
การผ่อนชำระหนี้ทำอย่างไร ก่อนผิดนัดชำระจนถูกฟ้องร้อง?

เมื่อทำสินเชื่อเงินกู้กับธนาคารหรือสถาบันการเงิน แน่นอนว่าผู้กู้ย่อมมีฐานะเป็นลูกหนี้และมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตามข้อตกลง แต่ด้วยปัจจัยต่างๆ อาจทำให้ลูกหนี้มีรายรับลงน้อยลง รายจ่ายเพิ่มขึ้น ผ่อนชำระหนี้ไม่ไหวจนกลายเป็นหนี้เสีย (Non-Performing Loan: NPL) ซึ่งอาจเป็นการผิดสัญญากู้ยืม นำไปสู่การฟ้องร้องและยึดทรัพย์ในที่สุด
ผลกระทบของการผิดนัดชำระหนี้
การผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ อาจเกิดผลกระทบหลายประการที่เป็นผลเสียต่อตัวลูกหนี้เอง ยกตัวอย่างเช่น
- ค่าใช้จ่ายที่มากกว่าเดิม – เพราะทุกครั้งที่สถาบันการเงินทำการโทรติดต่อเพื่อสอบถามทวงหนี้ จะมีการคิด “ค่าติดตามทวงถามหนี้” ในอัตราของสถาบันการเงินนั้นๆ นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายในส่วนของ “ดอกเบี้ยผิดนัด” ที่เกิดจากการชำระหนี้ไม่ตรงตามเวลา ในอัตราไม่เกิน 3% ต่อปี
- เครดิตเสีย – สถาบันการเงินและธนาคารทุกแห่งจะรายงานข้อมูลการชำระหนี้ไปยังบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) หากมีประวัติชำระหนี้ล่าช้าหรือค้างชำระ ก็อาจทำให้ติดแบล็กลิสต์ (Blacklist) ทำธุรกรรมการเงินอื่นๆ ยากขึ้น
- ถูกฟ้องร้อง – หากค้างชำระหนี้เป็นระยะเวลานาน เจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินมีสิทธิตามกฎหมายที่จะยื่นคำฟ้องร้องต่อศาล เพื่อบังคับชำระหนี้ ซึ่งอาจต้องถึงขั้นจ้างทนายเพื่อต่อสู้คดีหรือไกล่เกลี่ยเพื่อประนีประนอมยอมความกันต่อไป ซึ่งเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
ดังนั้น หากเริ่มมีความติดขัดในการผ่อนชำระหนี้ ควรรีบดำเนินการหาวิธีไกล่เกลี่ยหนี้โดยเร็วที่สุด โดยหาทางออกร่วมกันกับธนาคารหรือสถาบันการเงินผู้เป็นเจ้าหนี้ ซึ่งในปัจจุบันมีวิธีปรับโครงสร้างหนี้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการขอพักชําระหนี้ ขยายเวลาชำระหนี้ รีไฟแนนซ์ และอื่นๆ เพื่อลดโอกาสผิดนัดชำระหนี้ ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
5 วิธีการผ่อนชำระหนี้ควรรู้ ก่อนปัญหาหนี้บานปลาย
ในการเลือกช่องทางการผ่อนชำระหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้สักรูปแบบหนึ่ง ลูกหนี้ควรศึกษาทางเลือกต่างๆ อย่างรอบคอบ และใช้วิธีที่เหมาะกับศักยภาพทางการเงินของตัวเองมากที่สุด ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหรือข้อขัดแย้งกับเจ้าหนี้ในภายหลัง โดยวิธีการผ่อนชำระหนี้มีดังนี้
1. ขยายเวลาชำระหนี้
คือ การเพิ่มระยะเวลาในการจ่ายหนี้ออกไปให้นานขึ้น ส่งผลให้ค่างวดหรือจำนวนเงินที่ต้องจ่ายต่อเดือนลดลง เช่น สัญญาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ฉบับเดิมระบุระยะเวลาการกู้อยู่ที่ 30 ปี คิดค่างวด 35,000 บาทต่อเดือน โดยเราผ่อนไปแล้ว 14 ปี แต่ผ่อนในจำนวนนี้ต่อไม่ไหว สามารถเจรจาออกไปจาก 6 ปีที่เหลือ เป็น 10 ปี เพื่อให้ยอดผ่อนชำระต่อเดือนลดลงต่ำกว่า 35,000 บาท
ทั้งนี้ สถาบันการเงินจะพิจารณายืดระยะเวลาจากรายได้และอายุของลูกหนี้ เพราะเป็นปัจจัยที่บ่งบอกถึงความสามารถในการชำระหนี้ ดังนั้น ลูกหนี้ที่ใกล้เกษียณอาจขอขยายเวลาได้น้อยกว่าลูกหนี้ที่อยู่ในวัยเพิ่งเริ่มทำงาน นอกจากนี้ ให้คำนึงเอาไว้ว่า เมื่อเวลาผ่อนชำระหนี้เพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเช่นกัน ท้ายที่สุด ลูกหนี้อาจต้องจ่ายเงินมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ในทีแรก
2. ขอลดอัตราดอกเบี้ย
การลดอัตราดอกเบี้ยจะทำให้ค่างวดรายเดือนลดลงและเงินที่จ่ายไปตัดเงินต้นมากขึ้น ชำระหนี้หมดไวขึ้น โดยธนาคารหรือสถาบันการเงินจะลดอัตราดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้แต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนอาจจะขอลดได้ 3 เดือน ส่วนบางคนได้ 6 เดือน หรือมอบเงื่อนไขอื่นๆ ซึ่งพิจารณาจากอายุ ประวัติการผ่อนชำระ และความสามารถในการชำระหนี้หลังปรับโครงปรุงสร้างหนี้ดังกล่าว
