THAC และ AIT จรดปากกาเซ็น MoU ในความร่วมมือทางวิชาการ พร้อมทั้งจัดเสวนา หัวข้อ กฎหมายระงับข้อพิพาทการชำระเงินค่าก่อสร้าง ช่วยอุตสาหกรรมการก่อสร้างได้อย่างไร
สถาบันอนุญาโตตุลาการ นำโดยนางสาวมัชฌิมธร คัมภิรานนท์ ในฐานะรองผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการ[รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการ] และนายวรเวท ชลสินธุ์ กรรมการบริหาร AIT Extension ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ทางด้านวิชาการ โดยมุ่งหวังที่จะส่งเสริม และสนับสนุนความร่วมมือในการดำเนินงานด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก ในแวดวงการก่อสร้างของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับ และนิยมในวงกว้างร่วมกัน เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566
จุดมุ่งหมายหลักของทั้งสองหน่วยงานนั้น นอกจากจะเป็นการส่งเสริม และสนับสนุนการระงับข้อพิพาททางเลือกในด้านการก่อสร้างของประเทศไทยแล้วนั้น ยังหมายรวมไปถึงการประสานความร่วมมือทางด้านวิชาการ ไม่ว่าเป็น การฝึกอบรม การสัมมนา ประชุมวิชาการ และการพัฒนาบุคลากร เพื่อยกระดับการระงับข้อพิพาททั้งการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาท รวมไปถึงความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ร่วมกันอีกด้วย
พร้อมกันนี้ ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ กฎหมายระงับข้อพิพาทการชำระเงินค่าก่อสร้าง ช่วยอุตสาหกรรมการก่อสร้างได้อย่างไร โดยได้รับเกียรติจากผู้เข้าร่วมมากประสบการณ์หลากหลายท่าน ดังนี้
- ศ.ดร. ณรงค์ เหลืองบุตรนาค เจ้าของและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิวเจอร์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด และ ผู้อำนวยการสำนักแก้ปัญหางานก่อสร้าง
- นายวรเวท ชลสินธุ์กรรมการบริหาร AIT Extension
- นายชำนาญ พิเชษฐพันธ์ที่ปรึกษาชมรมนักกฎหมายก่อสร้าง
- ผศ. ดร. ไพจิตร ผาวัน รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
- นายนิวัฒน์ ธัญปิตินันทน์อุปนายก ฝ่ายต่างประเทศ สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย
และดำเนินการเสวนาโดย ดร. พสิษฐ์ อัศววัฒนาพร ที่ปรึกษาสถาบันอนุญาโตตุลาการ
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เห็นพ้องต้องกันว่า การลงนามครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าว และโอกาสสำคัญในการพัฒนาวงการระงับข้อพิพาททางเลือกให้เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้นในสังคมไทย กระทั่งวงการก่อสร้าง ที่จำเป็นต้องยุติปัญหาต่างๆที่รวดเร็ว แข่งกับเวลา ความแปรปรวนของธุรกิจ ตลอดจนเศรษฐกิจทั้งใน และระหว่างประเทศต่อไป