เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสัญญาประนีประนอมยอมความ
อย่างที่ได้เคยกล่าวไปในบทความก่อนๆ เกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยหรือการประนีประนอมยอมความแล้วว่ าเป็นกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกที่หลายๆ ฝ่ายนิยมใช้กัน ซึ่งในท้ายที่สุดเมื่อมีการหาข้อสรุปรวมกันได้แล้ว จำเป็นที่จะต้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยในบทความนี้ของ THAC จะพาทุกคนมารู้จักเกี่ยวกับสัญญาประนีประนอมยอมความให้มากขึ้น ว่าคืออะไร จะต้องมีรายละเอียดอะไรบ้าง รวมถึงถ้ามีเหตุการณ์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาจะต้องดำเนินการอย่างไร
สัญญาประนีประนอมยอมความ คือ
ความหมายของสัญญาประนีประนอมยอมความประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 บัญญัติไว้ว่า “อันว่าสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น คือ สัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน” กล่าวคือ สัญญาที่กระทำขึ้นเพื่อระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นสำหรับคู่พิพาท โดยจะมีผลผูกพันทางกฎหมายไม่ต่างจากสัญญาอื่นๆ โดยจะเป็นสัญญาที่เกิดขึ้นเพื่อต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามกฎหมาย และหลังจากหาข้อสรุปรวมกันอย่างดีจะมีการบันทึกข้อตกลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน ซึ่งข้อตกลงที่ทำร่วมกันจะต้องไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย กล่าวคือไม่มีเงื่อนไขที่พ้นวิสัยที่จะปฏิบัติได้ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน เพราะจะถือเป็นโมฆะ อีกทั้งสาระสำคัญของการสัญญาประนีประนอมจะต้องเป็นการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่ลงลายมือของคู่พิพาทหรือตัวแทน เพื่อที่จะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ เพราะหากเป็นสัญญาปากเปล่าไม่มีบันทึกไว้ ถ้าไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงก็ไม่สามารถฟ้องร้องได้ โดยหลักแล้ว สัญญาประนีประนอมจะมีด้วยกัน 2 แบบดังนี้
- สัญญาประนีประนอมยอมความในศาล เกิดขึ้นหลังจากที่ขึ้นศาลและมีการประนีประนอมยอมความในชั้นศาล ศาลจะทำการพิพากษาและได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้น (ส่วนมากแล้วตัวอย่างการประนีประนอมยอมความจะเป็นคดีเกี่ยวกับหนี้สิน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)
- สัญญาประนีประนอมยอมความนอกศาล คือ มีการระงับข้อพิพาทเกิดขึ้นก่อนเข้าชั้นศาลหรือคดียังไม่ถึงที่สุด ซึ่งคู่พิพาทได้ตกลงผ่อนปรน โดยจะมีการทำหนังสือสัญญาขึ้นเพื่อบันทึกข้อตกลงเหล่านั้น ซึ่งตรงตามมาตรา 850 ถึงมาตรา 852 และเรื่องนิติกรรม หนี้ และสัญญา
สิ่งที่สัญญาประนีประนอมจะต้องมี
เนื่องจากสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นสัญญาที่เกิดขึ้นและมีผลบังคับทางกฎหมาย ดังนั้นจะต้องมีลักษณะสำคัญ คือ สัญญาประนีประนอมยอมความต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ มีการลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนฝ่ายนั้น เพื่อที่จะได้สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ อีกทั้งคู่พิพาททั้งสองจะต้องเป็นบุคคลที่สามารถทำนิติกรรมได้ โดยมีรายละเอียด คือ
- ชื่อสัญญาประนีประนอมยอมความหรือบันทึกข้อตกลงที่ระบุ
- วันเดือน ปี พ.ศ. และสถานที่ ที่ทำสัญญา
- ชื่อ สกุล อายุ ที่อยู่หรือภูมิลำเนาของทั้งสองฝ่าย
- ข้อความที่คู่สัญญาตกลงกันที่ชัดเจนและปฏิบัติได้ โดยไม่ผิดกฎหมายหรือขัดต่อศีลธรรมอันดี
- ข้อความว่า “ทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งอื่นใดนอกจากที่ตกลงนี้/ไม่ติดใจดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาใดกันอีกต่อไป” และ “ทั้งสองฝ่ายได้อ่านและเข้าใจในข้อตกลงข้างต้นเป็นอย่างดีแล้วจึงได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานต่อหน้าพยาน”
- การลงมือชื่อทั้งสองฝ่ายและพยาน
- อาจมีการระบุข้อตกลงเพิ่มเติมหรือเงื่อนไขหากทำผิดสัญญาจะดำเนินการฟ้องร้องบังคับคดีหรือการอนุญาโตตุลาการ
จะทำอย่างไร ถ้าไม่ปฏิบัติตามสัญญา
เมื่อคู่พิพาทไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอม โดยทั่วไปแล้วสามารถแยกออกได้ 2 รูปแบบหลักๆ คือ
- กรณีที่ละเมิดสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล โดยทั่วไปแล้วเมื่อมีฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่ากับไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ดังนั้นคู่พิพาทไม่จำเป็นต้องนำคดีนี้มาฟ้อง แต่สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับคดีให้อีกฝ่ายทำตามสัญญาได้เลยทันที
- กรณีที่ละเมิดสัญญาประนีประนอมยอมความนอกศาล สามารถที่จะทำได้ 2 กรณีคือ นำเข้าไปสู่การเข้ากระบวนการยุติธรรมผ่านการฟ้องร้องเพื่อให้ศาลบังคับคดี หรือในกรณีที่ต้องการความสะดวกและเก็บเป็นความลับ สามารถที่จะเลือกการระงับข้อพิพาททางเลือกอย่างการอนุญาโตตุลาการได้เช่นกัน
จากที่ทาง THAC ได้กล่าวถึงการทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว สำหรับท่านใดที่สนใจและกำลังมองหาผู้ประนีประนอมที่มีความรู้ความสามารถหรือประสบปัญหาถูกละเมิดสัญญาประนีประนอมยอมความและต้องการใช้กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก ทาง THAC หรือสถาบันอนุญาโตตุลาการสามารถให้ความช่วยเหลือและระงับข้อพิพาทอย่างสันติ มีกระบวนการดำเนินการที่ยืดหยุ่น สามารถรักษาความสัมพันธ์ และดำเนินการอย่างเป็นความลับได้
เกี่ยวกับเรา
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย