
การยักยอกทรัพย์ คืออะไร เป็นคดีแบบใด แล้วยอมความได้ไหม

การยักยอกทรัพย์ เป็นความผิดที่หลายคนอาจยังสับสนกับความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะถึงแม้จะเป็นการ “ขโมย” ทรัพย์สินของผู้อื่นเช่นกัน แต่ในทางกฎหมายนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินคดีความ และบทลงโทษ ดังนั้นมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับความผิดฐานยักยอกทรัพย์อย่างละเอียดมากขึ้นในบทความนี้
การยักยอกทรัพย์ คืออะไร
ยักยอกทรัพย์ คือ การ “เบียดบัง” (แสดงตนว่าเป็นเจ้าของ) เอาทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองของตนไปโดยทุจริต โดยทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่นหรือมีผู้อื่นเป็นเจ้าของร่วม ไม่ว่าจะเป็นการครอบครองเป็นของตนเอง นำไปขาย จำนำ โอนสิทธิ์ หรืออื่นๆ โดยเจตนา จะเข้าข่ายข่ายความผิดฐานยักยอกทรัพย์
เช่น นาย A ได้ถูกว่าจ้างให้นำคอมพิวเตอร์ไปส่งให้ลูกค้า ซึ่งเป็น “การรับมอบของให้ไปส่ง” แต่นาย A ไม่ได้นำไปส่งลูกค้า และได้เบียดบังคอมพิวเตอร์นั้นไปโดยทุจริต การกระทำของนาย A จึงเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการรับมอบเงิน-อำนาจให้ซื้อของ ชำระหนี้ ฝากเงินเข้าบัญชีธนาคาร ฯลฯ หากมีการเบียดบังสินทรัพย์ใดๆ นั้นจะเข้าข่ายการยักยอกทั้งหมด
ความแตกต่างระหว่างยักยอกทรัพย์และลักทรัพย์
![[THAC] SEO JAN C04 2 1200x628](https://thac.or.th/wp-content/uploads/2025/03/THAC-SEO-JAN-C04-2_1200x628.jpg)
การยักยอกทรัพย์และการลักทรัพย์อาจมีความคล้ายคลึงกัน ทั้งนี้ความผิดทั้งสองแบบมีข้อแตกต่างที่เป็นสาระสำคัญ คือ การยักยอกทรัพย์คุ้มครองกรรมสิทธิ์ ส่วนการลักทรัพย์คุ้มครองการครอบครอง ดังนี้
- การยักยอกทรัพย์ – ผู้กระทำมีสิทธิครอบครองทรัพย์อยู่แล้ว เช่น การรับฝาก แต่เบียดบังเอาไปโดยทุจริตในภายหลัง
- การลักทรัพย์ – ผู้กระทำไม่มีสิทธิครอบครองทรัพย์มาก่อน และเอาทรัพย์ไปจากการครอบครองของผู้เป็นเจ้าของ เช่น ขโมยโทรศัพท์มือถือจากคนอื่น แอบยกกระถางต้นไม้มาจากบ้านคนอื่น เป็นต้น
การยักยอกทรัพย์ มีกี่รูปแบบ
โดยทั่วไป ความผิดฐานยักยอกทรัพย์สามารถแบ่งออกเป็น 5 แบบ ดังนี้
1. ยักยอกทรัพย์ทั่วไป
คือ การยักยอกธรรมดา อย่างการเช่ารถจากเต็นท์แต่กลับแอบนำไปขาย หรือเบียดบังเงินที่รับฝากเอาไว้ว่าเป็นของตัวเอง
2. ยักยอกทรัพย์ที่คนอื่นให้เพราะเข้าใจผิด หรือเก็บของได้แต่ไม่ยอมคืน
เช่น พนักงานทอนเงินให้ผิดและรู้ว่าผิดแต่ไม่ยอมคืนเงินส่วนเกิน หรือร้านอาหารให้เมนูมาเกินเพราะเข้าใจผิด ฝ่ายผู้รับก็ทราบดีแต่ไม่ยอมคืน หรือเก็บกระเป๋าตังค์ได้ระหว่างทาง แล้วไม่คืนให้เจ้าของ
3. ยักยอกทรัพย์ที่ตัวเองมีหน้าที่ดูแล หรือมีคนอื่นถือกรรมสิทธิ์อยู่ด้วย
ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่เพื่อนสองคนซื้อกล้องถ่ายรูปมาด้วยกัน แต่อีกคนกลับเอาไปเป็นของตัวเองคนเดียว หรือมีคนฝากให้ดูแลสิ่งของ แต่กลับนำเอาไปขาย
4. ยักยอกทรัพย์ที่ตัวเองมีหน้าที่จัดการ ดูแลตามคำสั่งศาล ตามพินัยกรรม หรือเป็นคนที่มีอาชีพหรือธุรกิจที่ประชนไว้วางใจ
อาทิ ผู้ที่มีหน้าที่จัดการมรดกได้ทำการยักยอกทรัพย์มรดก หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐยักยอกเงินส่วนกลางไปใช้ส่วนตัว
5. ยักยอกของที่คนอื่นซ่อนไว้ หรือฝังไว้
เช่น ขุดเจอกล่องที่มีเครื่องเพชรข้างใน หรือขุดเจอสิ่งของโบราณ แต่ไม่รู้ว่าเป็นของใคร และไม่มีใครสามารถอ้างความเป็นเจ้าของได้ หากเจอเหตุการณ์ดังกล่าว ต้องส่งคืนให้รัฐ แต่ถ้าเก็บไว้เองจะมีความผิดในฐานยักยอกทรัพย์
