
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ‘สัญญาเช่าซื้อ’ คืออะไร? สำคัญอย่างไร? ใกล้ตัวกว่าที่คิด!

ในการซื้อทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง เชื่อว่าหลายคนเลือกที่จะทำสัญญากับสถาบันทางการเงิน เช่น ธนาคารหรือบริษัทผู้ให้บริการสินเชื่อ เพื่อขอกู้ยืมเงินในการทำสัญญาซื้อขายกับเจ้าของทรัพย์ ทั้งนี้ ยังมีสัญญาอีกหนึ่งประเภทในการซื้อ-ขายทรัพย์ ชื่อว่า ‘สัญญาเช่าซื้อ’ ซึ่งหลายคนอาจเคยได้ยินหรือทำสัญญาลักษณะนี้มาแล้ว
ในวันนี้ THAC จะมาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับสัญญาเช่าซื้อว่า คือสัญญาอะไร มีลักษณะอย่างไรบ้าง และมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหนในการซื้อ-ขายทรัพย์สิน
สัญญาเช่าซื้อคืออะไร?
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๒ ระบุว่า ‘อันว่าเช่าซื้อนั้น คือ สัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว’
กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ว่า สัญญาเช่าซื้อ (Hire Purchase) คือ การที่ ‘ผู้เช่าซื้อ’ สามารถนำสินค้าหรือทรัพย์สินนั้นมาใช้สอยได้ก่อน โดยมีข้อตกลงว่า จะชำระค่างวดให้แก่เจ้าของทรัพย์สินหรือ ‘ผู้ให้เช่าซื้อ’ แต่จะยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นๆ จนกว่าจะจ่ายเงินค่างวดครบตามที่กำหนดในสัญญา

ยกตัวอย่างทรัพย์สินที่มีการทำสัญญาเช่าซื้อ
แน่นอนว่าพอมีการชำระค่างวด ทรัพย์สินในสัญญาเช่าซื้อมักจะมีมูลค่าสูง โดยสินค้าที่อาศัยการทำสัญญาเช่าซื้อในการซื้อ-ขาย คือ รถยนต์และจักรยานยนต์ ซึ่งหลายคนที่มีรถยนต์ส่วนตัวอาจคุ้นเคยกันดี หากอ้างอิงตามสัญญา ธนาคารหรือสถาบันทางการเงินผู้ออกสินเชื่อนั้นมีกรรมสิทธิ์เป็นผู้ให้เช่าซื้อ (เจ้าของรถยนต์) ส่วนเราเป็นเพียงผู้เช่าซื้อ ซึ่งสามารถนำรถยนต์มาใช้ก่อนและต้องชำระค่างวดจนครบกำหนด จึงจะได้กรรมสิทธิ์ครอบครองตามกฎหมาย
สัญญาเช่าซื้อจำเป็นต้องทำหนังสือไหม?
การเช่าซื้อนั้นจำเป็นต้องมีการทำหนังสือสัญญาชัดเจน เป็นการตกลงด้วยวาจาหรือปากเปล่าไม่ได้ เพราะจะเป็นโมฆะและไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ไม่สามารถบังคับคดีได้ ทั้งนี้ การทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อ ไม่จำเป็นต้องทำต่อหน้าหรือโดยเจ้าหน้าที่ สามารถทำเองระหว่างผู้ให้เช่าซื้อและผู้เช่าซื้อได้ แต่จำเป็นต้องมีการลงลายมือชื่อของทั้งสองฝ่าย ไม่เช่นนั้นจะถือว่าหนังสือสัญญาเป็นโมฆะเช่นกัน
หลักเกณฑ์ในการทำสัญญาเช่าซื้อมีอะไรบ้าง?
ในการเช่าซื้อ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายให้เช่าซื้อหรือผู้เช่าซื้อก็ตาม ควรคำนึงถึงหลักเกณฑ์สำคัญต่างๆ ก่อนร่างสัญญา เพื่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายและไม่เกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง ซึ่งมีทั้งหมด 5 ข้อ ได้แก่
- ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อ เป็นทรัพย์สินที่ซื้อขายกันได้ ไม่สามารถนำทรัพย์ของผู้อื่นมาให้เช่าซื้อได้
- ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องนำทรัพย์ของตนเองให้ผู้เช่าซื้อไปใช้ประโยชน์ และกรรมสิทธิ์จะตกเป็นของผู้เช่าซื้อเมื่อชำระเงินครบจำนวนตามที่ตกลง
- ผู้ให้เช่าซื้อให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์นั้นๆ แก่ผู้เช่าซื้อหรือให้ทรัพย์นั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เช่าซื้อ ไม่สามารถยึดคืนหรือยกเลิกไม่ให้ทรัพย์ระหว่างสัญญา ยกเว้นแต่ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่างวดติดต่อกันเกิน 2 เดือนหรือไม่จ่ายเงินตามตกลง
- ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ชำระค่างวดเป็นงวดๆ ตามที่ตกลงในสัญญาจนครบจำนวน
- ในการทำสัญญาเช่าซื้อจะต้องทำเป็นหนังสือ มีลายลักษณ์อักษร หากไม่ทำเป็นหนังสือจะถือว่าเป็นโมฆะ

