การประนีประนอมยอมความนอกศาล หนทางยุติข้อพิพาทอย่างสันติ
กล่าวได้ว่าการประนีประนอมเป็นสูตรสำเร็จของการแก้ไขความขัดแย้งในสังคมไทย เนื่องด้วยวัฒนธรรมของไทยนั้นมีความยืดหยุ่น หลากหลาย และมีระบบอาวุโสที่แข็งแกร่ง ผสานกับแนวคิดทางพุทธศาสนา ทำให้การดำเนินคดีที่จะต้องตัดสินผิดถูกอย่างชัดเจนในหลายครั้งกับสร้างความบาดหมางและขุ่นเคืองมากกว่าได้ ทำให้การประนีประนอมยอมความ แม้จะไม่ได้มีการตัดสินอย่างชัดเจนกลายเป็นทางออกที่ดีกว่าในหลายกรณี เพราะเป็นการหาความพึงพอใจร่วมกัน โดยรักษาความสัมพันธ์ของคู่พิพาทได้ดีกว่า
ดังนั้นในบทความนี้ทาง THAC จะมาแนะนำ “การประนีประนอมยอมความนอกศาล” ให้ทุกคนได้รู้จักกันว่าคืออะไร แตกต่างกับในศาลอย่างไร การทำสัญญาประนีประนอม ตลอดจนข้อพิพาทที่สามารถประนีประนอม พร้อมแนะนำช่องทางในการประนอมข้อพิพาทนอกศาล
การประนีประนอมยอมความนอกศาล คืออะไร
ก่อนอื่นเลยต้องขออธิบายรูปแบบการประนีประนอมก่อนว่ามีด้วยกัน 2 ลักษณะคือ การประนีประนอมยอมความนอกศาลและในศาล โดย การประนีประนอมนอกศาล คือการเลือกใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนที่ข้อพิพาทนั้นจะถูกนำมาฟ้องร้องต่อศาล ซึ่งจะทำให้ข้อพิพาทเหล่านั้นยุติลงได้ จำเป็นจะต้องเลือกค้นหาผู้ไกล่เกลี่ยและดำเนินการ เมื่อคู่พิพาทมีการตกลงกันว่าจะยอมผ่อนผันให้แก่กัน ก็จะมีการทำหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกัน โดยผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องทำให้บรรยากาศการไกล่เกลี่ยประนีประนอมมีความผ่อนคลาย เป็นกันเอง เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายรู้สึกไว้วางใจและกล้าบอกความต้องการของแต่ละฝ่าย
นับเป็นกลไกที่คู่พิพาททั้งสองตัดสินใจที่จะพูดคุยไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง เพราะในหลายๆ กรณีที่ใช้ระยะเวลาน้อยและงบประมาณน้อยกว่า ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากตกลงทำสัญญาระหว่างกัน ตลอดจนต้องการเก็บความลับหรือรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันได้
ความแตกต่างระหว่างการประนีประนอมในศาล
การประนีประนอมในศาล คือ หลังจากที่ได้มีการฟ้องร้องคดีต่อศาลแล้ว การดำเนินการอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล หากศาลเห็นว่าคู่พิพาทสามารถตกลงกันได้ ศาลจะมีการจัดตั้งผู้ประนีประนอมมาเพื่อไกล่เกลี่ย เมื่อศาลเห็นว่าข้อตกลงนั้นไม่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายก็จะพิพากษาตามสัญญาหรือที่เรียกว่า “พิพากษาตามยอม” นั่นเอง กล่าวได้ว่าการประนีประนอมยอมความในศาลจะช่วยยุติข้อพิพาทได้และข้อตกลงที่เกิดขึ้นนั้นจะมีผลผูกพันตามกฎหมายทันที โดยสามารถสรุปความแตกต่างออกมาได้ดังนี้
หัวข้อ | การประนีประนอมในชั้นในศาล | การประนีประนอมนอกชั้นศาล |
การฟ้องร้องดำเนินคดี | จะต้องมีการฟ้องร้องดำเนินคดีผ่านสน. หรือยื่นฟ้องผ่านทนาย | ไม่จำเป็นต้องมีการฟ้องร้อง สามารถติดต่อหน่วยงานได้เลย |
ลักษณะคดี | ข้อพิพาททางแพ่ง ข้อพิพาทอาญาที่ยอมความได้ และข้อพิพาททางแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา | ข้อพิพาททางแพ่ง ข้อพิพาทอาญาที่ยอมความได้ และข้อพิพาททางแพ่งและทางอาญา |
