THAC จัดอบรมเทคนิคการเจรจาและการประนอม มุ่งผลักดันการระงับข้อพิพาททางเลือกไทยสู่สากล
เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 และ วันที่ 2 กันยายน 2565 ช่วงเวลา 09:00 น. – 17:30 น. ที่ผ่านมา สถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC) ณ เอ็มควอเทียร์ อาคารภิรัช ชั้น 26 ได้จัดการอบรมหลักสูตรเทคนิคการเจรจาและการประนอมเพื่อยุติข้อพิพาท (Negotiation and Mediation Advocacy) เพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการระงับข้อพิพาทในรูปแบบการเจรจาและการประนอมข้อพิพาท รวมถึงการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการระงับข้อพิพาท การบรรยายเกี่ยวกับการเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาท และการทำกิจกรรมแสดงบทบาทสมุติ เป็นต้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมทุกท่านได้รับความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเจรจาและการประนอม รวมถึงช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์แก่กันและกัน โดยได้รับเกียรติ จาก คุณนพมาศ ธรรมธีรเดโช ที่ปรึกษากฎหมายและทนายความ จากบริษัท Tilleke & Gibbins International จำกัด และคุณดุษดี ดุษฎีพาณิชย์ ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านนิติกรรมสัญญาและอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
โดยในงานจะประกอบด้วยกิจกรรมการอบรมให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทและการเจรจา เริ่มจากการทบทวนความรู้พื้นฐานก่อนเริ่มทำกิจกรรมอื่น ๆ หลังจากนั้นจะเป็นการบรรยายเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นต่อการเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาท เพื่อเสริมสร้างทักษะและเทคนิคพิเศษแก่ผู้เข้าร่วมอบรม และปิดท้ายด้วยการทำกิจกรรมจำลองบทบาทสมมุติเพื่อทดสอบความรู้และให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ฝึกทักษะในการเจรจาและการประนอมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับหลักปฏิบัติที่ถูกต้องในการทำหน้าที่เป็นผู้เจรจาหรือประนอมยุติข้อพิพาทโดยมุ่งหวังให้มีผลเป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย และสิ้นสุดกิจกรรมด้วยการทำแบบทดสอบแสดงบทบาทสมมุติเพื่อทบทวนความรู้หลังจากได้รับการฝึกอบรม นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก ดร.พสิษฐ์ อัศววัฒนาพร ผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC) เป็นผู้มอบเกียรติบัตรเพื่อเป็นการรับรองคุณวุฒิแก่ผู้เข้าร่วมอบรมหลังสิ้นสุดกิจกรรม
ทั้งนี้ เนื้อหาหลักสูตรเทคนิคการเจรจาและการประนอมเพื่อยุติข้อพิพาทยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์อื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กับคนในครอบครัวหรือคนในที่ทำงาน และยังสามารถนำไปใช้กับสถานการณ์ที่คับขันเมื่อต้องเผชิญกับข้อพิพาท รวมถึงทางสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC) มีจุดประสงค์ที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทอย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆเพื่อให้มีแนวทางในการระงับข้อพิพาทอย่างมีประสิทธิภาพ และทำความเข้าใจถึงรูปแบบ วิธีการ และเทคนิคต่าง ๆ ในการสื่อสารอันนำไปสู่ข้อตกลงที่เต็มไปด้วยความสมานฉันท์ทั้งสองฝ่ายต่อไป