สถาบันอนุญาโตตุลาการจัดงานเสวนาวิธีคิดค่าเสียหายในการดำเนินคดีเช่าซื้อ
วันที่ 21 กันยายน 2556 ที่ผ่านมาสถาบันอนุญาโตตุลาการได้จัดงานเสวนาวิธีคิดค่าเสียหาย ในการดำเนินคดีเช่าซื้อ โดยได้รับเกียรติจาก คุณทศพร สัมพิพัฒนเดชา ทนายความหุ้นส่วน Watson Farley & Williams (ประเทศไทย), คุณดุษดี ดุษฎีพาณิชย์ ทนายความหุ้นส่วน Clyde & Co (Thailand), ดร.ศิริเพชร สุนทรวิภาต ประธานคณะอนุกรรมการด้านบัญชี สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย และ คุณอนันต์ศิลป์ ช่วงประยูร ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย มาเป็นวิทยากรร่วมพร้อมกับอนุญาโตตุลาการร่วมกันเสวนา และแสดงความคิดเห็น พร้อมตัวแทนจากสมาคมเช่าซื้อร่วมสังเกตการณ์
โดยหัวข้อนี้มีการเสวนาในเรื่อง กฎหมายพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเช่าซื้อฯ รถยนต์และจักรยานยนต์ รวมถึงกระบวนการดำเนินคดีเพ่ง ซึ่งการกำหนดค่าเสียหายในคดีเช่าซื้อนั้นจะต้องคำนึงถึงหลักความสุจริตของทั้งสองฝ่ายด้วย แต่เมื่อนำคดีไปฟ้องศาลแล้ว กลับกลายเป็นว่าศาลได้ตัดค่าเสียหายลงเป็นจำนวนมาก เพราะศาลอาจมองว่าผู้เช่าซื้ออยู่ในฐานะเป็นผู้บริโภค เพราะหากพิจารณาในฝั่งของผู้บริโภค ในเมื่อค่าเช่าซื้อแต่ละงวดเป็นการบวกกำไรเพิ่มเข้าไปแล้ว การที่ศาลพิจารณาปรับลดค่าเสียหาย ก็อาจถือเป็นการชอบธรรมแล้ว
แต่หากพิจารณาในฝั่งผู้ให้เช่าซื้อ ซึ่งได้หยิบยกเอาเอกสารเกี่ยวกับราคารถเช่าให้ศาลพิจารณาด้วยแล้ว แต่ศาลก็พิจารณาว่า โจทก์ไม่ได้เอารถออกเช่าทุกวัน จึงไม่อาจพิสูจน์ความเสียหายตรงนี้ได้ และส่วนใหญ่ศาลมีการกำหนดแค่ค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์เท่านั้น ส่วนค่าเสียหายในชื่ออื่นๆ ศาลไม่ได้รับรู้ ซึ่งตามความเป็นจริงการกำหนดค่าเสียหายนั้น ขอเพียงมีหลักเกณฑ์สูงสุด ต่ำสุด ซึ่งสูงสุดคือ ไม่เกินกำหนดราคาในสัญญาเช่าซื้อ และต่ำสุดคือราคาต้นทุน ซึ่งการขอให้ศาลกำหนดค่าเสียหายเท่าเงินต้น ทางฝั่งผู้ให้เช่าซื้อก็ถือว่าดีมากแล้ว เพราะการไปศาลก็เพียงเพื่อไปบรรเทาความเสียหาย ไม่ใช่ไปแล้วต้องติดลบ อย่างไรก็ตาม ควรใส่ข้อสัญญาที่เกี่ยวกับกระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการอนุญาโตตุลาการลงไปในสัญญาเช่าซื้อเอาไว้ก่อน