ระยะเวลา | ใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน เนื่องจากแต่ละขั้นตอนมีระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งอาจทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก | ในหลายกรณีใช้ระยะเวลาน้อยกว่าและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า |
ผู้ระงับข้อพิพาท | จะเรียกว่าผู้ประนีประนอม ซึ่งเป็นคนในศาลที่แต่งตั้งมาเพื่อช่วยยุติข้อพิพาท | จะเรียกว่าผู้ไกล่เกลี่ย สามารถตกลงกับคู่พิพาทในการเลือกคนกลางได้ |
ความเป็นทางการ | จะมีความเป็นทางการ มีขั้นตอนกำหนดชัดเจน | มีความยืดหยุ่น ไม่เป็นทางการ สามารถกำหนดขั้นตอนได้ |
การรักษาความลับ | จะมีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ทางสาธารณะ เพื่อนำสืบคดี | ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลใดๆ ของคู่พิพาท |
การสรุปคดี | หากไกล่เกลี่ยสำเร็จ จะมีการพิพากษาจำยอม ในกรณีที่ไม่สำเร็จ จะสามารถดำเนินการตามขั้นตอนศาลในการสืบพยานต่อได้ |
หากไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว จะมีการทำสัญญาประนีประนอม เพื่อบันทึกข้อตกลงและถือว่าข้อพิพาทเหล่านั้นได้ยุติเรียบร้อย ในกรณีที่ไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จสามารถตกลงดำเนินการอนุญาโตตุลาการหรือดำเนินคดีได้ |
จากตารางด้านบน จะเห็นได้ว่าความแตกต่างระหว่างการประนีประนอมในชั้นศาลและนอกศาล ซึ่งจุดสำคัญคือหลังจากที่ได้ตกลงและยุติความขัดแย้งแล้ว การทำสัญญาประนีประนอมถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากไกล่เกลี่ยสำเร็จแต่ไม่มีการทำสัญญาก็จะถือว่าข้อตกลงที่เกิดขึ้น ไม่มีหลักฐานทางลายลักษณ์อักษร คู่พิพาทสามารถที่จะไม่ปฏิบัติตามได้ เพราะกระบวนการไกล่เกลี่ยเป็นเพียงสัญญาปากเปล่าที่ไม่มีผลทางกฏหมาย สัญญาประนีประนอมยอมความจะทำการบันทึกข้อตกลงว่าทั้งสองตกลงจะยอมผ่อนผันข้อพิพาทและจะไม่นำข้อพิพาทมาดำเนินการอีกครั้ง พร้อมสรุปเงื่อนไขและข้อปฏิบัติที่ทั้งสองจะต้องทำตาม โดยจะต้องมีรายละเอียดังนี้
- สัญญาประนีประนอมทำขึ้นที่ไหนและวันที่เท่าไร
- รายละเอียดข้อคู่พิพาท โดยระบุว่า ชื่อ – นามสกุล / เลขที่บัตรประชาชน / ที่อยู่ และระบุว่าฝ่ายใดเป็นผู้รับสัญญาและผู้ให้สัญญา
- ระบุข้อความที่เป็นการแสดงเจตนาว่าทั้งสองต่างเห็นพ้องกันและตกลงให้ข้อพิพาทนี้ยุติและระงับไป
- ระบุรายละเอียดข้อพิพาทที่เกิดขึ้น
- ระบุข้อตกลงระหว่างกันว่าผู้รับสัญญาและผู้ให้สัญญาจะต้องกระทำอะไรบ้าง
- ระบุข้อตกลงกรณีที่มีการผิดสัญญาว่าจะดำเนินการอย่างไร
- รายละเอียดอื่นๆ เช่น ค่าทนายความ ค่าดำเนินการอื่นๆ การแก้ไขเปลี่ยนแปลง กฎหมายบังคับใช้ การระงับข้อพิพาท
- การลงลายเซ็นผู้รับสัญญา ผู้ให้สัญญา พยาน
