ตอกย้ำความยิ่งใหญ่! THAC จัดงาน “สัปดาห์การระงับข้อพิพาททางเลือกระดับนานาชาติ” มุ่งยกระดับการยกระดับการอนุญาโตตุลาการในไทยสู่ระดับสากล
เมื่อวันที่ 6 พฤษจิกายน 2566 ที่ผ่านมา สถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC) ได้รับเกียรติจาก นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ “สัปดาห์การระงับข้อพิพาททางเลือกระดับนานาชาติ (Thailand ADR Week 2023)” พร้อมด้วย นางสาวมัชฌิมธร คัมภิรานนท์ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการ โดยงาน ADR Week นี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในองค์ความรู้เชิงวิชาการ และวิชาชีพในแนวทางการระงับข้อพิพาททางเลือกทั้งการอนุญาโตตุลาการ การประนอมข้อพิพาท รวมถึงแนวทางอื่นๆ ตลอดจนการขยายเครือข่ายกระบวนการดังกล่าวสู่การยอมรับในระดับนานาชาติ
การสัมมนาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวในขับเคลื่อนวงการการระงับข้อพิพาททางเลือกในประเทศไทย ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสู่ระดับสากล โดยมีองค์กร และศูนย์ระงับข้อพิพาทในระดับนานาชาติร่วมมือกับทาง THAC มากกว่า 10 แห่ง ทั้งในระดับเอเชีย และระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Hong Kong International Arbitration Centre (HKIAC), Shiang Hai International Arbitration Centre (SHIAC), Permanent Court of Arbitration (PCA) และ Beihai Asia International Arbitration Centre (BAIAC) เป็นต้น โดยทุกฝ่ายต่างเชื่อมั่นถึงกระบวนการอนุญาโตตุลาการของประเทศไทย พร้อมร่วมมือพัฒนา และส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในไทยและต่างประเทศ พร้อมกับส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายวงการการอนุญาโตตุลาการในระดับนานาชาติ
“How ADR can assist world’s economy, energy and environmental crisis” หรือ “ADR สามารถช่วยเศรษฐกิจพลังงานและวิกฤตสิ่งแวดล้อมของโลกได้อย่างไร” คือหัวข้อหลักในการเสวนาครั้งนี้ โดยมีการพูดประเด็นต่างๆที่น่าสนใจเกี่ยวกับกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกมากมาย อาทิ เช่น “การใช้ปัญญาประดิษฐ์ในกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก ที่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย” และ “กระบวนอนุญาโตตุลาการเรื่องพลังงานทดแทน : ความท้าทายของกฎระเบียบ เทคนิคและสิ่งแวดล้อม” โดยหัวข้อการบรรยายต่างๆได้รับเกียรติจากวิทยากรชื่อดังและเปี่ยมล้นด้วยประสบการณ์และความสามารถ
นอกจากนี้ หัวข้อในการเสวนายังหมายรวมถึงแนวทาง และรูปแบบในการดำเนินการ ตลอดจนการรณรงค์การดำเนินการอนุญาโตตุลาการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการริเริ่มอย่างจริงจังเมื่อปี 2019 ภายใต้แคมเปญ “Green Pledge” หรือคำมั่นสัญญาสีเขียว ที่ทำให้การพิจารณาคดีแบบการอนุญาโตตุลาการ ร่วมกันจัดการกับความสิ้นเปลืองในรายละเอียดต่างๆ เช่น พยานเอกสาร และการเดินทางระหว่างประเทศที่ไม่จำเป็น ตลอดจนการพัฒนาร่างกฎหมายที่ลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมต่างๆ อีกด้วย เหล่านี้จึงเป็นที่มาของการปรับตัวกระบวนการพิจารณาคดี ที่มีทั้งการดำเนินการกระบวนการยุติธรรมผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ลดจำนวนวัสดุต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC) ได้รับเกียรติจาก คณะอนุญาโตตุลาการ ผู้พิพากษา ผู้ไกล่เกลี่ย ผู้ประนอม และผู้เชี่ยวชาญในด้านกฎหมายชื่อดังมากกว่า 50 คน ทั่วโลก ที่เข้ามาร่วมเสวนาในครั้งนี้ ปัจจุบันการระงับข้อพิพาททางเลือกถือได้ว่าเป็นแนวทางการยุติข้อพิพาท หรือคดีความที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในนานาชาติ โดยกล่าวได้ว่าเป็นกระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอื่น ๆ นอกจากวิธีการทางศาล โดยให้คู่พิพาททั้งสองฝ่ายร่วมกันหาข้อตกลงในการยุติข้อพิพาทโดยไม่ต้องฟ้องร้อง เป็นคดีความ ได้แก่ การเจรจา (Negotiation) การประนีประนอมข้อพิพาท (Mediation) หรือเรียกอีกอย่างว่าการไกล่เกลี่ย (Conciliation) และการใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) ในขั้นตอนสุดท้ายตามลำดับ