การประนีประนอมยอมความในศาล คืออะไร?
เมื่อคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว มีหลากหลายครั้งที่โจทก์และจำเลยสามารถหาข้อตกลงได้ ศาลก็จะมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งนับเป็นการแบ่งเบาภาระศาลได้ ดังนั้นในบทความนี้ของ THAC จะพาทุกคนมารู้จักการประนีประนอมยอมความในศาลเชิงลึกให้มากขึ้น ว่าคืออะไร การพิพากษาตามยอมคืออะไร และถ้าไม่อยากประนีประนอมในชั้นศาลสามารถทำอะไรได้บ้าง
“ประนีประนอมยอมความในศาล” คืออะไร?
การประนีประนอมยอมความในศาล คือ กระบวนการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในชั้นศาลหรือชั้นบังคับคดี เมื่อคู่พิพาทหรือผู้พิพากษาเห็นว่าคดีเหล่านั้นสามารถหาข้อยุติได้ด้วยการประนีประนอม ก็จะดำเนินการแต่งตั้งผู้ประนีประนอมประจำศาลหรือผู้พิพากษาอาจมาเป็นผู้ประนีประนอมเอง โดยจะทำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกิดขึ้นและหาแนวทางที่คู่พิพาทพึงพอใจร่วมกัน โดยส่วนมากแล้ว การประนีประนอมยอมความในศาลมักใช้ในข้อพิพาททางแพ่ง ที่มีการตกลงเรียกร้องค่าเสียหายกันได้ โดยเฉพาะคดีหนี้สินระหว่างบุคคลกับสถาบันทางการเงินที่สามารถตกลงในขั้นตอนนี้ได้ว่าจะมีการกำหนดเวลา วิธีการ หรือยอดชำระอย่างไร และขอให้ศาลได้บันทึกข้อตกลงดังกล่าวไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาขึ้นหรืออาจเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความในชั้นศาล ที่มีผลผูกพันตามที่ตกลง และโจทก์จะไม่สามารถบังคับคดีตามคำพิพากษาได้อีก ซึ่งอาจเรียกว่าการพิพากษาตามยอมก็ได้
พิพากษาตามยอม คือ
การพิพากษาตามยอม เป็นกระบวนการที่ศาลมีคำพิพากษาให้เป็นไปตามข้อตกลงที่คู่พิพาทเห็นพ้องกันว่าต่างฝ่ายต่างผ่อนให้แก่กัน โดยข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมอาจมีผลไม่ตรงหรือเกินกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องเบื้องต้นได้ ซึ่งกรณีที่มีการพิพากษาตามยอม จะไม่ขึ้นกับมาตรา 142 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ห้ามมิให้ศาลพิพากษาเกินคำขอ เพราะถือว่าคำพิพากษาตามยอมไม่ใช่คำวินิจฉัยชี้ขาด รวมถึงศาลจะทำการพิจารณาข้อตกลงเบื้องต้นว่าจะต้องไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและเกี่ยวพันกับคดี
อย่างไรก็ตาม หลายคนมักเข้าใจว่าการทำสัญญาประนีประนอมมีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่การพิพากษาตามยอมคือกระบวนการที่ศาลมีคำพิพากษาให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอม ซึ่งหากมีการผิดสัญญา สามารถที่จะออกหมายตั้งเจ้าหน้าที่พนักงานบังคับคดีได้เลย ไม่จำเป็นต้องส่งคำบังคับคดีให้จำเลยอีกครั้ง เพราะถือว่าจำเลยทราบผลคำพิพากษาแล้ว แต่สำหรับสัญญาประนีประนอมทั่วไปที่ทำนอกศาลหรือไม่มีทนายความเซ็นหน้าปกสำนวน หากมีการทำผิดสัญญาเกิดขึ้น สามารถที่จะนำเข้าฟ้องร้องให้ศาลบังคับคดีได้หรือการประนอมข้อพิพาทนอกศาลอย่างการอนุญาโตตุลาการได้
ถ้าไม่อยากประนีประนอมยอมความในศาล สามารถทำอะไรได้บ้าง?
ถึงแม้การประนีประนอมยอมความในชั้นศาลจะช่วยผ่อนผันข้อตกลงได้และมีการบังคับใช้ทางกฎหมาย ทว่าการประนีประนอมยอมความในชั้นศาลนั้นก็มีจุดด้อยอยู่ เช่น หากผิดนัดศาลก็อาจทำให้พลาดการประนีประนอมได้ หรือแม้แต่บรรยากาศที่ตึงเครียดที่อาจทำให้การตัดสินใจผิดพลาดได้ ตลอดจนจะมีการบันทึกในประวัติและข้อพิพาทเหล่านี้อาจไม่ถือเป็นความลับด้วย ซึ่งอาจทำให้ไม่สะดวกเมื่อเทียบกับการประนอมข้อพิพาทนอกศาลที่จะมีความยืดหยุ่นและเป็นกันเองมากกว่า รวมถึงการประนอมข้อพิพาทนอกศาลยังสามารถจัดตั้งคนกลางที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องเข้ามาช่วยประนอมข้อพิพาท อีกทั้งยังสามารถรักษาความลับได้ และอาจใช้ระยะเวลาน้อยกว่าการขึ้นศาล โดยการประนอมข้อพิพาทนอกศาล สามารถทำได้ทั้งการเจรจาซึ่งเป็นการพูดคุยระหว่างคู่พิพาท ไม่มีบุคคลที่สาม การไกล่เกลี่ยซึ่งจะมีการจัดตั้งผู้ไกล่เกลี่ยขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการพูดคุย หรือการอนุญาโตตุลาการที่จะมีการชี้ขาดข้อพิพาท (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่) และสำหรับใครที่สนใจประนอมข้อพิพาททางเลือกนอกศาล ทาง THAC ยินดีให้บริการ ติดต่อได้ที่นี่
เกี่ยวกับเรา
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย