THAC ร่วมหารือกับ สภาสถาปนิก แนะ ADR ช่วยระงับข้อพิพาทคดีวิชาชีพ
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 นายพสิษฐ์ อัศววัฒนาพร ผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการ THAC และคณะ เข้าหารือกับ พลอากาศตรี หม่อมหลวง ประกิตติ เกษมสันต์ นายกสภาสถาปนิก เรื่องการนำการระงับข้อพิพาททางเลือกมาใช้กับคดีทางวิชาชีพ เพื่อช่วยลดความขัดแย้ง และสามารถยุติข้อพิพาทของคดีวิชาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังคงรักษาความสัมพันธ์ของคู่กรณี รวมถึงหารือถึงข้อตกลงความร่วมมือร่วมกันในอนาคต
สภาสถาปนิก เป็นองค์กรที่ควบคุมความประพฤติ และดำเนินงานด้านการประกอบวิชาชีพฯ ให้ถูกต้องตามมาตรฐานและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม รวมถึงช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้บริการทางงานวิชาการต่างๆ แก่ประชาชน และองค์กรอื่นที่เกี่ยวกับวิทยาการและเทคโนโลยีทางสถาปัตยกรรม ตลอดจนส่งเสริมความสามัคคีีและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของสมาชิก
Post Grid #2
การหารือระหว่าง สถาบันอนุญาโตตุลาการ THAC และ สภาสถาปนิก ในครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีและหาความร่วมมือที่เป็นไปได้ร่วมกันในอนาคต รวมถึงแนะนำการระงับข้อพิพาททางเลือกโดยวิธีการประนอมข้อพิพาทและการอนุญาโตตุลาการ เข้ามาช่วยยุติข้อพิพาททางคดีวิชาชีพสถาปัตยกรรม ซึ่งทางสภาสถาปนิก เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการใช้การระงับข้อพิพาททางเลือก เข้ามาช่วยยุติกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจของสมาชิก เพราะการทำงานในวิชาชีพสถาปนิก มักจะพบเจอข้อพิพาทระหว่างองค์กร ระหว่างบุคคล หรือการผิดสัญญาการชำระเงินอยู่บ่อยครั้ง หากได้ร่วมมือกับสถาบัน THAC ก็จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้ง และลดโอกาสการเกิดข้อพิพาทลงไปได้
อย่างไรก็ตาม บุคลากรและสมาชิกของสภาสถาปนิก ยังขาดองค์ความรู้เรื่องการระงับข้อพิพาททางเลือก โดยวิธีการประนอมข้อพิพาท และการอนุญาโตตุลาการ และต้องการความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาททางเลือก จึงขอความร่วมมือกับทางสถาบันอนุญาโตตุลาการ THAC จัดงานสัมมนาเพื่อแนะนำสถาบันฯ แนะนำขั้นตอนและกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยการประนอมข้อพิพาทและการอนุญาโตตุลาการ ที่ถูกต้อง ให้แก่บุคลากรและสมาชิกด้วย
สถาบันฯ THAC มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมหารือข้อตกลงร่วมกันกับสภาสถาปนิก และยินดีที่จะจัดงานสัมมนาเพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้และเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง พร้อมทั้งผลักดันให้มีการใช้การระงับข้อพิพาททางเลือกในไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดโอกาสการเกิดข้อพิพาททางคดีวิชาชีพ และสามารถยุติความขัดแย้งได้อย่างสันติวิธีให้แก่บุคลากรและสมาชิกของสภา