การแบ่งสินสมรสหลังหย่าร้าง ต้องทำอย่างไรให้ลงตัวทั้งสองฝ่าย?
เมื่อการตกลงปลงใจใช้ชีวิตร่วมกันไม่เป็นไปอย่างที่วาดฝัน หลายคู่ที่แต่งงานกันย่อมต้องเลิกรากันไป โดยแนวโน้มการหย่าร้างของคนไทยพุ่งสูงขึ้นทุกปี จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2555 ถึง 2564 มีจำนวนการหย่าร้างมากกว่า 1.1 ล้านคู่ จากปัจจัยต่างๆ เช่น ภาวะทางเศรษฐกิจ ความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงการไม่อยากมีพันธะทางกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่าในการหย่าร้างต้องมีการแบ่งสินสมรสระหว่างคู่สามี-ภรรยาอย่างเท่าเทียม
วันนี้ THAC จะมาแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายสินสมรส เพื่อให้การแบ่งสินสมรสเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งสองฝ่ายได้รับทรัพย์อย่างเท่าเทียม รู้สิทธิตนเองในกรณีฟ้องหย่าแบ่งสินสมรส
สินส่วนตัว vs. สินสมรส มีข้อแตกต่างอย่างไร?
ในทางกฎหมายสินสมรส ทรัพย์สินส่วนตัวและสินสมรสนั้นถูกแบ่งสิทธิการครอบครองอย่างชัดเจน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ) มาตรา ๑๔๗๐ ระบุว่า “ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา นอกจากที่ได้แยกไว้เป็นสินส่วนตัวย่อมเป็นสินสมรส” โดยสามารถแบ่งประเภทของทรัพย์สินได้ดังนี้
1. สินส่วนตัว
ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๗๑ ได้กำหนดรายละเอียดของทรัพย์สินส่วนตัวเอาไว้ ซึ่งสินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน…
- ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส
- ที่เป็นเครื่องใช้ส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องปะกับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
- ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา
- ที่เป็นของหมั้น
จะเห็นได้ว่าสินส่วนตัวนั้นเป็นทรัพย์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามรายละเอียดข้างต้น สามารถนำทรัพย์เหล่านั้นไปขายต่อ ให้กับผู้อื่น หรือกระทำการใดๆ ก็ได้ โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากอีกฝ่าย เนื่องจากไม่มีกรรมสิทธิ์ครอบครองร่วมนั่นเอง และไม่จำเป็นต้องแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวหลังการหย่าร้าง ซึ่งเป็นไปตามป.พ.พ. ๑๔๗๓ ที่ระบุว่า “สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ”
2. สินสมรส
ในส่วนของสินสมรส ป.พ.พ มาตรา ๑๔๗๔ ก็ได้กำหนดกฎเกณฑ์เอาไว้อย่างชัดเจน โดยสินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน…
- ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
- ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
- ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
นอกจากนี้ ยังมีระบุอีกด้วยว่า ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็น “สินสมรส”
สินสมรส แบ่งยังไง?
