สรุปคำพิพากษาศาลปกครองเกี่ยวกับคดีโฮปเวลล์
วานนี้ (วันที่ 22 เมษายน 2562) ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562[1] ระหว่างกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ร้องที่ 1 และ 2 กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้คัดค้าน อันเป็นคดีที่ผู้ร้องทั้งสองร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งตัดสินให้ผู้ร้องทั้งสองกลับคืนสู่ฐานะเดิมอันเป็นผลจากการเลิกสัญญา โดยให้ร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินค่าตอบแทน ที่ผู้คัดค้านชำระให้แก่ผู้ร้องทั้งสองจำนวน 2,850,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของ ต้นเงินดังกล่าว, คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) รวมถึงค่าธรรมเนียมการออกหนังสือ ค้ำประกัน จำนวน 38,749,800 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว รวมทั้งให้ผู้ร้องทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้เงินค่าก่อสร้างโครงการจำนวน 9,000,000,000 บาท แก่ผู้คัดค้านพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จด้วย เนื่องจากผู้ร้องทั้งสองเห็นว่าคำชี้ขาดของ คณะอนุญาโตตุลาการเป็นการวินิจฉัยโดยไม่มีอำนาจเกินขอบเขตตามสัญญาและข้อตกลงในการเสนอข้อพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ
ซึ่งคดีดังกล่าวศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการและปฏิเสธไม่รับคำบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว โดยวินิจฉัยว่า เมื่อคำนวณนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่ผู้คัดค้านรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทแล้ว การที่ผู้คัดค้านได้เสนอข้อพิพาทต่อ คณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 จึงเป็นระยะเวลาเกินกว่า 5 ปีนับจากวันที่รู้ถึงเหตุหรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ตามนัยมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการถือได้ว่าเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลปกครองสามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ดังนั้น คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจรับ ข้อพิพาทที่ผู้คัดค้านยื่นต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการไว้พิจารณาเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดได้ เป็นกรณีตามนัยมาตรา 40 วรรค 3 (2) (ข) และมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ที่การยอมรับหรือหรือบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลปกครองชั้นต้น จึงพิพากษาเพิกถอนและมีคำสั่งปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่ผู้ร้องทั้งสอง
ผู้คัดค้านอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้วินิจฉัยคดีนี้ว่าผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว เนื่องจากต้องนับอายุความตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 อันเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ และศาลปกครองสูงสุดเห็นสมควรพิจารณาในเนื้อหาแห่งคดีต่อไป
สำหรับเนื้อหาแห่งคดีนั้น การที่ผู้ร้องทั้งสองบอกเลิกสัญญาห้ามผู้คัดค้านเข้าไปดำเนินการก่อสร้าง ริบเงินค่าตอบแทนสัญญา และริบหลักประกันตามสัญญา แสดงว่ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นและก่อนเสนอข้อพิพาทผู้คัดค้านได้ขอให้ผู้ร้องทั้งสองระงับข้อพิพาทโดยเจรจาประนีประนอมยอมความ แต่ผู้ร้องทั้งสองเพิกเฉย ผู้คัดค้านได้ดำเนินการตามเงื่อนไขที่ได้ระบุในสัญญาแล้ว จึงมีสิทธินำข้อพิพาทตามสัญญาสัมปทานเสนอให้อนุญาโตตุลาการ ชี้ขาดได้ คำชี้ขาดในส่วนนี้ไม่ปรากฏเหตุที่ฝ่าฝืนบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี คำชี้ขาดในประเด็นที่สอง วินิจฉัยว่า ข้อตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านเป็นสัญญาทางแพ่งชนิดหนึ่งที่มีผลบังคับได้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 เมื่อวันที่ผู้คัดค้านเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการยังไม่ครบ 10 ปี จึงยังคงใช้สิทธิเรียกร้องต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการได้ แม้ว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจะอ้างเหตุเกี่ยวกับลักษณะของสัญญาและอายุความแตกต่างจากที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยแต่เมื่อคำชี้ขาดให้ผลว่าข้อพิพาทที่เสนอเป็นข้อพิพาทที่รับไว้พิจารณาได้ จึงไม่ปรากฏเหตุบกพร่องถึงขนาดจะทำให้เป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีอีกเช่นกัน
สำหรับคำชี้ขาดที่ว่า การที่ผู้ร้องทั้งสองมีหนังสือบอกเลิกสัญญาต่อผู้คัดค้านทันทีโดยไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดในสัญญา คือต้องให้ดำเนินการแก้ไขก่อน เป็นการบอกเลิกสัญญาโดยยังไม่มีสิทธิ จึงไม่มีผลให้สัญญาเลิกกัน ต่อมาเมื่อผู้ร้องทั้งสองมีหนังสือยืนยันหลายครั้งและผู้คัดค้านขนย้ายออกและไม่ได้เข้าไปดำเนินการใดๆ พฤติการณ์ของผู้ร้องทั้งสองมีเจตนาจะเลิกสัญญากับผู้คัดค้านอันถือได้ว่าเป็นคำเสนอขอเลิกสัญญาและการที่ ผู้คัดค้านยืนยันปฏิบัติตามจนถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสนองรับคำเสนอของผู้ร้องทั้งสอง สัญญาสัมปทานย่อมเลิกกันโดยปริยาย คู่สัญญาจำต้องให้แต่ละฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะเดิมและวินิจฉัยให้ผู้ร้องคืนเงินค่าตอบแทนที่ผู้คัดค้านชำระให้แก่ผู้ร้องทั้งสองจำนวน 2,850,000,000 บาท คืนหนังสือค้ำประกัน คืนค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือ ค้ำประกันจำนวน 38,749,800 บาท เงินในการก่อสร้างโครงการจำนวน 9,000,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า คำชี้ขาดที่เห็นว่าสัญญาเป็นอันเลิกกันและให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิม ไม่ได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และคำชี้ขาดที่ว่าผู้คัดค้านไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น เมื่อพิจารณารายละเอียดในประเด็นข้อโต้แย้งของผู้ร้องทั้งสองแล้วเห็นได้ว่า ล้วนแต่มีลักษณะเป็นการโต้แย้ง ดุลยพินิจการพิจารณาข้อเท็จจริงและการปรับใช้กฎหมายและข้อสัญญาของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในประเด็นต่างๆ ดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยว่า คู่สัญญาฝ่ายใดปฏิบัติตามสัญญาถูกต้องแล้วหรือไม่ อย่างไร และคู่สัญญาแต่ละฝ่ายมีความรับผิดต่อกันหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างคู่สัญญาเท่านั้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ปรากฎเหตุที่กฎหมายให้อำนาจศาลที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดในส่วนนี้ได้เช่นกัน
ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยให้ผู้ร้องทั้งสองปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่ผู้คัดค้าน
[1] สำนักงานศาลปกครอง, “คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขแดง ที่ อ.221-223/2562,” สืบค้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562, จาก https://drive.google.com/file/d/1kW67F0YtJxlTmybM0iMjF-EgsUrQhYda/view