‘สัญญาเช่าซื้อ’ กับ ‘สัญญาซื้อขาย’ แตกต่างกันอย่างไร?
สัญญาเช่าซื้อกับสัญญาซื้อขาย เป็นสัญญาที่ทำขึ้นเพื่อซื้อ-ขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้ากับเงินเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม สัญญาทั้งสองแบบนี้มีข้อแตกต่างกันอย่างชัดเจน ดังนี้
- การชำระเงิน – ในการเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะทำการผ่อนชำระตามจำนวนที่ตกลงโดยแบ่งเป็นงวดรายเดือน ส่วนการซื้อขาย เป็นการซื้อสินค้าโดยจ่ายเงินเต็มจำนวนเพื่อแลกกับสินค้านั้นๆ
- กรรมสิทธิ์ – การซื้อขายโดยปกติ ผู้ซื้อจะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นๆ โดยทันทีที่ชำระเงิน แต่หากทำการเช่าซื้อ กรรมสิทธิ์จะยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อจนกว่าผู้เช่าซื้อจะชำระเงินครบตามสัญญาระบุ
- ความจำเป็นในการทำสัญญา – หากต้องทำการซื้อขาย โดยทั่วไปแล้วไม่จำเป็นต้องทำหนังสือสัญญา เว้นแต่กรณีเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ ที่จะต้องมีการทำสัญญาซื้อขายมีแบบ ส่วนการเช่าซื้อ จำเป็นต้องมีการร่างหนังสือสัญญาเช่าซื้อ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย
ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๓ ผู้เช่าซื้อสามารถบอกเลิกสัญญาตอนไหนก็ได้ เพียงแต่ต้องส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้กับเจ้าของ ในทางกลับกัน มาตรา ๕๗๔ ก็ได้ระบุเอาไว้ว่าหากผู้เช่าซื้อทำผิดสัญญา โดยไม่จ่ายค่างวดติดกัน 2 เดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่าก็มีสิทธิในการยกเลิกสัญญาและยึดทรัพย์สินคืน พร้อมริบเงินที่ผู้เช่าซื้อชำระมาก่อนหน้านี้ได้
สัญญาเช่าซื้อสำคัญมากน้อยแค่ไหน?
การทำสัญญาเช่าซื้อ ถือเป็นหนึ่งทางเลือกในการซื้อสินค้าหรือครอบครองทรัพย์สินต่างๆ ที่มีมูลค่าสูง ซึ่งผู้ซื้ออาจไม่สามารถชำระเต็มจำนวนได้ภายในครั้งเดียว หรือต้องการนำเงินไปใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ นอกจากนี้ การเช่าซื้อจะมีการกำหนดค่าดอกเบี้ยแบบเงินต้นคงที่ (Flat Rate) ตลอดระยะเวลาเช่าซื้อ ช่วยให้ผู้เช่าซื้อสามารถวางแผนการเงินได้อย่างมีอิสระมากขึ้นและมั่นใจในการบริหารค่าใช้จ่าย
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าสัญญาเช่าซื้อนั้นมีความยืดหยุ่นและให้ประโยชน์แก่ผู้เช่าซื้อได้ในหลายด้าน อย่างไรก็ตาม ในการเช่าซื้อ ทั้งผู้ให้เช่าซื้อและผู้เช่าซื้อล้วนมีสิทธิและหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามสัญญา หากผู้เช่าซื้อผิดสัญญา ไม่จ่ายค่างวด จะถือว่ามีความผิดอาญาฐานยักยอกทรัพย์ ผู้ให้เช่าซื้อสามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้ ทั้งนี้ ก่อนจะถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล ผู้ให้เช่าซื้อและผู้เช่าซื้อสามารถเจรจา ไกล่เกลี่ย หรืออนุญาโตตุลาการเพื่อประนอมข้อพิพาทและหาทางออก ซึ่งทาง THAC ยินดีให้บริการคำแนะนำ รวมถึงบริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจากประสบการณ์และความชำนาญเพื่อความพึงพอใจทั้งสองฝ่าย
เกี่ยวกับ THAC
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
สนใจติดต่อ THAC ได้ทาง
อีเมล: [email protected]