เมื่อเกิดการหย่าร้าง ข้อสงสัยที่ตามมาเป็นอันดับต้นๆ คือ สินสมรสแบ่งยังไง ซึ่ง ป.พ.พ. ได้ตอบคำถามนี้เอาไว้ในมาตรา ๑๕๓๓ ความว่า “เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน” พูดง่ายๆ ว่าทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องแบ่งทรัพย์สินเท่านั้นคนละครึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ที่ได้ระหว่างสมรส สินทรัพย์ที่ได้มาโดยพินัยกรรม ซึ่งระบุว่าเป็นสินสมรส หรือแม้กระทั่งดอกผลที่ได้ระหว่างสมรสก็ตาม
ทั้งนี้ กฎหมายสินสมรสก็เปิดโอกาสให้คู่สมรสสามารถตกลงรูปแบบ วิธีการ เงื่อนไข และข้อกำจัดในการจัดการทรัพย์สินได้เองตามที่ทั้งสองฝ่ายเห็นสมควร เพื่อกำหนดสิทธิ และหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายในกรณีที่เกิดการหย่าร้าง โดยสินสมรสที่สามีและภรรยาต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้ความยินยอมจากอีกฝ่าย ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๗๖ แบ่งเป็นรูปแบบต่างๆ ดังนี้
1. จัดการเกี่ยวกับทรัพย์ – การขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ต้องได้รับการยินยอมร่วมกัน
2. จัดการทรัพยสิทธิ – เช่น ภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
3. การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินสมรสเกิน 3 ปี – ต้องจัดการร่วมกัน แต่หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฝ่าฝืน เช่น สามีปล่อยเช่าบ้านให้ผู้อื่นโดยที่ภริยาไม่ให้ความยินยอม ในกรณีนี้ ภริยามีสิทธิฟ้องเพิกถอน เป็นต้น
4. การให้กู้ยืมเงินที่เป็นสินสมรส – แบ่งเป็น 2 กรณี คือ กรณีให้กู้ ต้องยินยอมร่วมกัน แต่กรณีไปกู้ ไม่ต้องยินยอมร่วมกัน เพราะถือเป็นหนี้ส่วนตัว ไม่ใช่หนี้สินสมรส
5. การให้โดยเสน่หา – ต้องได้รับความยินยอมจากทั้งสองฝ่ายเมื่อเป็นทรัพย์สินจำนวนมาก ยกเว้นในกรณี ที่ให้พอสมควรตามฐานะ ให้เพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่จรรยา
6. การเอาสินสมรสไปเป็นหลักประกัน – ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส
7. การประนีประนอมยอมความ – ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับสินสมรส จำเป็นต้องได้รับความยินยอมร่วมกัน มีลายมือชื่อของทั้งสองฝ่ายในหนังสือสัญญา
8. การมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย – ในกรณีที่ต้องการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างสมรส ทั้งสองฝ่ายจำต้องยินยอมร่วมกัน เพื่อให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยข้อพิพาทต่อไป
การแบ่งหนี้สมรสหลังหย่
นอกจากการแบ่งสินสมรสหลังหย่าแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๓๔ คู่สมรสต้องแบ่งความรับผิดชอบในหนี้ตามสัดส่วนเท่ากันให้ชัดเจน ทั้งนี้ การแบ่งหนี้สินเป็นการตกลงกันระหว่างคู่สมรส จะนำข้อตกลงในสลักหลังใบหย่า หรือบันทึกข้อตกลงไปบังคับใช้กับเจ้าหนี้ไม่ได้
การฟ้องร้องเพิกถอนนิติกรรม
ในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย เช่น เอาโฉนดที่ดินที่ได้มาในฐานสินสมรสไปจำนอง อีกฝ่ายสามารถดำเนินการฟ้องร้องตามมาตรา ๑๔๘๐ เพื่อขออำนาจศาลในการเพิกถอนนิติกรรมนั้นๆ ได้ ยกเว้นในกรณีที่ได้ให้สัตยาบันต่อนิติกรรมแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นโมฆียะ
โดยการฟ้องร้องเพิกถอนนิติกรรมต่อศาล ต้องทำภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่รู้เหตุ แต่ไม่สามารถฟ้องได้หากเกิน 10 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้ทำนิติกรรม
สรุปได้ว่า การแบ่งสินสมรสหลังหย่ามีข้อผูกพันเกี่ยวกับสัญญาทรัพย์สินหรือหนี้สินระหว่างคู่สามี-ภรรยา หากต้องการเพิกถอนสัญญาหลังจดทะเบียนสมรสหรือหลังหย่า จะทำได้ต่อเมื่อได้รับการอนุญาตจากศาลเท่านั้น ทั้งนี้ หากเกิดข้อพิพาทหรือการทำผิดสัญญาในการแบ่งทรัพย์สินสมรสหลังหย่า คู่สัญญาสามารถจ้างทนายไกล่เกลี่ยได้ เพื่อหาทางออก พร้อมแบ่งทรัพย์และหนี้อย่างลงตัวระหว่างสองฝ่าย ซึ่งทาง THAC ยินดีให้บริการคำแนะนำ รวมถึงบริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกรณีการแบ่งสินสมรสหลังหย่าด้วยความชำนาญ
เกี่ยวกับ THAC
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
สนใจติดต่อ THAC ได้ทาง
อีเมล: [email protected]