กรณีใดบ้างที่ถือว่าสัญญาประนีประนอมไม่สมบูรณ์
หลังจากที่ได้กล่าวถึงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องแล้ว ในบทความนี้จะพามารู้จักการทำสัญญาประนีประนอม ซึ่งเป็นอีกขั้นตอนสำคัญที่จะระงับข้อพิพาทให้แล้วเสร็จ โดยจะมีการกล่าวถึงกระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท ปัจจัยที่ทำให้การไกล่เกลี่ยสำเร็จ สาเหตุที่ทำให้เมื่อไกล่เกลี่ยจะต้องมีการทำสัญญาประนีประนอม และกรณีใดบ้างที่สัญญาประนีประนอมถือเป็นโมฆะ
การไกล่เกลี่ยและประนีประนอมข้อพิพาท
เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นแล้ว คู่พิพาททางธุรกิจมักจะมองหาแนวทางระงับข้อพิพาทนอกศาลขึ้น เพื่อที่จะลดขั้นตอนที่ซับซ้อน รักษาความลับและความสัมพันธ์ ไม่มีประวัติ
และประหยัดเวลากว่าการขึ้นศาล โดยอาจเริ่มต้นจากการเจรจาต่อรองระหว่างกันโดยไม่มีคนกลาง หรือการจัดตั้งคนกลางเข้ามาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยหรือการเจรจาประนีประนอม ตลอดจนการอนุญาโตตุลาการซึ่งจะมีการให้คำชี้ขาดแก่คู่พิพาท ซึ่งบางครั้งกระบวนการเหล่านี้อาจจะระบุอยู่ในหนังสือสัญญาตั้งแต่แรกอีกด้วย
การไกล่เกลี่ยและประนีประนอมถือเป็นวิธีที่หลายๆคู่พิพาทเลือกใช้ เพราะจะมีการคัดเลือกคนกลางที่เปรียบเสมือนผู้ไกล่เกลี่ยหรือผู้ไกล่เกลี่ยเข้ามาค้นหาความพึงพอใจระหว่างคู่พิพาท และช่วยให้หนทางในการผสานความเข้าใจ แต่ผู้ไกล่เกลี่ยจะไม่ได้มีหน้าที่ชี้นำ ตัดสิน วินิจฉัย หรือให้คำชี้ขาดว่าคู่พิพาทฝ่ายใดถูกหรือผิด ซึ่งเคล็ดลับที่ทำให้การประนีประนอมสำเร็จคือ ผู้ไกล่เกลี่ย ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญในข้อพิพาทนั้นๆ และมีองค์ความรู้หลากหลายสาขา เช่น ด้านสัญญา ด้านพลังงาน การขนส่ง ฯลฯ และทักษะที่สำคัญก็คือการมีวาทศิลป์ในการพูดที่ดี มีทักษะการฟัง และสรุปจับใจความ สามารถควบคุมอารมณ์ ไม่ตัดสิน และมีความเป็นกลาง โดยอาจไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนด้านกฎหมายมาโดยตรงแต่มีความเข้าใจกฎหมายพื้นฐาน เพราะเมื่อไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว จำเป็นที่จะต้องดำเนินการจัดทำสัญญาประนีประนอมนอกศาล โดยผู้ไกล่เกลี่ยจะเป็นผู้ที่จะต้องดูแลสัญญาฉบับนี้ด้วย อย่างไรก็ตามในกรณีที่ไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ อาจมีการหาวิธีการอื่น เช่น การอนุญาโตตุลาการที่จะมีการให้คำชี้ขาดหรือการนำกลับเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องในชั้นศาล
ทำไมถึงต้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย?
เนื่องจากสัญญาประนีประนอมถือเป็นบันทึกสรุปเงื่อนไขสำคัญที่เกิดขึ้นในการตกลงหลังจากมีการไกล่เกลี่ย โดยจะแสดงถึงเจตนารมณ์ของคู่พิพาทที่ได้ตกลงระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นผ่านสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยภายหลังสามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องคดีได้ หากมีการละเมิดข้อตกลง และเป็นการป้องกันผู้ไกล่เกลี่ยที่อาจจะต้องเดินทางไปเบิกความต่อศาล ในกรณีที่มีข้อพิพาทจากการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่เกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งตัวอย่างข้อพิพาทที่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เช่น ข้อพิพาทเรื่องครอบครัว ข้อพิพาททางการเงินหรือการชำระหนี้ ข้อพิพาทเรื่องมรดก รวมถึงคดีอาญาสินไหมทดแทน ซึ่งเมื่อไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว จะเป็นเพียงสัญญาปากเปล่าอาจไม่มีผลทางกฎหมาย จึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินการจัดทำสัญญาประนีประนอมเพื่อให้มีผลทางกฎหมาย
กรณีใดบ้างที่ถือว่าสัญญาประนีประนอมไม่สมบูรณ์
สัญญาประนีประนอมถือเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ เพื่อให้สามารถนำไปฟ้องร้องบังคับคดีได้ หากไม่เป็นไปตามนั้นจะถือเป็นโมฆะและไม่สามารถนำฟ้องร้องบังคับคดีได้ ในกรณีดังนี้
- ไม่มีข้อความว่าระบุว่า “ทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งอื่นใดนอกจากที่ตกลงนี้/ไม่ติดใจดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาใดกันอีกต่อไป” และ “ทั้งสองฝ่ายได้อ่านและเข้าใจในข้อตกลงข้างต้นเป็นอย่างดีแล้วจึงได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานต่อหน้าพยาน” ในสัญญา ซึ่งแสดงถึงเจตนาว่าคู่พิพาททั้งสองต่างเห็นพ้องและตกลงให้ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นถูกระงับให้เสร็จสิ้นไป
- หากคู่พิพาทได้หาข้อตกลงรวมกันแล้วว่าจะยอมผ่อนผัน ข้อตกลงที่ทำร่วมกันจะต้องไม่ขัดต่อหลักความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่เป็นการพ้นวิสัย อย่างกรณีเช่น สัญญาประนีประนอมที่ทำขึ้นในข้อพิพาททางอาญาประเภทยอมความไม่ได้ จะถือเป็นโมฆะ
- คู่สัญญาไม่มีอำนาจในการทำสัญญา ได้แก่ ต้องไม่ใช่ผู้เยาว์ ไม่ใช่บุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ในกรณีที่มีผู้แทนเข้าร่วมการไกล่เกลี่ย อาจต้องตรวจสอบว่าได้รับมอบอำนาจแทนในการทำสัญญาประนีประนอม ไม่อย่างนั้นจะส่งผลให้สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นโมฆียะ
เพื่อให้การระงับข้อพิพาททางเลือกอย่างการไกล่เกลี่ยเป็นไปได้ดี การมีคนกลางเข้ามาช่วยผสานความเข้าใจระหว่างกัน จะสามารถอำนวยความสะดวกให้กับคู่พิพาททั้งสองฝ่ายได้ ซึ่ง THAC สถาบันอนุญาโตตุลาการ สามารถให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ และบริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก อย่างการไกล่เกลี่ย ประนอมข้อพิพาท และอนุญาโตตุลาการ เรามีบุคลากรที่ทรงคุณวุฒิ จากหลากหลายสาขาและเชื้อชาติเพื่อที่จะหาหนทางผสานความเข้าใจและจบความคัดแย้งอย่างสันติวิธี
เกี่ยวกับเรา
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย