Facebook ไม่ยอม!! บล็อกทุกข่าวจากสื่อออสเตรเลีย
Facebook เริ่มเคลื่อนไหว บล็อกข่าวที่มาจากสื่อออสเตรเลีย หลังออสเตรเลียออกกฎหมาย Media Code เรียกเก็บเงินจากสื่อ ส่งผลให้ผู้ใช้งาน Facebook ในออสเตรเลียไม่ได้รับข่าวสารความเคลื่อนไหวภายในประเทศ
การเรียกเก็บเงินค่าคอนเทนต์และบังคับใช้กฎหมาย Media Code ของออสเตรเลีย ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีกระแสต่อต้านออกมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 Facebook ก็ออกมาเคลื่อนไหว ด้วยการเริ่มบล็อกข่าวสารที่มาจากสื่อออสเตรเลียทั้งหมดแล้ว ทั้งจากสำนักข่าวและช่องทางการเผยแพร่ข่าวสารจากของรัฐบาลออสเตรเลีย สังเกตได้จากการที่ หน้าเพจ Facebook ของสำนักข่าวต่าง ๆ ในออสเตรเลียนั้นเปิดมาแล้วเป็นหน้าจอว่างเปล่า ขณะที่เพจของสำนักงานท้องถิ่น เช่น เพจของสำนักงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและกรมอุตุนิยมวิทยา ก็ถูกบล็อกด้วยเช่นกัน
Paul Fletcher รัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสารของออสเตรเลีย ออกมาโต้ตอบผ่านทาง ABC News ว่า “ปฏิกิริยาในครั้งนี้ของ Facebook ร้ายแรงมาก และเตือนให้ Facebook พิจารณาถึงการโต้ตอบครั้งนี้ให้ดี เพราะจะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและจุดยืนของทาง Facebook เอง”
ด้านนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน กล่าวว่า “Facebook “อันเฟรนด์” กับออสเตรเลีย ด้วยการปิดช่องทางเข้าถึงข้อมูล และการติดต่อสื่อสารที่จำเป็น เป็นการดำเนินการที่หยิ่งผยอง และน่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง”
ซึ่งทาง Facebook เองก็เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า กฎหมายดังกล่าวไม่เป็นธรรมต่อ Facebook และอาจจะเปิดช่องทางให้ธุรกิจสื่อคิดค่าข่าวได้ตามอำเภอใจ และการออกกฎหมาย Media Code ของออสเตรเลียนั้น ไม่ได้มีส่วนช่วยธุรกิจสื่อของออสเตรเลียด้วยซ้ำ มีแต่จะทำให้เสียหายมากขึ้น และกฎหมายที่ออสเตรเลียต้องการบังคับใช้นั้น “เต็มไปด้วยความคลุมเครือ” เพราะยังไม่สามารถให้คำจำกัดความได้อย่างชัดเจนว่า “เนื้อหาข่าว” คืออะไร
การเคลื่อนไหวดังกล่าว ส่งผลให้ Facebook ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ในออสเตรเลีย เพราะชาวออสเตรเลียไม่มีแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือให้อ่านอีกต่อไปในช่วงเวลาที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาด อีกทั้งยังอยู่ในฤดูที่เกิดไฟป่าในออสเตรเลียอีกด้วย กระทรวงการสื่อสารในกรุงแคนเบอร์รา ออกแถลงการณ์ว่า รัฐบาลออสเตรเลียไม่ได้รับเอกสารแจ้งล่วงหน้า ว่า Facebook จะตัดสินใจแบบนี้ และตอนนี้ก็ได้เรียกร้องให้ Facebook กลับมาเชื่อมต่อระบบโดยเร็วที่สุด
อย่างไรก็ตามความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของ Facebook เกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่สภาผู้แทนราษฎรของออสเตรเลีย “อยู่ในขั้นตอนสุดท้าย” ของการพิจารณาและลงอนุมัติรับรองกฎหมาย ว่าด้วยการที่บริษัทเทคโนโลยีต้องบรรลุข้อตกลงเรื่องผลตอบแทนกับสำนักข่าว หรือผู้ผลิตเนื้อหาในประเทศ ก่อนนำข้อมูลไปเผยแพร่บนแพลตฟอร์มเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า โดยกฎหมายมีแนวโน้มได้รับความเห็นชอบสูงมาก เมื่อพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้าน ส่งสัญญาณสนับสนุน
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ผู้นำอังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส และอินเดียได้แสดงการสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าวของออสเตรเลีย ตอนนี้ทั่วโลกให้ความสนใจกับสิ่งที่ออสเตรเลียทำอยู่ นั่นคือเหตุผลที่เขาอยากให้ Facebook เข้ามามีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ เพราะพวกเขารู้ว่า สิ่งที่ออสเตรเลียจะทำนั้นมีแนวโน้มที่ชาติตะวันตกอื่น ๆ จะทำตามเช่นกัน
