รวมข้อสำคัญที่ควรรู้ ในการจ้างทนายไกล่เกลี่ยคดีแพ่งในชั้นศาล
คดีแพ่ง คือ คดีที่เกี่ยวกับการผิดสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างคู่พิพาทหรือบุคคลทั้ง 2 ฝ่าย และเกิดความเสียหายที่เป็นตัวเงิน เช่น คดีเช่าซื้อ คดีเช่าทรัพย์ คดีผิดสัญญา คดีกู้ยืมเงิน คดีมรดก เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นคดีที่มีโอกาสเกิดขึ้นบ่อย คดีแพ่งส่วนใหญ่จึงมักจบลงการจ้างทนายไกล่เกลี่ยและทำสัญญาประนีประนอมยอมความ อย่างไรก็ตาม หากคู่พิพาทไม่สามารถหาข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ อาจต้องดำเนินคดีต่อไปยังชั้นศาล โดยต้องมีการว่าจ้างทนายความและปรึกษาข้อกฎหมาย อีกทั้งยังมีรายละเอียดขั้นตอนต่างๆ มากมายที่ต้องศึกษาในการดำเนินการฟ้องร้อง
ในบทความนี้ THAC จะมาอธิบายถึงการจ้างทนายไกล่เกลี่ยคดีแพ่งในชั้นศาล เพื่อไม่ให้เสียเปรียบในการต่อรอง การทำสัญญา และให้สามารถรักษาผลประโยชน์ทางกฎหมายโดยไม่ถูกเอาเปรียบ แต่อันดับแรก มาทำความรู้จักกับการจ้างทนายไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องร้องต่อศาลกันก่อน
การจ้างทนายไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ก่อนฟ้องร้องต่อศาล
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ข้อพิพาทคดีแพ่ง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย ซึ่งหากคู่พิพาทสามารถตกลงกันได้ว่าจะไม่ดำเนินการคดีไปถึงชั้นศาลหรือมีการระบุข้อสัญญาการประนอมข้อพิพาทในสัญญา ก็สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนอกศาล ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 วิธี คือ การเจรจา, การไกล่เกลี่ย, การประนีประนอมข้อพิพาท และการอนุญาโตตุลาการ (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)
โดยกระบวนการไกล่เกลี่ยเหล่านี้มีข้อดี คือ ไม่มีการบันทึกในประวัติ ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลเปิดสาธารณะ มีความยืดหยุ่น ความตึงเครียดน้อย ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย และช่วยรักษาความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีได้ดีกว่าการฟ้องร้องต่อศาล
การดำเนินคดีในชั้นศาล กรณีไกล่เกลี่ยไม่ลงตัว
การเจรจาหรือจ้างทนายไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนับว่าเป็นทางเลือกที่สะดวกสบายกว่าการขึ้นศาล แต่ในความเป็นจริง มีหลายกรณีที่ทั้งสองฝ่ายหาข้อตกลงที่ลงตัวไม่ได้ อาทิ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเอาเปรียบอีกฝ่ายในข้อตกลง ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจในการต่อรองมากกว่า หรือคู่พิพาทไม่ปฎิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เป็นต้น จึงต้องมีการฟ้องศาลเพื่อใช้อำนาจศาลในการบังคับให้คู่กรณีปฏิบัติตามคำชี้ขาด
คดีแพ่งในชั้นศาลนั้นมีความซับซ้อนและขั้นตอนที่หลากหลาย ดังนั้นทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยต้องมีการเตรียมความพร้อมหลายด้าน และมีข้อต่างๆ ที่ควรรู้ก่อนจ้างทนายไกล่เกลี่ย ดังนี้
1.การจัดหาทนายความและปรึกษาข้อกฎหมาย
แน่นอนว่าอันดับแรกสุด คือ การจ้างทนายไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่มีความรู้ในประเด็นที่ฟ้องร้อง จากนั้นควรมีการบอกเล่าข้อเท็จจริงและประเด็นสำคัญเกี่ยวกับข้อพิพาท เพื่อปรึกษาทนายว่าสามารถแก้ไขด้วยกฎหมายได้อย่างไรบ้าง หรือข้อพิพาทดังกล่าวเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายใด สามารถร้องต่ออีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างไรบ้าง เป็นต้น รวมไปถึงปรึกษาในเรื่องของค่าใช้จ่าย ระยะเวลาการดำเนินคดี และความคุ้มค่าในการดำเนินการ ทั้งหมดนี้เพื่อให้ตัดสินใจได้ว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะดำเนินการต่อในขั้นตอนถัดๆ ไป
