ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีล้มละลายและการฟื้นฟูกิจการ
ไกล่เกลี่ย แปลว่าอะไร? คำถามที่ผู้ประกอบธุรกิจหลายคนสงสัย แต่ก่อนอื่นเลยต้องขออธิบายว่า ความหมายของคำว่าการไกล่เกลี่ย ไม่ได้เป็นการตามหาชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่มีชัยชนะเหนือกว่าอีกฝ่าย แต่เป็นการชนะไปร่วมกันนั่นเอง ซึ่งการไกล่เกลี่ยถือเป็นการระงับข้อพิพาทที่สมัครใจทั้งสองฝ่ายในการหาบุคคลกลางเข้ามาช่วยหาทางออกอย่างสันติ โดยสามารถที่จะเลือกไกล่เกลี่ยได้ทั้งในกระบวนการชั้นศาลหรือนอกศาลได้ ซึ่งจะแตกต่างจากการอนุญาโตตุลาการที่เป็นการระงับข้อพิพาทนอกศาล โดยมีคนกลางที่ได้ถูกแต่งตั้งขึ้นมาและจะทำหน้าที่ในการให้คำตัดสิน เพื่อให้คู่พิพาทมีแนวทางในการปฏิบัติ จึงทำให้การไกล่เกลี่ยเป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศและในธุรกิจพาณิชย์ เพราะสามารถจบข้อพิพาทอย่างรวดเร็วโดยรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันไว้ได้
เมื่อมองในแง่ธุรกิจและเศรษฐกิจแล้ว การระงับข้อพิพาททางเลือกถือเป็นวิธีการที่ชาญฉลาด เพราะหากปล่อยให้คดีความเข้าสู่กระบวนการศาลแล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ การหยุดชะงักในการดำเนินธุรกิจและมีโอกาสที่เกิดจากความล่าช้าในการดำเนินการมากขึ้น ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ตัวเลข GDP ติดลบจากปัญหาเศรษฐกิจและพิษโควิด-19 แล้ว ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจขนาดใหญ่ ไปจนถึงผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง และธุรกิจขนาดย่อม SME ที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างนิเวศเศรษฐกิจไทยให้มีความหลากหลายโดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกันกว่า 35% ของ GDP รวมของไทย ทว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ขาดสภาพคล่องทางธุรกิจและบางแห่งจำเป็นต้องยุติกิจการไป ตลอดจนการถูกฟ้องร้องล้มละลายขึ้น ดังนั้นบทความนี้จะพาผู้อ่านทุกคนมารู้จักการไกล่เกลี่ยในคดีล้มละลายและการฟื้นฟูกิจการ ตัวอย่างการไกล่เกลี่ยคดีดังจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ และความสำคัญของการประนอมข้อพิพาทที่เข้ามาในคดีล้มละลาย
การไกล่เกลี่ยคดีล้มละลาย
กฎหมายล้มละลายถือเป็นกฎหมายแพ่งที่สร้างขึ้น โดยมีจุดประสงค์ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้ให้เสร็จสิ้นในคราวเดียว เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสตั้งตัวได้ใหม่ อย่างไรก็ตาม กฎหมายล้มละลายของไทยนั้นยังมีปัญหาในการดำเนินการให้ตรงตามเจตจำนงของกฎหมายล้มละลายที่ต้องการอยู่ เพราะการไกล่เกลี่ยในคดีล้มละลายนั้นเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากคดีล้มละลายนั้นเป็นคดีแพ่งที่เจ้าหนี้จะดำเนินการให้ศาลตัดสิทธิและเสรีภาพของลูกหนี้ เพื่อที่เจ้าหนี้จะฟ้องในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งตัวบทกฎหมายจะกำหนดให้ศาลพิจารณาว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจนต้องฟ้องร้องให้ล้มละลาย และศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้ โดยการให้เจ้าหน้าที่พนักงานพิทักษ์ทรัพย์ควบคุมกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ทำให้ลูกหนี้ไม่สิทธิกระทำการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของตนได้เลย ยกเว้นแต่ทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาลหรือพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น
