ถอดบทเรียนแนวทางการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง
การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นหนึ่งในกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกที่หน่วยงานยุติธรรมส่งเสริม อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าทุกข้อพิพาทจะสามารถพิจารณาไกล่เกลี่ยได้ ดังนั้นในบทความนี้ ทาง THAC จะพาทุกคนมารู้จักการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง พร้อมถอดบทเรียนการไกล่เกลี่ยในคดีปกครองระหว่างการทาง-BEM
การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง คืออะไร
หนึ่งในลักษณะของคดีปกครอง คือมีสถานะของคู่พิพาทที่ไม่เท่าเทียมกัน เพราะฝ่ายหนึ่งคือหน่วยงานปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่มีโอกาสเข้าสู่พยานหลักฐานมากกว่า และการกระทำของฝ่ายปกครองจะกระทำได้ต่อเมื่อมีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้ ซึ่งการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองเกิดขึ้นเพื่อให้คู่กรณีที่พิพาทกันมีทางเลือกในการระงับข้อพิพาทและช่วยให้สามารถยุติข้อพิพาทด้วยความเรียบง่าย รวดเร็ว และถูกต้องตามข้อกฎหมาย เหมือนกันกับคดีแพ่งที่สามารถไกล่เกลี่ยได้ ศาลปกครองจึงได้นำกระบวนการไกล่เกลี่ยมาใช้ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมให้ศาลปกครองมีอำนาจไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง โดยคดีที่สามารถไกล่เกลี่ยได้ประกอบด้วย
- ข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือล่าช้าเกินสมควร
- ข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดชอบอย่างอื่นของหน่วยงานทางการปกครองหรือเจ้าที่ของรัฐ
- ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
- ข้อพิพาทอื่นตามที่กำหนดในระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
นอกจากนี้ ยังมีข้อห้ามมิให้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในลักษณะฝ่าฝืนกฎหมายหรือเกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทบต่อสถานะบุคคล รวมถึงข้อกำหนดว่าผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เป็นตุลาการศาลปกครองจะต้องเป็นผู้ที่ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบสำนวนคดีนั้น โดยคำนึงถึงความรู้ความเชี่ยวชาญและความเหมาะสมประกอบกัน ซึ่งข้อดีและผลประโยชน์ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง คือ ไม่มีรูปแบบ พิธีการ หรือขั้นตอนที่เคร่งครัด ทำให้สามารถสื่อสารความต้องการของคู่พิพาทได้อย่างชัดเจน สามารถลดระยะเวลาและความซับซ้อนในการดำเนินการได้ จึงช่วยให้ประหยัดเวลาและเงินได้ในบางกรณี รวมถึงเมื่อการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสำเร็จ ผลของการไกล่เกลี่ยยังบังคับใช้ได้จริงตามกฎหมาย ผ่านการบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลปกครองจะทำการพิพากษาไปตามนั้น
ถอดบทเรียนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองระหว่าง “การทาง-BEM”
หนึ่งในข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมายาวนานกว่า 25 ปีระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ที่ได้ฟ้องร้องกรณีที่รัฐบาลได้สร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยาย จนทำให้เกิดผลกระทบต่อยอดผู้ใช้บริการทางด่วนสายบางปะอิน–ปากเกร็ด โดยใช้เวลาในการไกล่เกลี่ยและเจรจาแนวทางยุติข้อพิพาททางด่วนจำนวน 17 คดีนานกว่า 1 ปี และมีการต่อรองลดวงเงินในข้อพิพาทลงเหลือ 5.6 หมื่นล้านบาท แลกกับการต่อสัญญาสัมปทานทางด่วนออกไปเป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือนกับ BEM
ข้อดีของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีปกครองที่สำเร็จในครั้งนี้ ถือว่าเป็นผลประโยชน์ต่อทุกฝ่าย และรวมถึงประชาชนชาวไทยอีกด้วย เนื่องจากหากยังดึงดันที่จะนำคดีเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อ แนวโน้มที่การทางจะแพ้คดีมีค่อนข้างสูง และมีการประเมินว่าการทางอาจต้องเสียมูลหนี้มากถึง 137 แสนล้านบาทให้กับเอกชน ซึ่งจากการไกล่เกลี่ยในครั้งนี้สามารถลดมูลหนี้ได้มากกว่าครึ่งและไม่ต้องชำระเป็นเงินสด เพราะเปลี่ยนเป็นการขยายอายุสัญญาสัมปทานทางด่วนไป รวมถึงยังมีการถอนคดีฟ้องร้องทั้ง 17 คดีร่วมด้วย ข้อตกลงที่เกิดขึ้นจึงมีอีกชื่อเรียกว่า “ซูเปอร์ดีล”
โดยภาคประชาชนนั้นยังได้รับผลประโยชน์เช่นเดิม เพราะอีกเงื่อนไขที่การทางเสนอคือ BEM ต้องยกเว้นค่าทางผ่านให้ประชาชนทุกด่านที่มีข้อพิพาทในช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์จำนวนกว่า 19 วันต่อปีจนถึงปี 2578 และการเจรจาในครั้งนี้ยังช่วยให้กระทรวงคมนาคมสามารถลงทุนพัฒนาทางด่วนทุกเส้นทางของภาครัฐได้โดยไม่ติดปัญหาเรื่องการแข่งขัน นับเป็นผลดีของประชาชนอย่างมาก หากการไกล่เกลี่ยนี้ไม่สำเร็จนั้นจะส่งผลกระทบอย่างมาก เพราะระยะเวลาในการดำเนินการก็จะยาวนานขึ้น ค่าปรับและดอกเบี้ยก็จะยิ่งมีมูลค่าสูงขึ้น โดยหากปล่อยจนสัมปทานสิ้นสุดมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าจะสูงถึง 3 แสนล้านบาท
สามารถสรุปได้ว่าการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองถือว่าเป็นประโยชน์ไม่เพียงแค่คู่พิพาทอย่างหน่วยงานของรัฐบาลและเอกชนเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อประชาชนอีกด้วย ดังนั้นการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจึงได้รับการสนับสนุนให้ใช้ในกระบวนการยุติธรรมอย่างแพร่หลาย เพราะสามารถยุติข้อพิพาทได้จริงและเห็นผล รวมถึงการแบ่งเบาภาระของชั้นศาล และคู่พิพาทยังได้ความพึงพอใจกับผลลัพธ์และรักษาความสัมพันธ์อันดีงานร่วมกันด้วย โดยสถาบันอนุญาโตตุลาการ THAC มีบริการด้านการอนุญาโตตุลาการและบริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือกที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล พร้อมสร้างความรับรู้เกี่ยวกับการระงับข้อพิพาททางเลือกและการให้บริการของสถาบัน
เกี่ยวกับเรา
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
บทความเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ย
ข่าวเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ย
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/property/news-423546
https://www.thaipost.net/main/detail/57775
https://www.thairath.co.th/business/market/1778846
https://www.exat.co.th/กทพ-bem-และ-necl-ร่วมปฏิบัติตาม/
https://mgronline.com/business/detail/9630000017419
https://admincourt.go.th/admincourt/upload/webcms/News/News_150221_133206.pdf
https://admincourt.go.th/admincourt/upload/webcms/News/News_260919_100436.pdf