EU ออกกฎควบคุมวัคซีนหลังโดนอังกฤษ “ไฮแจ็ควัคซีน”
เกิดเป็นข้อพิพาทจนเป็นประเด็นถกกันไปทั่วโลก ถึงการออกกฎควบคุมการส่งออกวัคซีนที่ผลิตในสหภาพยุโรปไปยังประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก หลังถูกบริษัทแอสตราเซเนกา จากอังกฤษงัดข้อ ส่งวัคซีนให้สหภาพยุโรป ( อียู ) ไม่ครบ จากที่ตกลงไว้ว่าจะส่ง 80 ล้านโดส ภายในสิ้นเดือน มี.ค. อาจลดเหลือเพียง 31 ล้านโดสในระยะแรก
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
บริษัทแอสตราเซเนกา หนึ่งในผู้ประกอบการด้านชีวเภสัชภัณฑ์รายใหญ่ระดับโลกจากอังกฤษ แจ้งเตือนไปยังสหภาพยุโรป ( อียู ) เมื่อช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ม.ค. ว่าจากเดิมที่เดิมทีแอสตราเซเนกาและอียูตกลงเรื่องการจัดส่งวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 80 ล้านโดส ภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ อาจลดลงเหลือเพียง 31 ล้านโดสเท่านั้น ขณะที่เป้าหมายระหว่างเดือน เม.ย.ถึง มิ.ย.นี้ หรือไตรมาสที่สองของปี กลับกลายเป็น “ไม่แน่นอน” อันเนื่องมาจาก “ปัญหาในการผลิต”
ซึ่งปัญหานี้ทำให้สหภาพยุโรป กล่าวหาว่า “แอสตร้าเซเนกา” นำวัคซีนที่จะต้องส่งมอบให้สหภาพยุโรปไปส่งมอบให้กับประเทศอื่นแทน ถึงขั้นที่สหภาพยุโรปกล่าวหาอังกฤษว่า “อังกฤษไฮแจ็ควัคซีน” พร้อมออกมาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนที่ผลิตในสหภาพยุโรปไปยังประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกอีกด้วย
เมื่อพิจารณาจากหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO) ในเรื่อง การค้าเสรี คือประเทศสมาชิกจะต้องไม่จำกัดการส่งออกและนำเข้า ยกเว้นมีความจำเป็นในบางกรณี จึงมีคำถามตามมาว่าการที่สหภาพยุโรปกำหนดมาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนโควิด-19 ขัดหลักการ ดังกล่าว หรือไม่ ซึ่งข้อพิพาทจากการจำกัดการส่งออกก็มีเกิดขึ้นบ้าง ที่เป็นข่าวดังก็มีหลายกรณี ตัวอย่างเช่น
1.กรณีประเทศจีนขึ้นภาษีส่งออกและกำหนดโควตาการส่งออก วัตถุดิบที่เป็นแร่ธาตุสำคัญ 12 ชนิด ซึ่งกรณีนี้สหภาพยุโรปเห็นว่าการที่ ประเทศจีนใช้มาตรการจำกัดการส่งออกวัตถุดิบแร่ธาตุนั้น อาจส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตจำนวนมาก ทั้งในสหภาพยุโรปเอง และไม่สอดคล้องกับหลักการการค้าเสรีและความตกลงภายใต้ WTO จึงดำเนินการตามกระบวนการ การระงับข้อพิพาทของ WTO โดยยื่นขอปรึกษาหารือกับประเทศจีนในเรื่องดังกล่าว เมื่อเดือน ก.ค.2559 แต่การปรึกษาหารือไม่เป็นผล สหภาพยุโรปจึงเสนอเรื่องขอให้องค์กรระงับข้อพิพาทจัดตั้งคณะผู้เจรจาพิจารณาเรื่องนี้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของคณะผู้เจรจา
2. กรณีการห้ามส่งออกไม้ ของยูเครนในปี 2558 ประเทศยูเครน ออกมาตรการห้ามส่งออกไม้ที่ยังไม่ได้ผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป 10 ชนิด สหภาพยุโรปได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการดังกล่าว จึงได้ยื่นเรื่องขอปรึกษาหารือกับฝ่ายรัฐบาลยูเครน แต่การปรึกษาหารือ ก็ไม่เป็นผล สหภาพยุโรปจึงเสนอเรื่องให้จัดตั้งอนุญาโตตุลาการ พิจารณาวินิจฉัย และเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด – 19 การพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการนั้น จึงใช้วิธีดำเนินการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และในวันที่ 11 ธ.ค. 2563 คณะอนุญาโตตุลาการจึงได้ทำคำตัดสินว่า การระงับการห้ามส่งออกไม้ของยูเครนไม่สอดคล้องกับความตกลงทวิภาคีระหว่างสหภาพยุโรปและยูเครน ที่กำหนดมิให้ใช้มาตรการในการห้ามการส่งออกสินค้า และมีคำสั่งให้ยูเครนปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการต่อไป
3. กรณีที่อินโดนีเซียกำหนดมาตรการควบคุมการส่งออกแร่นิกเกิล ที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตเหล็กไร้สนิม สหภาพยุโรปเห็นว่า ไม่สอดคล้องกับความตกลงแกตต์ 1994 ภายใต้ WTO จึงดำเนินการตามขั้นตอนของการระงับข้อพิพาทของ WTO โดยยื่นเรื่องขอปรึกษาหารือกับอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2562 แต่การปรึกษาหารือไม่เป็นผล กระทั้งวันที่ 14 ม.ค. 2564 สภาพยุโรปจึงดำเนินการยื่นเรื่องให้องค์กรระงับข้อพิพาทของ WTO จัดตั้งคณะเจรจาเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะผู้เจรจาเพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้จากการที่สหภาพยุโรปออกมาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนดังกล่าว องค์การอนามัยโลกก็ออกมาตำหนิว่าจะกระทบต่อการร่วมกันยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 และจากกรณีที่สหภาพยุโรปก็เคยโดนผลกระทบในการใช้มาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าของประเทศต่างๆ จนต้องใช้การระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศนั้นน่าจะเข้าใจความรู้สึกเป็นอย่างดี ฉะนั้นหากสหภาพยุโรปยังคงต้องการใช้มาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนตามที่ได้ประกาศไว้ ก็จะต้องถูกประเทศต่างๆที่ได้รับผลกระทบ ดำเนินการเรียกร้องตามกระบวนการ การระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก (WTO) เหมือนอย่างที่สหภาพยุโรปเคยเรียกร้องอยู่ดี
ติดตามข่าวสารอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ www.thac.or.th
ที่มา : https://shorturl.asia/VTli9