นอกจากนี้ การไกล่เกลี่ยยังมีความยุ่งยากในกรณีที่มีเจ้าหนี้หลายคน เพราะการฟ้องร้องล้มละลายนั่นจะมีเจ้าหนี้บางส่วนที่ได้รับประโยชน์เท่านั้น จึงทำให้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททำได้ยาก อีกทั้งคดีฟ้องร้องล้มละลายนั้น ถือว่าส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมาก เพราะจะทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักตัว เนื่องจากต้องมีการรวบรวมทรัพย์สินต่างๆ ของลูกหนี้มาเข้าสู่กองทรัพย์สินคดีล้มละลายให้มากที่สุดและนำมาแบ่งสรรจัดส่วนให้เจ้าหนี้แต่ละราย รวมถึงคดีล้มละลายยังถือเป็นประโยชน์ของส่วนรวม จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่สามารถยอมความได้อีกด้วย เมื่อเกิดการตัดสินให้ล้มละลายจึงส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศมาก จึงทำให้ต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ล้มละลายและหาทางช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากหนี้สิน เช่น การประนอมหนี้ การปลดจากล้มละลาย ยกเลิกการล้มละลาย รวมถึงกระบวนการประนอมข้อพิพาทในระบบศาลล้มละลายกลาง ที่มีการนำระบบไกล่เกลี่ยมาใช้ระงับข้อพิพาทกับคดีล้มละลาย โดยข้อดีอย่างมากของการนำระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาใช้กับคดีสาขาของคดีล้มละลายคือ “ระยะเวลา” ในการรวบรวมจัดกิจการทรัพย์สินของลูกหนี้ที่เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ทำให้บรรดาเจ้าหนี้ได้รับการจัดสรรอย่างเป็นธรรม ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม แนวทางการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีล้มละลายนั่นสามารถที่จะขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายได้ โดยการยื่นคำข้อประนอมหนี้ก่อนการจัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเพื่อพิจารณาประนอมหนี้ ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหนี้และลูกหนี้สามารถที่จะเจรจาตกลงได้โดยชอบธรรม และหากตกลงได้ก็อำนวยความสะดวกต่อเจ้าหนี้ที่ไม่ต้องเป็นภาระในการดำเนินคดีต่อ ยิ่งหากเจ้าหนี้เห็นชอบกับมติ เจ้าหน้าที่จะทำเรื่องให้ศาลพิจารณาและศาลเห็นชอบกับคำประนอมหนี้ก็เท่ากับว่าลูกหนี้จะหลุดพ้นจากคดีล้มละลายได้
โดยหนึ่งในคดีล้มละลายชื่อดังในต่างประเทศอย่างคดี Purdue Pharma บริษัทผู้ผลิตยาเอกชนชื่อดังที่ถูกฟ้องล้มละลายจากข้อหาบิดเบือนศักยภาพของยาแก้ปวดประเภท Opioid OxyContin พร้อมกล่าวว่ามีผู้เสียชีวิตที่มีอาการเสพติดเกินขนาด จนในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 บริษัท Purdue Pharma ได้ถูกตัดสินและฟ้องล้มละลายในที่สุด การตัดสินให้ล้มละลายนั่นส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจสหรัฐและก่อให้เกิดข้อถกเถียงจำนวนมาก จึงทำให้ภายหลังศาลล้มละลายกลางได้สั่งรื้อฟื้นและสั่งเริ่มต้นการประนอมข้อพิพาทอีกครั้ง เพื่อเปลี่ยนแปลงข้อตกลงร่วมกัน พร้อมกันนี้ทางบริษัทยังคงหาแนวทางในการฟื้นฟูกิจการที่ล้มละลายต่อไป (อ่านเพิ่มเติม)
จะเห็นได้ว่าการยื่นบังคับคดีล้มละลายนั่นส่งผลต่อหลายฝ่ายอย่างมากและผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เพราะในหลายๆ กรณีที่เจ้าหนี้อาจไม่ได้มีความประสงค์ที่อยากได้ทรัพย์สินที่ยึดมาได้ ส่วนมากเจ้าหนี้และลูกหนี้จึงมักเลือกใช้กระบวนการฟื้นฟูธุรกิจมากกว่า ดังนั้นมารู้จักการฟื้นฟูธุรกิจ อีกทางเลือกในการไกล่เกลี่ยและเจรจากัน
การฟื้นฟูกิจการ อีกวิธีการในการไกล่เกลี่ยก่อนล้มละลาย
จากที่กล่าวมาเบื้องต้นจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า การฟื้นฟูกิจการกับการล้มละลายมีความหมายแตกต่างกันอย่างชัดเจน เพราะการล้มละลายคือการถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ในขณะที่การฟื้นฟูกิจการคือ ความพยายามในการรักษาให้กิจการยังคงสามารถดำเนินการได้ตามปกติ พร้อมเปิดโอกาสให้มีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และปรับปรุงโครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงาน และแผนธุรกิจให้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพผ่านทีมบริหารมืออาชีพที่เข้ามาร่วมดำเนินการ