ยกตัวอย่างเช่น กรณีการจัดการสินสมรส ถือเป็นการประนีประนอมนอกศาลที่มีสัญญาประนีประนอม เนื่องจากเมื่อมีการจดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เมื่อทรัพย์สินที่ทำร่วมกันมาระหว่างทั้งคู่จะเรียกว่าเป็นสินสมรส ซึ่งตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 กำหนดวิธีจัดการสินสมรสว่า คู่สมรสสามารถตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เป็นสินสมรส ทั้งเรื่องทรัพย์สินก่อนสมรส รวมถึงทรัพย์สินหลังสมรสว่าจะมีการแบ่งกันอย่างไรบ้าง โดยสัญญาจะต้องได้รับความยินยอมร่วมกันและเป็นสัญญาลายลักษณ์อักษรที่ทำก่อนหรือทำพร้อมการจดทะเบียนสมรสกับนายทะเบียน ซึ่งหากต้องการแก้ไขหรือเพิกถอนสัญญาก่อนสมรสหลังจากได้จดทะเบียนสมรสจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น
ประเภทข้อพิพาทที่เหมาะสมกับการประนีประนอมยอมความนอกศาล
อย่างที่ทราบกันว่า ไม่ใช่ทุกข้อพิพาทที่จะสามารถใช้วิธีการประนีประนอมยอมความนอกศาล ซึ่งข้อพิพาทที่เหมาะสมกับการประนีประนอมยอมความนอกศาล ได้แก่
ข้อพิพาททางแพ่ง ซึ่งเป็นข้อพิพาทที่เกิดจากการผิดสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างคู่พิพาทหรือบุคคลทั้ง 2 ฝ่าย และมีการเรียกร้องค่าเสียหายหรือสินไหมทดแทน เช่น คดีกู้ยืมเงิน คดีเช่าทรัพย์ คดีตั๋วเงิน คดีผิดสัญญา คดีจำนอง คดีซื้อขาย คดีมรดก คดีสินสมรส
ข้อพิพาทอาญาที่ยอมความได้ คือ ข้อพิพาทที่ยอมความได้หรือความผิดลหุโทษตามมาตรา390 – มาตรา 395 และมาตรา 397 รวมถึงความผิดลหุโทษอื่นที่ไม่กระทบต่อส่วนรวมตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
ข้อพิพาททางแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา คือ เป็นคดีที่มีมูลมาจากการกระทำความผิดทางอาญา แต่สามารถตกลงประนีประนอมยอมความในส่วนของสินไหมทดแทนได้ หรือจะต้องรับผิดในทางแพ่งที่เกิดจากผลของการกระทำความผิดอาญาโดยตรง เช่น ความผิดทางอาญาเกี่ยวกับร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ ชื่อเสียง ร่างกาย หรือทรัพย์สิน เป็นต้น
ข้อพิพาทระหว่างประเทศ คือ ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างทั้งทางด้านกฎหมาย ภาษา ความเชื่อ หรือศาสนา ไม่สามารถยึดเพียงกฎหมายใดกฎหมายหนึ่งมากำหนดได้ อย่างการทำธุรกรรมร่วมกับต่างชาติ นักลงทุนต่างชาติ คดีลิขสิทธิ์ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม หากการประนีประนอมยอมความนอกศาลไม่สำเร็จตั้งแต่ครั้งแรก ถือว่าไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติและไม่ได้หมายความว่าการประนอมไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการประนีประนอมคือการหาจุดร่วมที่ทั้งสองพึงพอใจ ซึ่งในบางกรณีนั้น คู่พิพาทอาจยังไม่ทราบความต้องการของตนได้ ดังนั้น หากประนอมไม่สำเร็จก็สามารถที่จะใช้การอนุญาโตตุลาการเพื่อหาคำชี้ขาดได้ หรือหากต้องการนำเรื่องไปสู่กระบวนการหลักอย่างฟ้องร้องดำเนินคดีก็ทำได้เช่นกัน
สำหรับท่านใดที่สนใจ ต้องการรับคำปรึกษาหรือต้องการดำเนินการการประนีประนอมยอมความนอกศาล ทาง THAC ก็มีบริการไกล่เกลี่ย ประนอมข้อพิพาท อนุญาโตตุลาการ ตลอดจนการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและการประนอมข้อพิพาทออนไลน์ โดยมีบุคลากรที่ทรงคุณวุฒิ จากหลากหลายสาขาและเชื้อชาติเพื่อที่จะหาหนทางผสานความเข้าใจและจบความคัดแย้งอย่างสันติวิธี ดูเพิ่มเติม
เกี่ยวกับเรา
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย