สุดยิ่งใหญ่! THAC จัดงาน “สัปดาห์การระงับข้อพิพาททางเลือกระดับนานาชาติ” ชูประเด็นการพิจารณาคดีหลังโควิด 19 และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มุ่งยกระดับการอนุญาโตตุลาการในไทยสู่สากล
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา สถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC) ได้รับเกียรติจาก นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ “สัปดาห์การระงับข้อพิพาททางเลือกระดับนานาชาติ (Thailand ADR Week 2022)” พร้อมด้วย นายพสิษฐ์ อัศววัฒนาพร ผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการ ที่จัดทำขึ้นมาเป็นครั้งที่ 4 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในองค์ความรู้เชิงวิชาการ และวิชาชีพในแนวทางการระงับข้อพิพาททางเลือกทั้งการอนุญาโตตุลาการ การประนอมข้อพิพาท รวมถึงแนวทางอื่นๆ ตลอดจนการขยายครือข่ายกระบวนการดังกล่าวสู่การยอมรับในระดับนานาชาติ โดยเป็นการจัดประชุมผ่านทางระบบการประชุมทางไกล Zoom Meeting
การสัมมนาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวในขับเคลื่อนวงการการระงับข้อพิพาททางเลือกในประเทศไทย ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสู่ระดับสากล โดยมีองค์กร และศูนย์ระงับข้อพิพาทในระดับนานาชาติร่วมมือกับทาง THAC มากกว่า 10 แห่ง ทั้งในระดับเอเชีย และระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Singapore International Arbitration Centre (SIAC), Hong Kong International Arbitration Centre (HKIAC), Permanent Court of Arbitration (PCA) และ Arbitration Institute of the Stockholm Chamber of Commerce (SCC) เป็นต้น โดยทุกฝ่ายต่างเชื่อมั่นถึงกระบวนการอนุญาโตตุลาการของประเทศไทย พร้อมร่วมมือพัฒนา และส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในไทยและต่างประเทศ พร้อมกับส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายวงการการอนุญาโตตุลาการในระดับนานาชาติ
“Arbitration and ADR Beyond the Pandemic” หรือ “การระงับข้อพิพาททางเลือกหลังสถานการณ์โควิด-19 คือหัวข้อหลักในการเสวนาครั้งนี้ โดยขยายความได้ว่าเป็นการพัฒนาการ และการปรับตัวของกระบวนการอนุญาโตตุลาการในบริบทโลกหลังจากเผชิญกับปัญหาการโควิด-19 ที่ทำให้การเดินทางมาพิจารณาคดี ไต่สวน สืบพยานถูกเลื่อนออกไปบ่อยครั้ง ส่งผลเสียต่อการดำเนินธุรกิจที่ยังคงติดหล่มอยู่กับคดี และข้อพิพาทที่ค้างคาอยู่จบลงได้อย่างล่าช้าเพราะข้อจำกัดของการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายการเดินทางระหว่างประเทศ ดังนั้นหัวข้อหลักดังกล่าวจึงเป็นการแลกเปลี่ยนกันในแนวทางการปรับตัวในกระบวนการต่างๆ ทั้งในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมาใช้ เพื่อให้กระบวนการต่างๆ นั้นสามารถดำเนินการต่อไปได้ สถาบันอนุญาโตตุลาการหลายแห่งได้มีการพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่ยืดหยุ่น และเป็นประโยชน์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการพิจารณาคดีระยะไกลผ่านสื่อออนไลน์ (Virtual Hearing) และการพิจารณาคดีเสมือนจริง การไกล่เกลี่ยทางไกลจึงเป็นการระงับข้อพิพาทที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากเหตุผลเรื่องค่าใช้จ่ายและความรวดเร็วนั่นเอง
นอกจากนี้ หัวข้อในการเสวนายังหมายรวมถึงแนวทาง และรูปแบบในการดำเนินการ ตลอดจนการรณรงค์การดำเนินการอนุญาโตตุลาการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการริเริ่มอย่างจริงจังเมื่อปี 2019 ภายใต้แคมเปญ “Green Pledge” หรือคำมั่นสัญญาสีเขียว ที่ทำให้การพิจารณาคดีแบบการอนุญาโตตุลาการ ร่วมกันจัดการกับความสิ้นเปลืองในรายละเอียดต่างๆ เช่น พยานเอกสาร และการเดินทางระหว่างประเทศที่ไม่จำเป็น ตลอดจนการพัฒนาร่างกฎหมายที่ลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมต่างๆ อีกด้วย เหล่านี้จึงเป็นที่มาของการปรับตัวกระบวนการพิจารณาคดี ที่มีทั้งการดำเนินการกระบวนการยุติธรรมผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ลดจำนวนวัสดุต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC) ได้รับเกียรติจาก คณะอนุญาโตตุลาการ ผู้พิพากษา ผู้ไกล่เกลี่ย ผู้ประนอม และผู้เชี่ยวชาญในด้านกฎหมายชื่อดังมากกว่า 50 คน ทั่วโลก ตบเท้าเข้ามาร่วมเสวนาครั้งนี้มากมาย เพื่อตอกย้ำ และชูประเด็นการปรับตัวของวงการอนุญาโตตุลาการ และบทบาทสำคัญของการร่วมกันรับผิดชอบในการลดมลพิษให้ได้มากที่สุด
ปัจจุบันการระงับข้อพิพาททางเลือกถือได้ว่าเป็นแนวทางการยุติข้อพิพาท หรือคดีความที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในนานาชาติ โดยกล่าวได้ว่าเป็นกระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอื่น ๆ นอกจากวิธีการทางศาล โดยให้คู่พิพาททั้งสองฝ่ายร่วมกันหาข้อตกลงในการยุติข้อพิพาทโดยไม่ต้องฟ้องร้อง เป็นคดีความ ได้แก่ การเจรจา (Negotiation) การประนีประนอมข้อพิพาท (Mediation) หรือเรียกอีกอย่างว่าการไกล่เกลี่ย (Conciliation) และการใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) ในขั้นตอนสุดท้ายตามลำดับ โดยในปี 2563 สถิติเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการ มีจำนวนมากถึง 3,229 คดี โดยสถาบันอนุญาโตตุลาการ มีคดีทั้งสิ้น 31 คดี ร้อยละ 93.75 ตั้งแต่ปี 2558 อีกด้วย