อภิธานศัพท์เกี่ยวกับความขัดแย้งและการประนอมข้อพิพาท
1.Cognitive Dissonance Theory หรือ ทฤษฎีการไม่ลงรอยกันของการรู้คิด
เป็นทฤษฎีที่น่าสนใจและใกล้ตัวมาก หลายคนคงได้สัมผัสสิ่งนี้อยู่ทุกวัน เพราะมันมักเกิดได้บ่อยๆ เหมือนมีอะไรที่แย้งกันอยู่ ไม่ลงรอย ไม่สอดคล้องกันในความคิด สร้างความตึงเครียด และพยายามที่จะบรรเทาโดยการเปลี่ยนทัศนคติ ความเชื่อ และการกระทำของพวกเขาหรือโดยการให้เหตุผล การกล่าวโทษ และการปฏิเสธ ดังนั้นในบางครั้งเราจึงมีความลำเอียงที่จะคิดว่าตัวเลือกของเราถูกต้องแล้ว
ทฤษฎีนี้มีประโยชน์อย่างมาก ในการนำวิธีต่างๆ ไปลดข้อขัดแย้งทางความคิดของตัวเองว่าการตัดสินใจนั้นเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง และเอาไปใช้เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการตัดสินใจของตนเอง ซึ่งการได้รับคำสนับสนุนในทางบวกมากๆ จะเป็นการลดความไม่มั่นใจของตนเองเมื่อได้กระทำสิ่งต่างๆ นั้นไปแล้ว
2.Deindividuation Theory หรือ ทฤษฎีการลดความเป็นตัวตน
คือสภาวะทางจิตใจที่มีการประเมินตนเองและการตระหนักรู้ในตนเองลดลง ขาดการวิเคราะห์และการประเมินผลสถานการณ์แวดล้อมรอบตัวอย่างมีสติสัมปชัญญะ ทำให้เกิดพฤติกรรมต่อต้านกับสิ่งที่ควรจะเป็น และไม่สามารถยับยั้งได้ จึงถูกแสดงออกมาตามสิ่งเร้าในสถานการณ์โดยปราศจากการไตร่ตรอง ความรุนแรงของพฤติกรรมจึงมีมากกว่าปกติ
3.Entrapment Theory (Sacrifice Trap) หรือ ทฤษฎีการติดกับ (กับดักพลีชีพ)
เป็นทฤษฎีที่มีความเชื่อว่าตนได้ลงทุนทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ เวลา และทรัพยากรมาระยะหนึ่งแล้ว ในการให้ได้มาซึ่งเป้าหมายที่ตนต้องการ ซึ่งเมื่อความขัดแย้งได้ดำเนินมาถึงจุดหนึ่ง ตนจะรู้สึกติดกับ ระหว่างการสานต่อ ซึ่งอาจจะต้องเสียแรง และทรัพยากรมากขึ้น กับการล้มเลิก ซึ่งตนอาจจะรู้สึกเสมือนว่าเป็นการทำให้การลงทุนที่ผ่านมาได้สูญเปล่าไป