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายแห่ง เริ่มเข้ามาเจรจาเรื่องการจ่ายเงินให้กับเหล่าสำนักข่าวและสถานีโทรทัศน์ในท้องถิ่น เมื่อมีการนำคอนเทนต์ของสื่อเหล่านั้นไปใช้ และหากไม่สามารถบบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ คณะอนุญาโตตุลาการของรัฐบาลออสเตรเลียจะเข้ามาเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการกำหนดราคาคอนเทนต์เอง และเป็นผู้ตัดสินว่าข้อเสนอของฝ่ายใด “เหมาะสมกว่ากัน” เพราะหากมีการลงนามร่วมกันในข้อตกลงแล้ว บริษัทด้านเทคโนโลยีที่มีการระบุชัดเจนในกฎหมาย คือ Facebook และ Google เป็นฝ่ายละเมิดข้อตกลง อาจถูกฟ้องในคดีแพ่ง และต้องชำระค่าเสียหายซึ่งอาจสูงถึง 10 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 233.47 ล้านบาท)
ขณะเดียวกัน กฎหมายยังระบุให้ผู้ประกอบการเทคโนโลยีต้องแจ้งให้สำนักข่าวทราบล่วงหน้า หากจะมีการปรับเปลี่ยนระบบอัลกอริทึม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการแสดงผลของเนื้อหาข่าวบนแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ เจ้าของเครือข่ายสังคมออนไลน์และบริการสืบค้นต้องแบ่งปันข้อมูลเบื้องต้น เกี่ยวกับการใช้งานข้ออมูลของผู้บริโภค ที่เข้าชมเนื้อหาข่าวบนแพลตฟอร์ม ซึ่งในอนาคตอาจมีการเพิ่มชื่อผู้ประกอบการรายอื่น นอกเหนือจาก Facebook และ Google
นายสตีเวน กิลโบลต์ รัฐมนตรีกระทรวงมรดกแคนาดา เผยว่า แคนาดาจะนำแนวทางของออสเตรเลียมาใช้ เนื่องจากจะมีการออกกฎหมายของประเทศในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรของออสเตรเลียได้ลงมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวที่บังคับให้ Facebook และ Google ต้องจ่ายเงินให้บริษัทสื่อท้องถิ่นหรือเผชิญกับการอนุญาโตตุลาการโดยบังคับ และคาดว่าสมาชิกวุฒิสภาจะลงมติเห็นชอบภายในสัปดาห์หน้า ขณะเดียวกัน นายจอช ฟรายเดนเบิร์ก รัฐมนตรีคลังของออสเตรเลียระบุผ่านทวิตเตอร์ว่า เขาได้พูดคุยกับนายมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือ CEO Facebook เป็นครั้งที่สองหลังจากที่ Facebook ปิดกั้นเนื้อหาข่าวทุกชนิดในออสเตรเลีย และจะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งช่วงสุดสัปดาห์นี้
จากเรื่องราวที่เกิดขึ้น “สื่อใหม่” เข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในปัจจุบัน จนทำให้ “สื่อเก่าหรือสื่อกระแสหลัก” ต้องเริ่มมีการปรับตัว โดยเฉพาะรูปแบบการนำเสนอที่ต้องดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคได้มากกว่าเดิม ข้อมูลเบื้องต้นจากคณะผู้ตรวจการด้านสื่อออนไลน์ของออสเตรเลียระบุว่า เกือบ 1 ใน 3 ของเงินทุกๆ 100 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 2,333.36 บาท) ที่ใช้สำหรับการโฆษณาออนไลน์ ยกเว้นโฆษณาย่อย เข้ากระเป๋า Facebook และ Google จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ออสเตรเลียออกกฎหมาย Media Code เพื่อต่อต้านการผูกขาดทางการค้า เพื่อลดอำนาจของสื่อออนไลน์ที่เข้ามามีบทบบาทมากขึ้นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามรัฐบาลออสเตรเลียก็ยังยืนยันที่จะบังคับใช้กฎหมายนี้ต่อไป แม้จะโดนกระแสต่อต้านจากหลายฝ่ายก็ตาม ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.thac.or.th
ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/923192
https://www.dailynews.co.th/foreign/826081
https://www.naewna.com/inter/554133