
กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน คืออะไร ต่างจากสิทธิครอบครองอย่างไร

คำว่า “กรรมสิทธิ์” เป็นคำที่หลายคนอาจได้ยินตามสื่อที่นำเสนอเรื่องกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะในข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินหรือที่ดิน อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจไม่ทราบแน่ชัดว่ากรรมสิทธิ์หมายถึงอะไร และแตกต่างจากสิทธิในรูปแบบอื่นอย่างไร บทความนี้ THAC จะพามาทำความเข้าใจว่า กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินหมายถึงอะไร ความสำคัญของการมีกรรมสิทธิ์ รวมถึงประเด็นสำคัญต่างๆ ที่ควรรู้ เพื่อรักษาสิทธิทางกฎหมาย
กรรมสิทธิ์ คืออะไร
กรรมสิทธิ์ หมายถึง ความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน โดยเจ้าของกรรมสิทธิ์นั้นมีสิทธิ์ในการใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินนั้นๆ รวมถึงสามารถเรียกคืนทรัพย์จากผู้ที่ไม่มีสิทธิ์ ตามที่ระบุในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา ๑๓๖๖ เช่น ผู้ที่มีชื่ออยู่ใน “โฉนดที่ดิน” ถือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และมีสิทธิเหนือพื้นดินในที่ดินแปลงดังกล่าว หรือหากมีชื่อปรากฏอยู่บนเล่มทะเบียนรถยนต์ ในทางกฎหมายถือว่ารถยนต์คันนั้นๆ อยู่ในกรรมสิทธิ์ของบุคคลดังกล่าว ในอีกนัยหนึ่ง กรรมสิทธิ์เปรียบเสมือนเกราะป้องกันสิ่งของที่เป็นสมบัติส่วนตัวของผู้ครอบครองนั่นเอง
นอกจาก “ทรัพย์” ที่เป็นรูปธรรมแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นยังครอบคลุมถึงทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ถือลิขสิทธิ์ ป้องกันไม่ให้ผู้อื่น คัดลอก ดัดแปลง หรือใช้งานในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ
เจ้าของกรรมสิทธิ์ มีสิทธิอะไรบ้าง
ผู้ที่ถือครองกรรมสิทธิ์หรือมีชื่อในเอกสารที่ทางราชการออกให้ เช่น โฉนดที่ดิน โฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง เล่มทะเบียนรถยนต์ หรือมีชื่อเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ สามารถใช้สอย จำหน่าย หรือจ่ายโอนให้ได้มาซึ่งดอกผล และติดตามเอาคืนจากผู้ไม่มีสิทธิ์ได้
โดยหากมีผู้ที่ละเมิดกรรมสิทธิ์ อาทิ ขโมย ยักยอก อ้างสิทธิ์โดยมิชอบ คัดลอก หรือใช้ทรัพย์สินนั้นในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าของสามารถดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายให้การนำทรัพย์สินเหล่านั้นกลับสู่การครอบครองของตน
ทั้งนี้ มีบางกรณีที่เจ้าของกรรมสิทธิ์อาจสูญเสียสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นๆ อย่างกรณีการ “ครอบครองปรปักษ์” ของที่ดิน เช่น หากเจ้าของที่ดินปล่อยปละละเลยที่ดินดังกล่าว แล้วมีบุคคลอื่นเข้าไปใช้พื้นที่เกิดประโยชน์เป็นระยะเวลา 10 ปี บุคคลที่ไม่ใช่เจ้าของที่ดินแต่เดิมสามารถยื่นครอบครองปรปักษ์ เพื่อเป็นผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น
กรรมสิทธิ์กับสิทธิครอบครอง ต่างกันอย่างไร

แม้จะมีลักษณะบางประการที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ผู้ทรงสิทธิทั้งสองประเภทสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินดังกล่าวได้ แต่ขอบเขตและความสมบูรณ์ของสิทธินั้นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ดังนี้
กรรมสิทธิ์
เป็นสิทธิความเป็นเจ้าของที่สมบูรณ์ที่สุดตามกฎหมาย ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จะได้รับการรับรองสิทธิผ่านเอกสารสำคัญทางราชการ เช่น โฉนดที่ดิน ซึ่งแสดงถึงความเป็นเจ้าของอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์สามารถทำสัญญาซื้อขาย จำนอง หรือทำนิติกรรมใดๆ กับทรัพย์สินได้อย่างเต็มที่ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายในระดับสูงสุด
สิทธิครอบครอง
ในทางกลับกัน สิทธิครอบครอง เป็นเพียงสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินเท่านั้น โดยผู้ที่มีสิทธิครอบครองจะได้รับเอกสารที่แสดงการรับรองการทำประโยชน์ เช่น น.ส.3 แต่ไม่ใช่เอกสารแสดงความเป็นเจ้าของ ซึ่งสิทธิครอบครองมีความเสี่ยงที่จะถูกแย่งการครอบครองได้หากปล่อยให้ผู้อื่นเข้าครอบครองเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และมีข้อจำกัดในการทำนิติกรรมมากกว่ากรรมสิทธิ์
อย่างไรก็ตาม ผู้มีสิทธิครอบครองสามารถพัฒนาสิทธิของตนให้เป็นกรรมสิทธิ์ได้ โดยการดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด เช่น การขอออกโฉนดที่ดินในกรณีที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เป็นสิทธิที่สำคัญที่สุดในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน การเข้าใจสิทธิและหน้าที่ของการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จะช่วยให้เราสามารถปกป้องและใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสถานะกรรมสิทธิ์ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเพื่อความชัดเจน
จากทั้งหมดที่ได้กล่าวมา จะเห็นได้ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินมีรายละเอียดทางกฎหมายที่เจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ทรงสิทธิในที่ดินจำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจ เพื่อให้การทำนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นสัญญาซื้อขายหรือการจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับพื้นที่ดินมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สิน อาจเกิดข้อพิพาททางกฎหมายขึ้นได้หากสัญญาหรือข้อตกลงไม่ชัดเจน ในกรณีเช่นนี้ การไกล่เกลี่ยหรืออนุญาโตตุลาการเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการระงับข้อพิพาท
เกี่ยวกับ THAC
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงง่าย สะดวก และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
สนใจติดต่อ THAC ได้ทาง
อีเมล: [email protected]