THAC จัดสัมมนา “การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับนักลงทุน” หวังเพิ่มมุมมองในการคุ้มครอง และส่งเสริมแนวทางการลงทุนในอาเซียน
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC) จัดอบรมสัมมนาในหัวข้อ “การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับนักลงทุน” ณ สถาบันอนุญาโตตุลาการ อาคารภิรัช ชั้น 26 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายหลักในการสร้างความตระหนักรู้ รวมถึงนวัตกรรมของมุมมองใหม่ของการระงับข้อพิพาททางเลือก ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาท ในด้านการลงทุนทางธุรกิจระหว่างประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน
หัวข้อดังกล่าวได้รับเกียรติจากท่าน ดร. ธเนศ สุจารีกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มาถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งในทางวิชาการ และวิชาชีพเกี่ยวกับความสำคัญ และประโยชน์ของการระงับข้อพิพาททางเลือก ในมุมมองของการส่งเสริมกระบวนการดังกล่าว รวมถึงแนวทางการคุ้มครองการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับสมาชิกอาเซียน ภายใต้บริบทขอบเขตของสนธิสัญญาทวิภาคีว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียน (Investor-State Dispute Settlement) หรือ “ISDS”
ดร. ธเนศ ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ควรรู้ และพึงระวังในการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับนักลงทุน ไม่ใช่แค่กฎหมายภายในประเทศ และระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการดำเนินการระงับข้อพิพาทภายใต้ความตกลงระหว่างรัฐที่เกี่ยวกับการลงทนระหว่างประเทศ อาทิ ความตกลงเพื่อการส่งเสริม และคุ้มครองการลงทุน (Bilateral Investment Treaty – BIT) หรือความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement –FTA) พร้อมทั้งกรณีศึกษาอันเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากการร่วมลงทุนกับภาครัฐทั้งในประเทศไทย และประเทศในสมาชิกอาเซียน ที่มีข้อสัญญาอันมอบสิทธิให้กับนักลงทุนต่างชาติในการเข้าถึงกระบวนการระงับข้อพิพาทที่เป็นธรรม และอิสระ อย่างการระงับข้อพิพาททางเลือกในรูปแบบต่างๆ
นอกจากนี้ ประเด็นในการเสวนายังอธิบายถึงความพร้อมของประเทศไทยต่อปรับตัวเข้ากับกลไก ISDS ความได้เปรียบ เสียเปรียบ รวมถึงความท้าทายที่จะเกิดในอนาคต หากทำสัญญา หรือยกเลิกสัญญาจะคุ้มค่า หรือมีผลประเทบอย่างไรต่อภาษีประชาชนที่เป็นค่าชดเชยต่างๆให้แก่นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมเสวนาเป็นจำนวนมาก