ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีครอบครัว ยุติและรักษาความลับอย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้น การขึ้นโรงพักหรือดำเนินคดีต่อศาลคือทางออกที่หลายฝ่ายมักใช้ ซึ่งนำมาสู่การตัดสินคดีที่เที่ยงตรง แต่ก็อาจจะต้องแลกมากับความสัมพันธ์หรือการเปิดเผยความลับ ซึ่งอาจส่งผลต่อสภาพจิตใจหรือร่างกายของคู่พิพาท ยิ่งในคดีครอบครัวที่มีประเด็นละเอียดอ่อนแล้ว หลายฝ่ายจึงมักเลือกวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมากกว่า ดังนั้น THAC จะมาอธิบายว่าทำไม “คดีครอบครัว” ถึงต้องเลือกการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้วย
คดีครอบครัว
หนึ่งในข้อพิพาทที่มีความละเอียดละอ่อนและความซับซ้อนอย่างมาก เพราะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ภายในครอบครัวหรือผู้เยาว์ ซึ่งเป็นคดีแพ่งที่ฟ้องหรือร้องขอต่อศาล นอกจากนี้ ในบางข้อพิพาทที่เกิดขึ้นยังเป็นส่วนหนึ่งในคดีอาญา อย่างกรณีการทำอนาจาร การกักขังหน่วงเหนี่ยว การบุกรุกสถานที่ ซึ่งเป็นคดีอาญายอมความไม่ได้ ทำให้เมื่อเกิดข้อพิพาทแล้ว การพิจารณาและพิพากษาคดีจะมีรายละเอียดที่แตกต่างจากคดีแพ่งและอาญาทั่วไป
วิธีการระงับข้อพิพาทคดีครอบครัว
สำหรับการระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับคดีครอบครัว สามารถดำเนินการได้ โดยเริ่มต้นจาก
1. การเจรจา
เป็นการเปิดโอกาสให้คู่พิพาทได้พูดคุยและเจรจาโดยตรง ไม่มีคนกลางเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งหากเจรจาสำเร็จสามารถที่จะระงับข้อพิพาทได้ แต่ในกรณีที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากกว่า เช่น พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ การเจรจาอาจเป็นทางเลือกที่ไม่เหมาะสมนัก
2. การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
คือ การแต่งตั้งคนกลางขึ้นมาช่วยอำนวยความสะดวกในการเจรจาระหว่างคู่พิพาท โดยคนกลางจะไม่มีอำนาจในการชี้นำ แต่การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจะเปิดพื้นที่ให้คู่พิพาทพูดถึงความต้องการและหนทางยุติข้อพิพาทร่วมกัน ซึ่งหากตกลงร่วมกันได้จะมีการทำสัญญาประนีประนอมขึ้น หากไม่สามารถสรุปผลได้สามารถที่จะดำเนินการต่อด้วยอนุญาโตตุลาการหรือการฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งสามารถเลือกไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้กับทั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยรัฐบาลและหน่วยงานอื่นๆ เช่น THAC
3. การขึ้นศาล
ถือเป็นขั้นตอนที่หลายฝ่ายมักนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ แต่สำหรับคดีครอบครัวแล้ว ศาลจะต้องมีการตั้งผู้ประนีประนอมขึ้นเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกันก่อนเบื้องต้นก่อนนำสืบพยาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่มีผู้เยาว์เกี่ยวข้อง ศาลจะต้องแจ้งแก่ผู้อำนวยการสถานพินิจฯ ในเขตอำนาจที่ผู้เยาว์อยู่อาศัยและฟังความคิดเห็นของผู้อำนวยการฯ ในก่อนมีคำพิพากษาและคำสั่ง อีกทั้งคดีครอบครัวที่มีผู้เยาว์เกี่ยวข้องจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คนและผู้พิพากษาสมทบอย่างน้อย 2 คนในการดำเนินการ
กล่าวได้ว่า คดีครอบครัวเป็นรูปแบบคดีที่มีความอ่อนไหวมาก หากมีการดำเนินการในชั้นศาลก็อาจจำเป็นต้องเปิดเผยความลับต่อสาธารณะ และระยะเวลาในการดำเนินการที่ยาวนานอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ได้ จึงทำให้การระงับข้อพิพาททางเลือกนอกศาลอย่างการ “ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท” ได้รับความนิยมมากกว่า
ทำไมถึงต้องไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดี
การระงับข้อพิพาทในครอบครัว (FDR – Family Dispute Resolution) เป็นการเปิดพื้นที่ให้คู่พิพาทได้พูดคุยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่หย่าร้างที่จะต้องมีการแบ่งทรัพย์สินและสิทธิในการดูแลบุตร ทำให้การระงับข้อพิพาทด้วยการไกล่เกลี่ยเป็นวิธีที่หลายคนนิยม เพราะการมีคนกลางเข้ามาช่วยพูดคุยสามารถทำให้คู่พิพาทบรรลุข้อตกลงต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ยิ่งในประเด็นที่ละเอียดอ่อน เกี่ยวข้องกับอารมณ์และความผูกพัน ก็สามารถที่จะหาหนทางที่มีความยืดหยุ่นและพึงพอใจร่วมกันได้ ซึ่งข้อดีของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเกี่ยวกับคดีครอบครัว คือ ข้อตกลงที่เกิดขึ้นคือความพึงพอใจระหว่างกัน แต่ข้อตกลงเหล่านั้นต้องไม่ละเมิดกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประเทศ การดำเนินการเป็นไปอย่างยืดหยุ่นจึงไม่สร้างความตึงเครียดและสามารถกำหนดขั้นตอนได้ รักษาความสัมพันธ์ระหว่างกัน อีกทั้งยังช่วยลดภาระงานศาล เพราะคู่พิพาทไม่จำเป็นต้องขึ้นศาลที่มีความตึงเครียด และอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงหรือระยะเวลาในการดำเนินที่ยาวนานในบางกรณีอีกด้วย
สำหรับใครที่สนใจการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ในปัจจุบันนี้ก็มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ขึ้นเพื่อตอบรับกับวิถีชีวิต New Normal ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถเลือกใช้บริการได้ โดยเหมาะกับคดีรอบครัวที่มีประเด็นไม่ยุ่งยากซับซ้อน เป็นการฟ้องค่าเสียหายหรือค่าอุปการะเลี้ยงดู มีคู่ความจำนวนไม่มาก และไม่เป็นคดีที่มีผู้เยาว์มีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้อง โดยจะมีการดำเนินการอย่างเป็นความลับ หากไกล่เกลี่ยสำเร็จสามารถที่จะทำสัญญาประนีประนอมได้ แต่ในกรณีที่ตกลงกันไม่ได้ ผู้ประนีประนอมจะทำการบันทึกรายงานผลการไกล่เกลี่ยเพื่อส่งสำนวนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาต่อไป
สุดท้ายนี้ ทุกคนคงทราบแล้วว่าทำไมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสามารถยุติความคัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยรักษาความลับและความสัมพันธ์ได้อย่างดี ซึ่งใครที่สนใจการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนอกศาล สามารถติดต่อ THAC ได้ที่นี่
เกี่ยวกับเรา
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
สนใจติดต่อ THAC ได้ที่ อีเมล [email protected] หรือ โทร +66(0)2018 1615