
มาศึกษาเหตุผลสำคัญกันว่า “สัญญาซื้อขาย” นั้นสำคัญขนาดไหน?

เวลาที่อยากจะซื้อของตามปกติแล้วนั้น เพียงแค่เดินไป แจ้งความประสงค์ จ่ายเงิน ก็สามารถรับสินค้ากลับมาได้แล้ว แต่สงสัยกันหรือเปล่าว่าแล้วการซื้อสินค้าที่มีราคาสูงมากๆ อย่างอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนการซื้อสินค้าเพื่อการทำธุรกิจหรือการซื้อสินค้าระหว่างประเทศแล้วนั้น สิ่งสำคัญที่จะต้องมี คือ “สัญญาซื้อขาย” ดังนั้น THAC จะพาทุกคนมารู้จักสัญญาซื้อขาย ความสำคัญของสัญญาตัวนี้ และสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ
สัญญาซื้อขาย คืออะไร
สัญญาซื้อขาย หมายถึงสัญญาที่ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้ขาย” จะโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งที่เรียกว่า “ผู้ซื้อ” โดยผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย กล่าวคือการโอนกรรมสิทธิ์คือการโอนความเป็นเจ้าของทรัพย์สินเหล่านั้นให้แก่ผู้ซื้อ ทำให้ผู้ซื้อสามารถเป็นเจ้าของและใช้หรือได้รับประโยชน์ ตลอดจนนำไปขายต่อได้ ซึ่งตามปกติแล้ว การทำสัญญาซื้อขายหลังทำสัญญาเสร็จแล้ว จะถือว่ากรรมสิทธิ์ได้ถูกโอนให้แก่ผู้ซื้อทันที ถึงแม้ผู้ซื้อจะยังไม่ได้รับทรัพย์สินหรือยังไม่ได้ชำระเงิน ยกเว้นแต่ในสัญญาจะมีการระบุข้อยกเว้น เช่น เมื่อผ่อนชำระสำเร็จแล้วจึงโอนกรรมสิทธิ์ โดยลักษณะสัญญาซื้อขายนับเป็นนิติกรรมหลายฝ่ายหรือสัญญาต่างตอบแทน อย่างไรก็ตาม ผลทางกฎหมายของสัญญาซื้อขายจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการจดทะเบียนต่อหน้าเจ้าหน้าที่เท่านั้น ในกรณีที่ต้องการคืนเงินและการฟ้องร้อง คือ ผู้ขายจะต้องคืนเงินให้ผู้ซื้อ
ความแตกต่างระหว่างสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด vs สัญญาจะซื้อจะขาย
อย่างไรก็ตาม สัญญาซื้อขายยังมีประเภทย่อยอีก โดยแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
- คำมั่นว่าจะซื้อ เป็นหลักฐานที่เป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อ ฝ่ายที่ต้องรับผิดได้วางประจำ หรือได้ชำระหนี้บางส่วน สำหรับการซื้อขายเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ
- สัญญาจะซื้อจะขาย เป็นสัญญาคู่ที่มีเจตนาในการโอนกรรมสิทธิ์ให้กันภายหลังทำสัญญา
- สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เป็นสัญญาซื้อขายที่กำหนดตัวทรัพย์ซื้อขายที่แน่นอน โดยผู้ขายจะต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
กล่าวได้ว่าการแยกสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด ทำได้โดยพิจารณา 3 ประการ เริ่มต้นที่ “หลักกรรมสิทธิ์” เป็นตัวแบ่งแยกต้องพิจารณาว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นได้โอนไปแล้วหรือไม่ ถ้าโอนแล้วจะเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด และถ้ายังไม่โอนกรรมสิทธิ์ถือเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย ประการที่สอง คือ “การทำตามแบบ” หากมีการทำตามแบบสัญญาแล้ว คือสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แต่ถ้ายังไม่ทำตามแบบสัญญาจะถือเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย และประการสุดท้าย คือ “เจตนา” หมายถึงหากคู่สัญญาไม่ได้มีเจตนาที่จะมีการกระทำอะไรร่วมกันอีก คือสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด ในกรณีที่มีเจตนาที่ทำต่อ เช่น การทำหนังสือหรือจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่สำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ ถือเป็นสัญญาจะซื้อขาย
สัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ
สัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ เป็นสัญญาที่กระทำระหว่างคู่สัญญาที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในดินแดนของรัฐที่แตกต่างกัน โดยจะมีกรณีใดกรณีหนึ่ง คือ เมื่อสัญญานั้นเกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้า ในขณะที่ทำสัญญาสินค้านั้นอยู่ในระหว่างการขนส่งหรือถูกขนส่งจากดินแดนของรัฐหนึ่งไปยังอีกรัฐหนึ่ง หรือเมื่อคำเสนอและคำสนองได้กระทำในดินแดนต่างรัฐกัน ตลอดจนเมื่อมีการมอบสินค้าจะต้องกระทำในดินแดนของรัฐนอกเหนือไปจากดินแดนของรัฐที่ทำคำเสนอและคำสนอง
อย่างไรก็ตาม สัญญาซื้อขายระหว่างประเทศจะสำเร็จได้ จำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญในการทำสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ จะต้องมีการระบุสินค้า จำนวนและหน่วย ข้อตกลงในการส่งมอบสินค้า Incoterm ต่างๆ ราคาสินค้า รายละเอียดในการชำระเงิน กรรมสิทธิ์ การประกันภัยต่อการเสียหายหรือสูญหายระหว่างการขนส่ง ข้อกำหนดของรัฐบาล การระงับข้อพิพาท และกฎหมายที่จะนำมาบังคับใช้ ซึ่งจะมีหลากหลาย ทั้งกฎหมายภายในของประเทศผู้ซื้อและผู้ขาย รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศอย่างอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ ค.ศ. 1980 (The United Nations Convention on Contracts for the International Sale of Goods 1980 หรือ “CISG”)
สุดท้ายแล้ว หลายคนคงเข้าใจแล้วว่าสัญญาซื้อขายทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร ซึ่งใครที่กำลังหาวิธีการระงับข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นได้ สามารถที่จะระบุถึงการประนอมข้อพิพาทอย่างการไกล่เกลี่ยได้ ดังนี้ “ข้อพิพาทใดที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับสัญญาฉบับนี้ คู่สัญญาตกลงที่จะแก้ไข ปัญหาโดยวิธีการประนอมข้อพิพาทโดยใช้ข้อบังคับว่าด้วยการประนอมข้อพิพาทของสถาบันอนุญาโตตุลาการ ที เอช เอ ซี คู่สัญญาตกลงที่จะเข้าร่วมในการประนอมข้อพิพาทโดยมีเจตนาสุจริตและสัญญาว่าจะปฏิบัติตามข้อสัญญาที่เกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น” (ดูภาษาอื่นเพิ่มเติมได้ที่นี่) เพียงเท่านี้การทำสัญญาซื้อขายก็ถือเป็นอันสมบูรณ์
เกี่ยวกับเรา
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย