ธงชาติไทยอาจโดนแบน !!! ห้ามใช้ในการแข่งขันกีฬาระดับโลก
จากสาเหตุที่ประเทศไทย ไม่ได้ปฏิบัติตามบัญญัติสารกระตุ้นของ WADA และยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งสาเหตุเกิดจาก ตามประมวลกฎหมายต่อต้านการใช้สารต้องห้าม ในปี พ.ศ.2555 พบว่า มีข้อกำหนด ในบางมาตราที่ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตามที่ประมวลกฎการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก ฉบับ ค.ศ. 2021 กำหนดไว้ ทำให้ไทยได้รับบทลงโทษเป็นเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2564 เรื่องที่น่ากังวล ก็คือ
- ไทยจะไม่สามารถร่วมเป็นกรรมการ และรับทุนสนับสนุนจาก WADA ได้
- ผู้แทนรัฐบาลไทยที่เป็นกรรมการในสหพันธ์กีฬานานาชาติจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ 1 ปี
- ไทยจะไม่สามารถเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬานานาชาติ ระดับภูมิภาค ทวีป และโลก ที่เป็นเกมส์กีฬาที่มี WADA รับรองการแข่งขัน (ยกเว้นโอลิมปิกเกมส์ และพาราลิมปิกเกมส์) โดยข้อนี้จะเกิดผลกระทบในการที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ กีฬาเอเชี่ยนอินดอร์ แอนด์ มาร์เชียลอาร์ต เกมส์ เดือนมีนาคม 2565
- ห้ามใช้ธงชาติไทย เพลงชาติไทย ในพิธีมอบเหรียญรางวัลที่ได้รับจากการแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาค ทวีป และโลก ที่ WADA รับรองการแข่งขัน โดยข้อนี้จะเกิดผลกระทบในการที่นักกีฬาไทย จะเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิคฤดูหนาว ที่กรุงปักกิ่ง ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 และหากยังไม่มีการแก้ไขปัญหา จะส่งผลให้ทุกสมาคมกีฬาไม่สามารถส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติได้
ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาของการดำเนินการร่างกฎหมาย และได้มีเจรจาความคืบหน้ากับทาง WADA อยู่เป็นระยะ และคาดว่าจะแล้วเสร็จอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ซึ่งหากทุกอย่างแล้วเสร็จสามารถขอ WADA ปลดล็อคบทลงโทษดังกล่าวได้ ตามอำนาจของ WADA แต่ถ้ายังคงยึดบทลงโทษเดิม อาจจะมีการดำเนินการตามกฎหมายส่งเรื่องไปที่อนุญาโตตุลาการศาลกีฬาโลก (CAS) เพื่อยื่นขอให้ช่วยพิจารณาผ่อนปรนในมาตรการ
WADA คือ องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency: WADA) เป็นองค์กรอิสระระดับนานาชาติก่อตั้งเพื่อส่งเสริมประสานงานและเฝ้าระวังมิให้มีการใช้สารต้องห้ามในกีฬาทุกรูปแบบที่บังคับใช้ทั่วโลกในทุกชนิดกีฬา และหากเกิดข้อพิพาท เกี่ยวกับการใช้สารกระตุ้นในการกีฬาก็สามารถเลือกใช้การระงับข้อพิพาททางเลือกด้านกีฬาในระดับสากลที่มีชื่อว่า “Court of Arbitration for Sport (CAS) หรือ ศาลอนุญาโตตุลาการกีฬา” ที่จัดตั้งโดยคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee: IOC) ซึ่งมีหน้าที่ในการระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาโดยใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการหรือการประนีประนอมที่เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกปรับใช้ให้เกิดความเหมาะสมกับวงการกีฬาโดยเฉพาะ และเนื่องจากสหพันธ์กีฬาระหว่างประเทศส่วนใหญ่ได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะกรรมการโอลิมปิกสากลจึงมีผลทำให้ต้องทำตามคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการกีฬาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัจจุบันวงการกีฬาของประเทศไทยได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเข้าสู่ระบบสากลมากยิ่งขึ้น ทั้งมีการเข้าไปเป็นสมาชิกในสหพันธ์กีฬาระหว่างประเทศชนิดต่าง ๆ หรือมีการพัฒนาเข้าสู่ระบบกีฬาอาชีพมากขึ้น ทางสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC) ได้มองเห็นความสำคัญในจุดนี้ จึงได้มีการร่วมมือกับคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย และการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดศูนย์ระงับข้อพิพาทด้านกีฬา (TCAS) เพื่อให้การระงับข้อพิพาททางการกีฬาเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และสามารถยุติข้อพิพาทได้ภายในประเทศ ซึ่งในอนาคตหากมีการปรับแก้ไขกฎหมายในเรื่องการดำเนินการต่อต้านสารต้องห้ามให้สอดคล้องกับทิศทางของ WADA สำเร็จ ข้อพิพาทที่เกิดจากการใช้สารกระตุ้นก็จะสามารถเลือกใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการได้เช่นกัน
“เปลี่ยนทุกความขัดแย้งให้เป็นเรื่องง่าย”
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
Tel. : 02-018-1615
Email : [email protected]
#WADA #กีฬาไทย #ศูนย์ระงับข้อพิพาทด้านกีฬา #TCAS #THAC #ThailandArbitrationCenter #สถาบันอนุญาโตตุลาการ #เปลี่ยนทุกความขัดแย้งให้เป็นเรื่องง่าย
ข้อมูล : https://www.sanook.com/sport/1313982/
ศาลอนุญาโตตุลาการกีฬา (bangkokbiznews.com)
สยามกีฬา