
- ใบโอนและรับโอน – ผู้ขายหรือเจ้าของรถจะต้องเซ็นชื่อผู้โอน ส่วนผู้ซื้อต้องเซ็นชื่อผู้รับโอน เพื่อแจ้งต่อนายทะเบียนให้ทำการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ และเพื่อเป็นหลักฐานทางราชการ
- สำเนาบัตรประชาชน – ผู้ซื้อควรตรวจสอบว่า สำเนาบัตรประชาชนผู้ขายมีชื่อตรงกับเล่มทะเบียนรถ และที่สำคัญที่สุด คือ บัตรประชาชนจะต้องไม่หมดอายุ ส่วนในกรณีซื้อขายในนามบริษัท ก็ควรมีหนังสือจดทะเบียนนิติบุคคลเป็นหลักฐานแนบด้วย
2. การตรวจเช็กสภาพรถยนต์
ควรตรวจสอบว่ารถที่ต้องการซื้อหรือขายอยู่ในสภาพที่น่าพึงพอใจและเหมาะสมกับราคา เพราะหลังสัญญาซื้อ-ขายเสร็จสมบูรณ์ ทั้งสองฝ่ายจะไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้นอกจากรายละเอียดที่ระบุในใบซื้อขายรถ
3. ลายเซ็นในใบสัญญาซื้อขายรถยนต์
การเซ็นรับทราบหรือยอมรับสัญญา ควรตรวจสอบและยืนยันลายเซ็นของอีกฝ่ายว่าถูกต้อง ชัดเจน หรือหากผู้ขายได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เอกสารทุกอย่างที่มีลายเซ็นก็ควรจะต้องมีตราประทับบริษัทประกอบในเอกสารด้วย
4. การเก็บรักษาสำเนาใบซื้อขายรถ และเอกสารอื่นๆ
ในการทำสัญญารถยนต์ หรือสัญญาซื้อขายรูปแบบต่างๆ ควรมีหนังสือสัญญาเตรียมไว้อย่างน้อยสองฉบับ โดยจะต้องมีข้อความเหมือนกันและมีการลงลายเซ็นของคู่สัญญาและพยานในลักษณะเดียวกัน เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเก็บสัญญาดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน เพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงป้องกันการฉ้อโกงในภายหลัง
5. ควรหลีกเลี่ยงและระวังการโอนลอย
การโอนลอย เป็นการที่ผู้ขาย (เจ้าของรถ) ได้ทำการขายรถแล้ว รวมถึงได้ลงนามในเอกสารการโอนรถและใบมอบอำนาจให้แก่ผู้ซื้อ แต่ไม่ได้มีการดำเนินการทางทะเบียนที่กรมการขนส่งฯ แต่อย่างใด หรือก็คือ กรรมสิทธิ์ยังไม่ถูกเปลี่ยนไปเป็นชื่อของผู้ซื้อ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงหลายด้าน เช่น การโดนสวมรอย ใช้รถยนต์ผิดกฎหมาย หรือรถยนต์ถูกนำไปขายต่ออย่างผิดกฎหมายอีกทอดหนึ่ง เป็นต้น
สรุปแล้ว ใบซื้อขายรถเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การซื้อ-ขายรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งสามารถใช้เป็นหลักฐาน เพื่อป้องกันการผิดสัญญา การฉ้อโกง หรือการฟ้องร้อง ซึ่งสามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบการเจรจา ไกล่เกลี่ย หรืออนุญาโตตุลาการ เพื่อประนอมข้อพิพาทและหาทางออกที่ลงตัวกับทั้งสองฝ่ายหากเกิดความขัดแย้ง ซึ่งทาง THAC ยินดีให้บริการคำแนะนำ รวมถึงบริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจากประสบการณ์และความชำนาญ
เกี่ยวกับ THAC
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
สนใจติดต่อ THAC ได้ทาง
อีเมล: [email protected]