ยักยอกทรัพย์ เป็นคดีแพ่งหรืออาญา
เชื่อว่าหลายคนอาจสับสนว่าการยักยอกทรัพย์เป็นความผิดทางอาญาหรือแพ่งกันแน่ เพราะการกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อบุคคล และยังมีเรื่องของสิทธิ์การครอบครองอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในทางกฎหมาย การยักยอกทรัพย์เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ระบุว่า
“ผู้ใดครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”
ยักยอกทรัพย์ มีโทษอะไรบ้าง
การยักยอกทรัพย์โดยปกติถือเป็นความผิดในมาตรา ๓๕๒ ถึงอย่างนั้น ยักยอกทรัพย์ในรูปแบบอื่นๆ มีโทษแตกต่างกันไปตามลักษณะของการกระทำผิด โดยตามประมวลกฎหมายอาญาได้แบ่งระดับความรุนแรงของโทษ ดังนี้
1. ความผิดตามมาตรา 352 ยักยอกทรัพย์ทั่วไป
จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีตัวอย่างของการยักยอกทรัพย์ทั่วไป เช่นพนักงานเก็บเงินนำเงินค่าสินค้าไปใช้ส่วนตัว ยืมโทรศัพท์เพื่อนแล้วนำไปจำนำ เช่ารถยนต์แล้วนำไปขายต่อ ทั้งนี้ สำหรับกรณีที่ได้ทรัพย์มาโดยผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิด หรือเป็นทรัพย์สินหาย จะได้รับโทษกึ่งหนึ่ง
2. ความผิดตามมาตรา 353 ยักยอกทรัพย์ในฐานะผู้ดูแลทรัพย์
จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีตัวอย่างเช่น ผู้จัดการร้านนำเงินในตู้นิรภัยไปใช้ส่วนตัว เจ้าหน้าที่การเงินโอนเงินบริษัทเข้าบัญชีตนเอง หรือผู้ดูแลทรัพย์สินนำทรัพย์ที่ดูแลไปขาย
3. ความผิดตามมาตรา 354 ยักยอกในฐานะผู้จัดการตามคำสั่งศาลหรือพินัยกรรม
ในกรณีนี้ผู้กระทำผิดจะได้รับโทษหนักขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เช่นในกรณีผู้จัดการมรดกนำทรัพย์มรดกไปเป็นของตน ผู้พิทักษ์ทรัพย์นำทรัพย์ของลูกหนี้ไปขาย หรือทนายความนำเงินที่ได้รับมอบหมายให้จัดการไปใช้ส่วนตัว
4. ความผิดตามมาตรา 355 ยักยอกทรัพย์มีค่าที่ซ่อนหรือฝังไว้
กรณีนี้ ผู้กระทำผิดจะได้รับโทษเบากว่ากรณีอื่น คือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ยกตัวอย่างเช่นในกรณีพบของโบราณในที่ดินแล้วไม่แจ้งทางการ ขุดพบทองคำโบราณแล้วนำไปขาย พบทรัพย์สินมีค่าของผู้อื่นที่ถูกฝังไว้แล้วเก็บไว้เอง
ในบางกรณี ศาลอาจพิจารณาเพิ่มโทษพิเศษหากพบว่า:
- ผู้กระทำความผิดมีหน้าที่พิเศษในการดูแลทรัพย์
- กระทำความผิดในฐานะผู้มีวิชาชีพที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน
- ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมูลค่าสูงหรือกระทบต่อสาธารณะ
- มีการวางแผนการกระทำความผิดอย่างซับซ้อน
ยักยอกทรัพย์ ยอมความได้ไหม
การยักยอกทรัพย์เป็นความผิดอาญาต่อส่วนตัว ดังนั้นจึงสามารถเจรจาได้ แล้วหากผู้เสียหายพึงพอใจก็ตกลงยอมความกันได้ ทั้งนี้หากต้องการดำเนินการฟ้องร้อง คดียักยอกทรัพย์จะนับอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 หรือก็คือต้องแจ้งความหรือฟ้องภายใน 3 เดือน นับแต่ทราบเรื่องและรู้ตัวผู้กระทำผิด หากปล่อยไว้จะถือว่าคดีความขาดอายุ และไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้
การไกล่เกลี่ยคดียักยอกทรัพย์
![[THAC] SEO JAN C04 3 1200x628](https://thac.or.th/wp-content/uploads/2025/03/THAC-SEO-JAN-C04-3_1200x628.jpg)
