ครม. อนุมัติการให้สิทธิ “ปตท.สผ. และ เชฟรอน” สำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี วันที่ (7 มีนาคม 2566) อนุมัติ ให้บริษัท ปตท. สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/65 และ G3/65 และอนุมัติให้บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65
โดย ครม. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีอำนาจลงนามกับผู้ได้รับสิทธิ พร้อมกำหนดการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการในสัญญาแบ่งปันผลผลิตของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G1/65 G2/65 และ G3/65 นี้ ตามนัยมติคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ทั้งนี้ สิทธิในการสำรวจและการผลิตปิโตรเลียมของทั้งสามแปลง ในรูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตมีกำหนดระยะเวลาสำรวจ 6 ปี
โดย กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้พิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอสิทธิ ข้อเสนอทางเทคนิค และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ และความเหมาะสมทางธรณีวิทยา แล้วว่า เป็นบริษัทที่มีทุน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญ เพียงพอที่จะสำรวจผลิต ขาย และจำหน่ายปิโตรเลียม ทั้งยังได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนรัฐไม่น้อยกว่าขั้นต่ำ และได้มีการเสนอผลประโยชน์ตอบแทนรัฐนอกเหนือจากการชำระค่าภาคหลวง และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมตามกฎหมายตลอดระยะเวลาที่ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนสำรวจ และพัฒนาปิโตรเลียมภายในประเทศ เป็นเงินไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท ตลอดช่วงระยะเวลาสำรวจ 6 ปี และได้รับผลประโยชน์พิเศษในรูปแบบของค่าตอบแทนการลงนาม เงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไทย และอื่นๆ เป็นเงินประมาณ 640 ล้านบาท ด้วย
ทั้งนี้ สัญญาที่มีกำหนดให้ระงับข้อพิพาทโดยกระบวนการอนุญาโตตุลาการนั้น จะทำให้จบปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว มีความน่าเชื่อถือ และรักษากระบวนการไว้เป็นความลับ จึงเป็นเหตุให้ได้รับความนิยมใส่ไว้ในสัญญาเมื่อเริ่มทำธุรกิจนั่นเอง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