Mediation : Aspect in Thailand
การประนอมนั้นมีกฎหมายพื้นฐาน (Lex generalis) อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการประนีประนอมยอมความในมาตรา 850-852 ซึ่งมี ความว่า
อันว่าประนีประนอมยอมความนั้น คือ สัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน
มาตรา 850
อันสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ถ้ายังมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลายมือชื่อตัวแทนฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
มาตรา 851
ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน
มาตรา 852
บทบัญญัติในประมวลกฎหมายนั้น หากวิเคราะห์ดูจะเห็นว่า หลักการพื้นฐานของการประนอมนั้นอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพในการตกลงยินยอมพร้อมใจที่จะระงับข้อพิพาททางแพ่งและพาณิชย์ด้วยตัวของคู่กรณี โดยข้อสำคัญคือ ผลของการประนอมคือ การเปลี่ยนความขัดแย้งกลายเป็นข้อตกลงที่เป็นหนังสือ ทั้งนี้เพื่อให้มีการบังคับกันได้ หากมีการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอม ซึ่งตัวบทบัญญัติที่กล่าวมาไม่ได้กำหนดถึงวิธีการประนอมข้อพิพาทไว้
อย่างไรก็ตาม สถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC) ซึ่งเป็นหน่วยงานของประเทศไทยในการให้บริการแก่ประชาชน ในการประนอมข้อพิพาท (Mediation) ดังนั้น ทาง THAC จึงได้ออกกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการประนอมข้อพิพาทในเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ทั้งภายในประเทศ, ระดับ International Corporations และเชิงธุรกิจ SME ไว้ ซึ่งเน้นแนวทางของ UNCITRAL Model Law on International Commercial Mediation and International Settlement Agreements Resulting from Mediation เป็นพื้นฐาน
ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ได้มีกฎหมายอีกฉบับที่เกี่ยวข้องกับการไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาท คือ พระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 (Mediation Act B.E. 2562) อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายเพื่อการประนอมข้อพิพาทในคดีแพ่งเล็กๆน้อยๆ ซึ่งมีทุนทรัพย์ (Sum in dispute) ไม่เกินห้าล้านบาท ในชุมชนท้องถิ่นของประเทศไทย อย่างเช่น อบต เทศบาลหรือเมืองพัทยา เป็นต้น แต่สำหรับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้าไม่ว่าจะเป็น SME หรือ ขนาดเป็นบริษัทใหญ่ ทาง THAC ไม่ได้จำกัดทุนทรัพย์ไว้และโดยกฎกติกาการประนอมข้อพิพาทของ THAC นั้นมีพื้นฐานจาก UNCITRAL ซึ่งสำหรับธุรกิจต่างชาติแล้ว บริการของ THAC น่าจะเหมาะสมกับธุรกิจต่างชาติมากกว่า
การประนอมข้อพิพาททางธุรกิจโดย THAC แม้จะมีข้อดีในแง่ มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีและผู้ประนอมข้อพิพาทของ THAC มีความเข้าใจในธุรกิจการค้าและการระงับข้อพิพาททางเลือก หรือ Alternative Dispute resolution (ต่อไปในบทความนี้จะเรียกว่า “ADR”) ตามแนวทางของ UNCITRAL และหากคู่พิพาทยอมตามสัญญาประนีประนอมทีทำกันไว้ นั่นคือจบปัญหา แต่ก็มีข้อสังเกตบางประการในเรื่องการบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งหากคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอม อาจมีการฟ้องคดีต่อศาลไทย และศาลไทยจะดำเนินกระบวนการพิจารณาในเนื้อหาสาระของสัญญาประนีประนอมใหม่อีกรอบ ศาลไทยจะไม่บังคับตามสัญญาให้ทันที ซึ่งมีโอกาสที่จะสู้คดียาวนานถึง 3 ศาล ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ จนกระทั่งถึงศาลฎีกา นับได้ว่าเป็นปัญหาที่ทางการนิติบัญญัติของไทยต้องทำการแก้ไขอย่างเป็นระบบหากจะต้องการให้มีการประนอมข้อพิพาททางธุรกิจที่เป็นระบบและยอมรับในระดับนานาชาติมากกว่านี้ แต่อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ หากว่าการประนอมข้อพิพาทเช่นว่านั้น อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ THAC หรือดำเนินการโดยหน่วยงานซึ่ง THAC ทำความตกลงไว้ด้วย รวมทั้งมีความตกลงของคู่พิพาทให้สัญญาประนีประนอมยอมความ เช่นว่านั้นมีสถานะและผลเช่นเดียวกับคำชี้ขาด ก็อาจแก้ปัญหาได้โดยการนำเรื่องเสนอให้อนุญาโตตุลาการเพียงคนเดียวของ THAC เพื่อทำการชี้ขาดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ผ่านทางข้อบังคับสถาบันอนุญาโตตุลาการว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่เกิดจากกระบวนการประนอมข้อพิพาท พ.ศ.2560 ทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการของประเทศไทย สามารถยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้บังคับคำชี้ขาดได้ ซึ่งค่อนข้างรวดเร็วและไม่มีข้อยุ่งยากมากนักหากเทียบกับการฟ้องคดีโดยขั้นตอนของศาลตามปกติ ซึ่งเป็นทางออกในทางปฏิบัติที่รวดเร็วเท่าที่เป็นไปได้
ตรงกันข้าม ในคดีแพ่งเล็กๆน้อยๆ ตาม พระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 (Mediation Act B.E. 2562) สามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลไทยเพื่อให้บังคับตามสัญญาประนอมระงับข้อพิพาทได้ ทันที หมายความว่า ไม่ต้องมีการฟ้องต่อศาลอีกรอบแบบขั้นตอนการฟ้องตามปกติ ขั้นตอนอาจมีศาลชั้นต้นที่รับคำร้องขอและ ศาลอุทธรณ์ในกรณีต้องมีการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น และคำสั่งศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด
ข้อสังเกตอีกประการมีอยู่ว่า หากนักธุรกิจต่างชาติต้องการใช้การประนอมข้อพิพาทตาม พระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 (Mediation Act B.E. 2562) เพราะ เรื่องที่พิพาทเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ ได้หรือไม่ ซึ่งทำได้ แต่มีข้อควรคิดถึง บางประการกล่าวคือ 1 ความเชี่ยวชาญที่เข้าใจในธุรกิจของท่านของ Mediator 2 คือ facility สิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่ง ณ ตรงนี้ ทาง THAC มีความพร้อมอยู่แล้ว ที่สำคัญทาง THAC มีแผนพัฒนาการประนอมข้อพิพาททางอิเล็กทรอนิกส์ ในสถานการณ์การระบาดของโรค COVID 19 ทาง THAC ก็พร้อมในการต้อนรับด้วยการอำนวยความสะดวกสำหรับทุกคนที่เข้ามาใช้บริการ ADR ของ THAC ที่สำคัญค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของ THAC ไม่สูงมากนักหากเทียบกับศูนย์หรือสถาบันอนุญาโตตุลาการชั้นน้ำแห่งอื่น
สุดท้าย สำหรับ The Singapore Convention on Mediation หรือที่ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า the United Nations Convention on International Settlement Agreements Resulting from Mediation 2019 ประเทศไทยยังไม่ได้เป็นภาคี ดังนั้นข้อตกลงการประนอมข้อพิพาทในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องยากที่จะบังคับในต่างประเทศ (regarding the recognition of mediated settlements) และในทำนองเดียวกันข้อตกลงประนอมข้อพิพาทที่ทำขึ้นในต่างประเทศการจะบังคับในประเทศไทยก็ยังทำได้ยาก เช่นกัน ส่วนของประเทศไทยเอง ยังไม่มีการพูดถึงการเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญานี้อย่างจริงจัง ผู้เขียนค่อนข้างจะเห็นด้วยที่จะเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญานี้ เพื่อให้เหมือนกับการที่ประเทศไทยเป็นภาคีของ The Convention on the Recognition and Enforcement of Foreign Arbitral Awards หรือที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายภายใต้ชื่อ the New York Convention 1958 ทั้งนี้เพื่อทำให้พัฒนาการของ ADR ในประเทศไทยเป็นระบบที่สากลมากขึ้น