เข้าใจดอกเบี้ยผิดนัด และวิธีคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดแบบใหม่ ช่วยลดภาระหนี้!
ลูกหนี้หลายคนเจอปัญหาในระหว่างจ่ายหนี้ ส่งผลให้ไม่สามารถชำระหนี้และดอกเบี้ยได้ตามเวลาที่ระบุในสัญญา และกังวลว่าจะเกิดปัญหาต้องจ่ายดอกเบี้ยเยอะจนไม่สามารถเคลียร์หนี้ได้ ในบทความนี้ THAC จะมาอธิบายเรื่องดอกเบี้ยผิดนัดและอัตราการคิดดอกเบี้ยผิดนัดแบบใหม่ที่จะช่วยลดค่าดอกเบี้ยผิดนัดแก่ลูกหนี้ได้อย่างมาก
ดอกเบี้ยผิดนัด คืออะไร?
ดอกเบี้ยผิดนัด คือ การชำระดอกเบี้ยที่ไม่ตรงตามกำหนดเวลาชำระ เช่น การกู้ยืมเงิน การชดใช้ค่าเสียหาย เป็นต้น ซึ่งดอกเบี้ยผิดนัดไม่จำเป็นต้องกำหนดไว้ล่วงหน้าหรือระบุในสัญญา สามารถเรียกได้เลยเมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยการผิดนัดชำระดอกเบี้ยนี้ถือเป็นการผิดสัญญาอย่างหนึ่ง
หลักการคิดดอกเบี้ยปกติทั่วไป
หลักการคิดดอกเบี้ยปกติทั่วไปแบบเก่าในมาตรา ๗ (เดิม) ระบุไว้ว่า หากไม่ได้มีการระบุอัตราดอกเบี้ยในสัญญาอย่างชัดเจน ให้คิดอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี และสำหรับดอกเบี้ยผิดนัดให้คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด ร้อยละ 7.5 ต่อปี และหากทางเจ้าหนี้เรียกเก็บดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดซึ่งชอบด้วยกฎหมายก็สามารถทำได้ นอกจากนี้ การคิดดอกเบี้ยผิดนัดเดิมจะถูกคำนวณจากเงินต้นคงเหลือทั้งหมด นั่นหมายความว่า หากผิดนัดชำระแม้แต่ครั้งเดียว ก็จะรับภาระชำระหนี้หนักขึ้น รวมถึงอาจทำให้เคลียร์หนี้ทั้งหมดได้ยากขึ้นด้วยเช่นกัน
ส่วนหลักการคิดดอกเบี้ยปกติทั่วไปที่แก้ไขใหม่ ได้ระบุในมาตรา ๗ ไว้ว่า หากไม่ได้มีการระบุอัตราดอกเบี้ยอย่างชัดเจนในสัญญาให้ใช้อัตราร้อยละ 3 ต่อปี
หลักการคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมายใหม่
1.หลักการคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
การคิดอัตราดอกเบี้ยใหม่ประเภทนี้ใช้เมื่อเจ้าหนี้ไม่ใช่ผู้ให้บริการภายใต้การกำกับดูแลของแบงก์ชาติ เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2564 หลักการคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมายใหม่นี้ครอบคลุมสัญญาที่กำหนดให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเป็นงวด อาทิ สัญญาสร้างบ้าน สัญญาเช่า สัญญาชดใช้ค่าเสียหาย เป็นต้น
โดยดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมายมาตรา ๒๒๔ (ใหม่) ระบุไว้ว่า ให้คิดอัตราดอกเบี้ยในระยะเวลาผิดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา ๗ (ใหม่) บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี หรือเท่ากับอัตราร้อยละ 5 ต่อปี และไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด การพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นนอกจากนั้นให้พิสูจน์ได้ โดยอัตราดอกเบี้ยผิดนัดนี้สามารถบังคับใช้ได้แม้ไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยผิดนัดในสัญญา นอกจากนี้ มาตรา ๒๒๔/๑ ระบุไว้ว่า ถ้าลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้เป็นงวด แล้วผิดนัดไม่ชำระงวดใด เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดได้เฉพาะจากเงินต้นในงวดที่ลูกหนี้ผิดนัด และหากข้อตกลงใดขัดกับความในวรรคหนึ่ง ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ
