ข่าวน่าสนใจ : เชฟรอนวางเงินประกันหมื่นล้าน แผนรื้อถอนแท่นเอราวัณ
“กระทรวงพลังงาน” เตรียมเสนอ “ครม.” แผนรื้อถอนแท่นเอราวัณในอ่าวไทย 49 แท่น คาด “เชฟรอน” ต้องวางเงินประกัน 1 หมื่นล้านบาท
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อทำการพิจารณาหลักการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมกลุ่มเอราวัณในอ่าวไทย โดยจะหมดอายุสัญญาในปี 2565 ซึ่งปัจจุบันบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้รับสัมปทาน โดยจะไม่มีการรื้อถอนในส่วนท่อส่งปิโตรเลียมแต่อย่างใด เพราะอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ
ทั้งนี้แผนการประกาศเปิดให้ยื่นประมูลแหล่งปิโตรเลียมรอบใหม่ ได้มีการเลื่อยออกไปอย่างไม่มีกำหนด จากเดิมที่คาดว่าจะสามารถประกาศได้ภายในปลายเดือน มี.ค.นี้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ไม่เอื้ออำนวยต่อการประมูล
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธาน คณะกรรรมการปิโตรเลียม เปิดเผยว่า การรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ มีข้อเสนอให้รื้อถอนจำนวน 49 แท่น จากทั้งสิ้น 191 แท่นผลิตของกลุ่มเอราวัณ อย่างไรก็ตามเพื่อความรอบคอบจึงได้ของบกลางกว่า 400 ล้านบาท เตรียมไว้หากเจรจากับเชฟรอนฯ ไม่จบแล้วต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องอนุญาโตตุลาการ ก็จะนำงบนี้มาใช้ในการต่อสู้คดี แต่จากแนวโน้มการเจรจาที่ฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน ก็เชื่อว่าคงจะไม่มีการยื่นฟ้องร้องแต่อย่างใด
ด้านนายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากภาครัฐว่าจะเห็นชอบแผนการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมกลุ่มเอราวัณอย่างไร หลังจากก่อนหน้านี้ภาครัฐมีความคิดเห็นทั้งเรื่องการรื้อแท่นและท่อ โดยบริษัทอยากเห็นข้อสรุปให้เร็วที่สุด ซึ่งบริษัทพร้อมวางเงินค้ำประกันตามข้อกำหนดที่เป็นธรรม และพร้อมรื้อถอนก่อนหมดสัญญาสัมปทานในวันที่ 23 เมษายน 2565
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ว่าจ้างบุคคลที่ 3 เข้ามาประเมินราคาการวางหลักค้ำประกัน พบว่ามีมูลค่าประมาณ 7 ล้านเหรียญสหรัฐต่อแท่น ดังนั้นคาดว่าเชฟรอนต้องวางหลักประกันประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ในการรื้อถอนแท่นจำนวน 49 แท่น โดยหากครม.เห็นชอบกรอบการรื้อถอนแล้ว ทางกรมเชื้อเพลิงฯ จะต้องให้เชฟรอนฯ เสนอแผนรายละเอียดการรื้อถอนอีกรอบแล้วจึงเดินหน้าวางเงินค้ำประกันและรื้อถอนต่อไป
สำหรับแหล่งเอราวัณในอ่าวไทย จะสิ้นสุดสัญญาในปี 2565 โดยบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP) ร่วมกับบริษัท เอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลในรูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) จึงเป็นผู้ดำเนินการรายใหม่ ซึ่งตามสัญญา PSC ทาง PTTEP ต้องรักษาระดับกำลังการผลิตในแหล่งเอราวัณไว้ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งบงกช 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อให้ทั้ง 2 แหล่งรักษาระดับกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทั้งนี้ตามแผนดำเนินงาน 5 ปี ของ PTTEP ได้จัดงบลงทุนสำหรับพื้นที่เอราวัณและบงกชอยู่ที่ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 450 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ
แหล่งที่มา: ข่าวหุ้น | 25 มี.ค. 2563