2.การเตรียมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน
หนึ่งในหน้าที่ของทนายความไกล่เกลี่ย คือ การเตรียมความพร้อมสอบข้อเท็จจริง เตรียมพยานหลักฐาน และเตรียมข้อกฎหมายให้พร้อม เราจึงควรเตรียมพร้อมที่จะเรียบเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็น ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร รวมถึงพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์นั้น อาทิ เอกสาร บุคคลที่รู้เห็น พยานวัตถุ ประวัติการแชทไลน์ คลิปวิดีโอ คลิปเสียง ฯลฯ
3.ระยะเวลาดำเนินคดีความ
เป็นที่เข้าใจกันดีว่าการดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานาน ในขั้นต้น เมื่อยื่นฟ้องคดีแล้ว ศาลจะกำหนดวันนัดพิจารณากคดีนัดแรก ไม่น้อยกว่า 45 วัน ซึ่งถือเป็นระยะเวลาการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยชอบด้วยกฎหมาย จะขึ้นอยู่กับปริมาณคดีและวันนัดของศาลที่ยื่นฟ้อง
ในวันนัดพิจารณาคดี หากจำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดี ศาลจะทำการไกล่เกลี่ย แต่ถ้าคู่ความตกลงกันไม่ได้ ศาลจะกำหนดประเด็นพิพาทและหน้าที่นำสืบ จากนั้นจึงกำหนดวันสืบพยานโจทก์จำเลยในนัดต่อไป ซึ่งอาจใช้เวลานานหลายเดือน สุดท้ายเมื่อสืบพยานโจกท์จำเลยเสร็จแล้ว ศาลจะนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้งในเวลาประมาณ 1-2 เดือน
โดยสรุป หากสามารถไกล่เกลี่ยเจรจาตกลงกันในชั้นศาลได้ การดำเนินคดีอาจใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน แต่ในทางกลับกัน หากมีการเจรจาหลายครั้งหรือตกลงกันไม่ได้ หรือจำเลยเลือกที่จะต่อสู้คดี คดีดังกล่าวอาจใช้เวลาตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปีเลยก็ว่าได้
จ้างทนายไกล่เกลี่ยราคาเท่าไหร่?
จ้างทนายไกล่เกลี่ย ราคาเท่าไหร่? ค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายเพื่อไกล่เกลี่ยคดีความในชั้นศาลนั้นแตกต่างกันไป โดยสามารถประเมินราคาเบื้องต้นตามรูปคดีความ ดังนี้
- คดีกู้ยืมเงิน ราคา 30,000 บาทขึ้นไป
- คดีจ้างทำของ 30,000 บาทขึ้นไป
- คดีละเมิด 30,000 บาทขึ้นไป
- ค่าทนายคดีในชั้นศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา 40,000 บาทขึ้นไป
นอกจากนี้ ยังมีค่าธรรมเนียมศาลคดีแพ่ง สำหรับคดีที่ทุนทรัพย์เกินกว่า 3 แสนบาท ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลศาล 2% (ค่าขึ้นศาลสูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท) สำหรับคดีแพ่งที่ทุนทรัพย์น้อยกว่า 3 แสนบาท เสียค่าขึ้นศาล 1,000 บาท และค่าส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย ซึ่งศาลจะกำหนดราคาขึ้นอยู่กับจำนวนจำเลยและระยะทางการส่งหมายเรียก
ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการเบื้องต้นเกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีแพ่งต่อศาลก่อนจ้างทนายไกล่เกลี่ยคดีพิพาทที่ควรรู้ ทั้งนี้การใช้กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกอาจเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากกว่า แต่การเตรียมตัวเผื่อเกิดกรณีฟ้องร้องก็เป็นสิ่งที่ควรทำเอาไว้
เกี่ยวกับ THAC
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
สนใจติดต่อ THAC ได้ทาง
อีเมล: [email protected]
โทร.: +66(0)2018 1615