การประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเฉพาะกลุ่ม (Focus group) เกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 16 ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 (เพิ่มเติม)
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 เวลา 14.00 –17.00 น. ณ ที เอช เอ ซี สถาบันอนุญาโตตุลาการ 689 อาคารภิรัช ทาวเวอร์ ชั้น 26 สถาบันอนุญาโตตุลาการ THAC จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเฉพาะกลุ่ม (Focus group) เพื่อรวบรวมและจัดทำเป็นข้อเสนอในการแก้ไขบทบัญญัติในพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545
การประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ มีที่มาจากพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นกฎหมายอนุญาโตตุลาการที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น บัญญัติเรื่องการกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราวในกระบวนการอนุญาโตตุลาการเอาไว้ในมาตรา 16 เพียงมาตราเดียว ซึ่งรับรองอำนาจของศาลในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ดี เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นอำนาจเฉพาะของศาล (Exclusive Power) จึงทำให้ที่ผ่านมาเกิดปัญหาทางปฏิบัติในเรื่องการตีความ รวมทั้งข้อถกเถียงทางวิชาการว่าคณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ และแม้ว่าคณะอนุญาโตตุลาการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแล้ว คำสั่งดังกล่าวจะมีสภาพบังคับกับคู่พิพาทในคดีมากน้อยเพียงใด รวมไปถึง UNCITRAL Model law on Commercial International Arbitration ซึ่งถือเป็นกฎหมายต้นแบบของประเทศสมาชิกในการนำไปบัญญัติเป็นกฎหมายอนุญาโตตุลาการภายในของแต่ละประเทศ ในปี ค.ศ. 2006 UNCITRAL ได้มีการปรับแก้ไขกฎหมายต้นแบบโดยเพิ่มเติมบทบัญญัติที่ให้คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจในการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้ จากเดิมที่กำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะของศาลเท่านั้น ซึ่งเมื่อกฎหมายต้นแบบมีการแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องมาตรการคุ้มครองชั่วคราวโดยอนุญาโตตุลาการแล้ว แต่ยังไม่ปรากฏว่าพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ได้มีการปรับปรุงเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายต้นแบบแต่อย่างใด ทั้งที่หลักการเช่นว่านี้มีความจำเป็นและได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย โดยกำหนดเอาไว้ในกฎหมายอนุญาโตตุลาการของหลากหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส อินเดีย สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ สวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย เป็นต้น ทางสถาบันจึงได้มีการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเฉพาะกลุ่มเพื่อรวบรวมและจัดทำเป็นข้อเสนอในการแก้ไขบทบัญญัติในพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ
การประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้จะเป็นส่วนช่วยในการพัฒนากฎหมายและผลักดันให้มาตรฐานของการอนุญาโตตุลาการของประเทศไทยให้มีความเป็นสากลและทัดเทียมนานาอารยะประเทศ เพื่อยกระดับมาตรฐานกระบวนการอนุญาโตตุลาการ จะเป็นการผลักดันและส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน และเปิดโอกาสให้คณะอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดและรับรู้เหตุการณ์ก็จะทำให้การออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเป็นไปด้วยความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เป็นการตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของคู่พิพาทที่เลือกใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการเนื่องจากรวดเร็วกว่าการฟ้องคดีต่อศาล