ภายหลังกระบวนการฟื้นฟูธุรกิจได้มีการปรับปรุงเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กมากขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องเข้าสู่สภาวะหนี้สินล้นพ้น เพียงแค่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ภายในกำหนด หรือกระแสเงินสดไม่เพียงพอ ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ก็สามารถที่จะยื่นขอฟื้นฟูกิจการได้เลย ซึ่งเมื่อศาลรับคำร้องก็จะเข้าสู่สภาวะการพักการชำระหนี้หรือ Automatic Stay ขึ้น โดยเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ในการป้องกันการฟ้องร้อง บังคับคดี บังคับชำระหนี้ ซึ่งผู้ได้รับประโยชน์จากกระบวนการนี้ คือ “ทุกฝ่าย” ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้ที่สามารถพากิจการดำเนินการต่อได้ เจ้าหนี้ที่สามารถได้รับการชำระหนี้คืน ตลอดจนการช่วยรักษาการจ้างแรงงานในตลาดไว้ได้ ซึ่งตัวอย่างการไกล่เกลี่ยคดีดังอย่าง สหฟาร์ม บริษัท ผู้ส่งออกผลผลิตทางการเกษตรรายใหญ่ของไทย ที่เข้าสู่ภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงินและมีหนี้สินล้นพ้น เนื่องจากการขยายการลงทุนมากเกินไป จนทำให้ต้องปรับโครงสร้างหนี้ โดยเจ้าหนี้รายใหญ่คือ ธนาคารกรุงไทย ที่มีความประสงค์อยากให้ธุรกิจดำเนินการต่อ ทำให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและแต่งตั้งให้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด (EY) เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งในเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 ได้มีการยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายเพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เพราะในปีที่ผ่านมาสหฟาร์มได้มีกำไรจากการส่งออกและนำมาชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้รายใหญ่ได้ หรือจะเป็นในกรณีของนกแอร์ (Nok Air) ที่หลังเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ได้ยื่นขออนุมัติแผนฟื้นฟูธุรกิจเนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และได้รับการอนุมัติจากศาลล้มละลายกลางแล้ว คาดการณ์ว่าจะส่งผลให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลโดยตรงกับการบริหารและการจัดการเที่ยวบิน การคืนเงินค่าบัตรโดยสารแก่เจ้าหนี้
สำหรับกรณีนกแอร์ จะเห็นได้ชัดเลยว่าก่อนที่จะที่ดำเนินการยื่นแผนฟื้นฟู ได้มีการใช้กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกอย่างการอนุญาโตตุลาการเข้ามาเปิดพื้นที่ให้คู่พิพาทได้เจรจาพูดคุย เสนอแนะแนวทาง ซึ่งกระบวนการนี้ดำเนินการอย่างเป็นอิสระและเป็นเอกเทศ พร้อมยังเป็นกระบวนการที่มีการรักษาความลับ ไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน ไม่มีการแทรกแซงจากหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งกระบวนการอนุญาโตตุลาการยังมีการให้คำชี้ขาดที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติต่อในอนาคตอีกด้วย
กล่าวได้ว่ากระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก ไม่ว่าจะเป็นการเจรจา การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หรือแม้แต่การอนุญาโตตุลาการ เป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้เจ้าหนี้และลูกหนี้หันหน้าเข้ามาเจรจาต่อรองถึงความต้องการกันได้โดยไม่อยู่ภายใต้สถานการณ์กดดัน ซึ่งในหลายๆ กรณีก็ช่วยระงับข้อพิพาทที่ไม่จำเป็นจะต้องให้เรื่องไปถึงศาลได้ ย่นระยะเวลาหรืองบประมาณได้ ทำให้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ไปจนถึงธุรกิจระหว่างประเทศมักมีการระบุกระบวนการระงับข้อพิพาทอย่างการไกล่เกลี่ยหรืออนุญาโตตุลาการ ที่เป็นการสรรหาบุคคลกลางเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการระงับข้อพิพาทนั่นเอง (ค้นหาข้อสัญญาการประนอมข้อพิพาทของ THAC ที่นี่) อย่างไรก็ตาม หากในหนังสือสัญญาไม่ได้มีการระบุวิธีการระงับข้อพิพาททางเลือกไว้ หากคู่พิพาทต่างมีความประสงค์ที่จะดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ก็สามารถที่จะคัดสรรบุคคลกลางเข้ามาช่วยดำเนินการได้ โดยทาง THAC สถาบันอนุญาโตตุลาการก็มีบัญชีรายชื่อผู้ประนอมข้อพิพาทและอนุญาโตตุลาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ มากประสบการณ์ จากหลากหลายเชื้อชาติให้บริการ ค้นหาที่นี่
เกี่ยวกับเรา
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย