ตะลุยอวกาศ ไปกับ THCOM
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 เปิดเผยบทสัมภาษณ์ ของ นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THCOM ที่พูดถึงก้าวต่อไปในอวกาศของบมจ.ไทยคม
บมจ.ไทยคม (THCOM) ประกาศเข้าสู่ยุคใหม่ ไม่จำกัดเพียงแค่ธุรกิจดาวเทียมอีกต่อไป แต่พร้อมเข้าสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอวกาศสร้าง New S-Curve ก้าวขึ้นสู่การเป็น Space Tech Company ด้วยการจับมือพันธมิตรระดับโลก พร้อมเปิดตลาดใหม่ทั้งในประเทศและภูมิภาค ขณะที่ช่วงระยะสั้นรายไดัหลักยังมาจากธุรกิจดาวเทียมสื่อสารมากกว่า 90% พร้อมโดดร่วมชิงสิทธิวงโคจรดาวเทียมใหม่หวังอัพรายได้ก้าวกระโดด
ธุรกิจเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อนำมาใช้ในเชิงธุรกิจ ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ของ Space Economy เป็นการใช้ Data Analytics ที่จะมาจากวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมให้เป็น Solution ที่นำไปใช้ได้กับลูกค้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่จะใช้ข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการภาคส่วนนต่างๆ เช่น ด้านทรัพยากรธรรมชาติ การขนส่ง การบริหารจัดการสาธารณูปโภค เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน รวมถึงการใช้เป็นข้อมูลเพื่อการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์สำหรับภาคธุรกิจ
จากการประเมินมองว่า ตลาดการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมทั่วโลกมีมูลค่าราว 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี จึงมองว่าเป็นโอกาสทองสำหรับไทยคม เป็นโอกาสที่ใช้ความเชี่ยวชาญของบริษัทด้วยภาพถ่ายดาวเทียมนำมาประมวลผลด้วยเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) และ Machine Learning (ML) ที่มีข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี และยังสามารถพยากรณ์สถานการณ์ในอนาคตได้ด้วย
ดาวเทียม LEO โอกาสอนาคต
ซีอีโอ THCOM กล่าวอีกว่า สำหรับธุรกิจดาวเทียม LEO ซึ่งเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ มองว่าเป็นอนาคตของธุรกิจดาวเทียม ซึ่งตอนนี้ธุรกิจนี้อยู่ในช่วงเพิ่งเริ่มต้น ยังมีการใช้งานค่อนข้างน้อย โดยดาวเทียม LEO จะใช้เป็นดาวเทียมบรอดแบนด์ใช้ในการสื่อสาร ซึ่งปัจจุบันมี 4-5 รายที่ลงทุนดาวเทียม LEO โดยไทยคมจะเข้าไปร่วมมือเป็นพันธมิตรทำตลาดในไทย ซึ่งไทยคมเป็น Local Partner ที่จะช่วยเชื่อมกับต่างประเทศ ซึ่งไทยคมจะช่วยเปิดให้มี Landing Right เพื่อให้บริการในประเทศไทยได้
ธุรกิจดาวเทียมยังเป็นหลัก พร้อมรุกขยายตลาดอินเดีย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THCOM กล่าวว่า ในระยะสั้น ใน1-3 ปี ธุรกิจหลักก็ยังคงเป็นธุรกิจสื่อสารดาวเทียม ที่ยังสำคัญมากๆ ที่มีสัดส่วนรายได้ มากกว่า 90% แต่ในระยะยาว ธุรกิจที่เกี่ยวกับ Data Analytics จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เทรนด์ของโลกมีโอกาสที่จะสร้างรายได้มากจากธุรกิจใหม่ เพราะการที่บริษัทได้ไปทำตลาดที่ใหญ่ขึ้น ตัวรูปแบบการทำธุรกิจไม่ต้องลงทุนสูง เพราะเป็นดิจิทัล มีระบบคลาวด์ ดังนั้น เราจะร่วมเป็นพันธมิตรแล้วต่อยอดธุรกิจ ขายบริการเพิ่ม ขณะเดียวกัน ดาวเทียมสื่อสารก็ยังคงดำเนินต่อ เพราะเป็นธุรกิจหลักที่เรามีความเชี่ยวชาญ และธุรกิจดาวเทียมสื่อสารนี้ก็มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาเสริมทำให้ต้นทุนถูกลง 4-5 เท่า มีประสิทธิภาพมากขึ้น แรงขึ้น ซึ่งก็จะทำให้บริษัทมีโอกาสขยายตลาดได้กว้างมากขึ้น”นายปฐมภพ กล่าว
ปัจจุบัน ไทยคม มีดาวเทียมไทยคม 4, 6, 7 และ 8 ที่ยังดำเนินการต่อเนื่อง โดยดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) และไทยคม 6 บริษัทได้เช่าช่องสัญญาณระยะยาวจาก บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ส่วนดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 บริษัทได้ใบอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ คณะอนุญาโตตุลาการ ได้มีคำชี้ขาดเป็นเอกฉันท์ว่า ดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 มิได้เป็นดาวเทียมภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารฯ ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลผลกระทบดังกล่าว
อ้างอิงจาก สำนักข่าวอินโฟเควสท์