ฉะนั้น วิธีนี้จะเหมาะกับผู้ที่มีรายได้ลดลงหรือมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นชั่วคราวเท่านั้น หากมีเหตุให้รายรับลดลงเป็นระยะเวลานาน เช่น ถูกเลิกจ้างกะทันหัน อาจต้องพิจารณาวิธีผ่อนชำระหนี้แบบอื่นแทน
3. พักชำระหนี้ (พักชำระเงินต้น)
การพักชำระหนี้ นั้นไม่ได้เป็นการหยุดจ่ายค่างวดทั้งหมด แต่เป็นการหยุดชำระเงินต้นชั่วคราว โดยลูกหนี้จ่ายเพียงดอกเบี้ยที่ในแต่ละงวดเท่านั้น ซึ่งสถาบันการเงินมักพิจารณาพักชำระหนี้ประมาณ 3 – 6 เดือน เพื่อให้ลูกหนี้ที่มีรายรับลดลงได้ปรับตัวและกลับมาชำระหนี้ตามปกติ
อย่างไรก็ตาม ข้อสำคัญที่ควรคำนึง คือ การพักชำระหนี้หรือเงินต้น อาจส่งผลให้การชำระหนี้ในช่วงหลังเยอะขึ้น อีกทั้งอาจมีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เนื่องจากยอดเงินต้นไม่ได้ลดลงตามกำหนดเวลาเดิม หรือในกรณีที่สถาบันการเงินมองว่าลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้เลย อาจมีการพิจารณาชำระเงินต้นและดอกเบี้ย แต่ยังคงมีการคิดดอกเบี้ยอยู่ตลอดช่วงที่พักชำระและต้องจ่ายคืนทั้งหมด ซึ่งลูกหนี้ควรเจรจากับเจ้าหนี้ตามความสามารถในการจ่ายคืน
4. รีไฟแนนซ์ (Refinance)
การรีไฟแนนซ์ พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ “การเปลี่ยนเจ้าหนี้” หรือปิดหนี้จากเจ้าหนี้รายเดิมมาเป็นรายใหม่ หรือทำสัญญาใหม่กับเจ้านี้เดิมในข้อตกลงที่ดีกว่า (Retention) เช่น ได้ผ่อนชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยถูกลง ซึ่งหลายคนอาจคุ้นเคยกับการรีไฟแนนซ์บ้าน แต่ในความจริงสามารถทำได้กับหนี้ประเภทอื่นอย่างหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และหนี้รถยนต์ เป็นต้น โดยการรีไฟแนนซ์มักจะมีค่าใช้จ่ายบางส่วนเพิ่มขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นค่าจดจำนองหลักประกัน ค่าประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ค่าทำประกันใหม่ ซึ่งลูกหนี้ควรคำนวณอย่างรอบคอบว่าคุ้มค่ากับอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงหรือไม่
5. เปลี่ยนประเภทหนี้
กรณีที่หนี้ปัจจุบันเป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง เช่น บัตรเครดิตที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงสุด 16% ต่อปี หรือบัตรกดเงินสดในอัตราดอกเบี้ย 28% ต่อปี สามารถยื่นเรื่องกับสถาบันการเงิน เพื่อขอพิจารณาเปลี่ยนจากสินเชื่อหมุนเวียนที่อัตราดอกเบี้ยเป็นสินเชื่อแบบมีกำหนดระยะเวลาชำระ (Term Loan) ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยน้อยลง
ข้อควรคำนึงในการเปลี่ยนประเภทหนี้ คือ สินเชื่อแบบ Term Loan อาจกำหนดค่างวดรายเดือนมากกว่าค่างวดขั้นต่ำของบัตรเครดิต ซึ่งอาจทำให้ต้องจ่ายหนี้แต่ละงวดมากกว่าที่เคยจ่าย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับยอดค้างชำระและระยะเวลาของสินเชื่อ Term Loan
สรุป แม้จะค้างชำระหนี้ แต่หากเราไม่นิ่งนอนใจ ติดต่อเจ้าหนี้ ปรึกษาหาแนวทางการผ่อนชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ให้ตอบโจทย์สภาพทางการเงิน ก่อนที่หนี้และดอกเบี้ยผิดนัดจะเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นหนี้เสีย และนำไปสู่การดำเนินคดี
ทั้งนี้ หากลูกหนี้ต้องการขอไกล่เกลี่ยหนี้ ทางสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC) มีบริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทซึ่งเป็นกระบวนการยุติข้อพิพาทนอกศาล สามารถช่วยท่านไกล่เกลี่ย และช่วยแนะแนวทางข้อตกลงที่ยุติธรรมกับคู่พิพาท สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
เกี่ยวกับ THAC
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
สนใจติดต่อ THAC ได้ทาง
อีเมล: [email protected]