การไกล่เกลี่ยคดียักยอกทรัพย์เป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการระงับข้อพิพาท เนื่องจากช่วยประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายสำหรับทุกฝ่าย อีกทั้งยังช่วยรักษาความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีได้ดีกว่าการดำเนินคดีในชั้นศาล โดยการเตรียมตัวเพื่อการไกล่เกลี่ยมีดังนี้
1. เตรียมตัวก่อนไกล่เกลี่ย
ก่อนเริ่มกระบวนการไกล่เกลี่ย คู่กรณีควรเตรียมความพร้อมโดยรวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น
- หลักฐานการครอบครองทรัพย์
- เอกสารยืนยันความเป็นเจ้าของ
- หลักฐานการเสียหายและมูลค่าความเสียหาย
- เอกสารการติดต่อหรือทวงถามระหว่างคู่กรณี
นอกจากนี้ ควรมีการประเมินมูลค่าความเสียหายทั้งหมด รวมถึงค่าเสียหายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ดอกเบี้ยหรือค่าเสียโอกาส เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเจรจา
2. การเจรจาและทำสัญญาประนีประนอมยอมความ
การเจรจาเบื้องต้นเป็นขั้นตอนสำคัญของการไกล่เกลี่ยคดีอาญา โดยควรเริ่มจากการนัดหมายในสถานที่ที่เป็นกลางและเหมาะสม เพื่อเริ่มเจรจา หรือเลือกการประนีประนอม โดยแต่งตั้งตัวแทนหรือทนายความในการเจรจา ซึ่งจะช่วยให้การพูดคุยเป็นไปอย่างราบรื่น ในขั้นตอนนี้ ทั้งสองฝ่ายจะได้แสดงจุดยืนและความต้องการของตน รวมถึงเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้
เมื่อทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ในหลักการ ขั้นตอนต่อมา คือ การจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความ สัญญานี้ควรระบุรายละเอียดที่สำคัญทั้งหมด เช่น ข้อมูลของคู่กรณี รายละเอียดของทรัพย์สินที่พิพาท จำนวนเงินที่ตกลงชดใช้ วิธีการและระยะเวลาการชำระ รวมถึงเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น บทปรับกรณีผิดนัด หรือหลักประกันการชำระ และสัญญาดังกล่าวควรได้รับการลงนามโดยคู่กรณีและพยาน เพื่อให้มีผลผูกพันทางกฎหมาย
3. การดำเนินการหลังไกล่เกลี่ย
ในกรณีที่ทำการไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมหลังฟ้องร้องไปแล้ว ผู้เสียหายต้องดำเนินการเพื่อยุติคดี โดยทำหนังสือถอนคำร้องทุกข์และแจ้งต่อพนักงานสอบสวนเพื่อยุติการดำเนินคดี ในขณะเดียวกัน ควรมีการติดตามการปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างต่อเนื่อง โดยเก็บหลักฐานการชำระเงินและเอกสารที่เกี่ยวข้องไว้อย่างครบถ้วน หากมีการผิดนัดชำระ คู่กรณีสามารถใช้สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นหลักฐานในการดำเนินการทางกฎหมายต่อไปได้
การไกล่เกลี่ยที่ประสบความสำเร็จจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายพ้นจากคดีความและสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้ในอนาคต แต่หากการไกล่เกลี่ยไม่สามารถหาข้อยุติได้ คู่กรณีก็ยังคงมีสิทธิดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติ การตัดสินใจเลือกวิธีการระงับข้อพิพาทจึงควรพิจารณาจากสถานการณ์และความพร้อมของทุกฝ่ายเป็นสำคัญ
จะเห็นได้ว่าการยักยอกทรัพย์เป็นความผิดที่มีความซับซ้อน ทั้งในแง่กฎหมายและการพิสูจน์ความผิด การทำความเข้าใจถึงลักษณะความผิดและแนวทางการไกล่เกลี่ยจึงมีความสำคัญ หากเกิดข้อพิพาท การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายอย่าง THAC จะช่วยให้สามารถจัดการปัญหาได้อย่างราบรื่นและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
เกี่ยวกับ THAC
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงง่าย สะดวก และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
สนใจติดต่อ THAC ได้ทาง
อีเมล: [email protected]