ในส่วนของดอกเบี้ยผิดนัดที่มีสัญญาจะคิดเท่ากับดอกเบี้ยปกติที่ตกลงไว้ในสัญญาโดยต้องอยู่ในอัตราที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปีนั่นเอง อาทิ ดอกเบี้ยในสัญญากำหนดไว้ร้อยละ 8 ก็สามารถเรียกดอกเบี้ยผิดนัดได้ร้อยละ 8
2.หลักการคิดดอกเบี้ยผิดนัดใหม่ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ออกหลักเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ใหม่ขึ้นมา โดยครอบคลุมสัญญาทางการเงินที่เจ้าหนี้ คือ ผู้ให้บริการภายใต้การกำกับดูแลของแบงก์ชาติ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ส่วนเรื่องการตัดชำระหนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่นี้จะคิดจาก “ฐานเงินต้นของงวดที่ผิดนัดชำระจริงเท่านั้น” หมายความว่าจะไม่คิดรวมกับงวดในอนาคต ซึ่งเกณฑ์ใหม่นี้จะช่วยให้ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้คิดตามจริงและเป็นธรรมกับลูกหนี้
ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ยกตัวอย่างไว้ดังนี้ เมื่อกู้ซื้อบ้าน 5 ล้านบาท โดยผ่อนงวดละ 42,000 บาท มีเงินต้น 10,000 บาท ดอกเบี้ย 32,000 บาท หากผิดนัดชำระในงวดที่ 25 จะคิดดอกเบี้ยผิดนั้นแค่งวดที่ 25 ไม่รวมงวด 26 และงวดต่อๆ ไป และดอกเบี้ยผิดนัดจะคิดบนฐาน 10,000 บาท แต่หากเป็นแบบเก่าจะคิดตั้งแต่งวด 25 จนถึงงวดสุดท้ายซึ่งจะมียอดนี้รวม 4.77 ล้านบาท ดอกเบี้ยผิดนัดที่เราต้องจ่ายก็จะคิดบนฐานเงิน 4.77 ล้านบาททำให้ลูกหนี้มีภาระหนี้เพิ่มขึ้น
ส่วนอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะเป็นอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกินร้อยละ 3 หากดอกเบี้ยปกติตามสัญญา คือ ร้อยละ 7 ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญาต้องไม่เกินร้อยละ 10 และในเรื่องของลำดับการชำระหนี้จะตัดชำระหนี้ในแนวนอน โดยการตัดชำระแนวนอนจะตัดงวดค้างชำระที่นานที่สุดก่อน คือในงวดที่ 1 จะจ่าย ค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยและเงินต้น วิธีนี้ทำให้เงินต้นลดลงตามการชำระเงิน ซึ่งต่างจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่สามารถตัดชำระเป็นแนวตั้งได้
ดอกเบี้ยผิดนัดส่งผลกระทบลูกหนี้หลายด้าน โดยผลกระทบที่สำคัญ คือ ทำให้ประวัติเครดิตของลูกหนี้เสีย มีความเป็นไปได้ที่จะสูญเสียความน่าเชื่อถือจากธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นๆ ทำให้การขอสินเชื่อในอนาคตกลายเป็นเรื่องยากขึ้น นอกจากนี้ การทำผิดสัญญาด้วยการผิดนัดชำระยังสามารถทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นสำหรับลูกหนี้ เนื่องจากต้องชำระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ดังนั้นการจัดการการเงินอย่างรอบคอบและปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำเพื่อรักษาเครดิต รักษาสภาพการเงินของตัวเองให้ดี นอกจากนี้ ยังไม่ต้องเสี่ยงขึ้นโรงขึ้นศาลด้วยเหตุนี้ด้วยเช่นกัน แต่หากมีการผิดนัดชำระหนี้หรือทำผิดสัญญาชำระหนี้ไปแล้ว THAC ยินดีให้บริการคำแนะนำ รวมถึงบริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจากประสบการณ์และความชำนาญเพื่อความพึงพอใจทั้งสองฝ่าย
เกี่ยวกับ THAC
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
สนใจติดต่อ THAC ได้ทาง
อีเมล: [email protected]