อนุสัญญาสิงคโปร์ : กลไกส่งเสริมการประนอมข้อพิพาทระหว่างประเทศ
เป็นที่รับรู้กันอย่างแพร่หลายว่า การฟ้องคดี หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Litigation นั้น มีความไม่เหมาะสมในบางประการที่จะใช้ระงับข้อพิพาททางการค้าและพาณิชย์ระหว่างประเทศ เนื่องด้วยค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง, ใช้ระยะเวลาในการดำเนินกระบวนพิจารณานาน, การแพ้ชนะคดีด้วยเรื่องทางเทคนิคยิ่งไปกว่า การต่อสู้ในทางเนื้อหาของข้อพิพาท ตลอดจนยังประสบปัญหาเรื่องความแตกต่างของระบบกฎหมายและระดับศาลของแต่ละประเทศด้วย ดังนั้น จึงไม่ถือเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมมากนัก ดังจะเห็นได้จากผลสำรวจของมหาวิทยาลัย Queen’s Mary ในปี ค.ศ. 2018 ซึ่งได้จัดทำและรวบรวมวามเห็นจากนักวิชาชีพทางกฎหมายที่เคยมีประสบการณ์ด้านการระงับข้อพิพาททางการค้าและการพาณิชย์ระหว่างประเทศนั้น มีเพียงร้อยละ 1 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดที่เห็นว่า กระบวนการฟ้องคดีต่อศาลนั้นเป็นวิธีการที่เหมาะสมแก่การระงับข้อพิพาททางการค้าและการพาณิชย์ระหว่างประเทศ และอีกร้อยละ 3 เห็นว่า การฟ้องคดีต่อศาลร่วมกับการกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกอื่น น่าจะเป็นวิธีการที่เหมาะสม[1]
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
ด้วยข้อจำกัดของกระบวนการฟ้องคดีต่อศาลตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น จึงมีแนวโน้มที่จะหันมาใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศกันมากขึ้น เนื่องจากประสิทธิภาพในการบังคับตามคำชี้ขาดได้ ในกว่า 160 ประเทศทั่วโลกตามที่ได้ลงนามเป็นประเทศภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับและบังคับตามคำชี้ขาดที่ทำขึ้นในต่างประเทศ ค.ศ. 1958[2] หรือที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายภายใต้ชื่อ “อนุสัญญานิวยอร์ก” นอกจากนี้ ยังมีข้อดีในเรื่องความสามารถของคู่พิพาทที่จะเลือกอนุญาโตตุลาการได้ด้วยตนเอง อีกทั้งกระบวนการยังเป็นความลับและรักษาความเป็นส่วนตัวของคู่พิพาทด้วย
อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไป เริ่มพบเห็นอุปสรรคในกระบวนการอนุญาโตตุลาการมากขึ้น ทั้งค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง และความล่าช้าที่เกิดจากการดำเนินกระบวนพิจารณา ในปัจจุบันจึงเริ่มหันเหความสนใจไปที่กระบวนการประนอมข้อพิพาทกันมากขึ้น เนื่องจากค่อนข้างประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพทำให้ไม่พัฒนาจากข้อพิพาทในครั้งนี้เป็นความขัดแย้งในระยะยาว เรียกได้อีกอย่างว่าเป็นวิธีการที่รักษาความสัมพันธ์ของคู่กรณีนั่นเอง อย่างไรก็ดี กระบวนการประนอมข้อพิพาทมีอุปสรรคที่สำคัญประการหนึ่ง คือเรื่องสภาพบังคับของสัญญาประนีประนอมยอมความที่ผูกพันคู่กรณีในฐานะเป็นสัญญาฉบับหนึ่งเท่านั้น กล่าวคือ หากสามารถประนอมข้อพิพาทกันได้สำเร็จจนถึงขั้นจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้แล้ว หากคู่กรณีฝ่ายที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญานั้นกลับไม่ยอมปฏิบัติตาม หรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อสัญญา เช่นนี้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องดำเนินการระงับข้อพิพาทตามกระบวนการที่ระบุในสัญญาต่อไป ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งกระบวนการอนุญาโตตุลาการและการฟ้องคดีต่อศาล นำมาซึ่งระยะเวลาและค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็นในการดำเนินกระบวนพิจารณา และด้วยข้อบกพร่องเรื่องประสิทธิภาพในการบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความสำหรับข้อพิพาทระหว่างประเทศเช่นนี้เองจึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการเลือกใช้กระบวนการประนอมข้อพิพาท
จากอุปสรรคด้านการบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวนี้เองทำให้ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2018 คณะทำงานของ UNCITRAL กลุ่มที่ 2 (UNCITRAL Working group II) ที่รับผิดชอบด้านการระงับข้อพิพาททางเลือกนั้น จึงได้เสนอร่างฉบับสมบูรณ์ของอนุสัญญา UNCITRAL Convention on International Settlement agreements resulting from mediation และได้ยอมรับกฎหมายต้นแบบของ UNCITRAL ที่เกี่ยวข้องกับการประนอมข้อพิพาททางแพ่งระหว่างประเทศ ซึ่งใช้ชื่อว่า UNCITRAL Model law on international commercial mediation and International settlement agreement resulting from mediation ค.ศ. 2018[3] นอกจากนี้ ในวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 2018 องค์การสหประชาชาติได้อนุมัติรับรองอนุสัญญาดังกล่าว และกำหนดให้จัดพิธีลงนามอนุสัญญา ณ ประเทศสิงคโปร์ ทำให้อนุสัญญาฉบับนี้มีชื่อเรียกที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า อนุสัญญาสิงคโปร์ หรือ Singapore Convention นั่นเอง
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ค.ศ. 2019 ได้มีการจัดพิธีลงนามในอนุสัญญา ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยในวันเดียวกันนั้นเองมีประเทศที่ลงนามทั้งสิ้นจำนวน 46 ประเทศ ต่อมามีประเทศที่ลงนามเพิ่มขึ้นอีก 7 ประเทศ[4] ทำให้ขณะนี้มีประเทศซึ่งอนุวัติการ/ภาคยานุวัติอนุสัญญาฯ ดังกล่าวแล้ว รวมทั้งสิ้น 53 ประเทศ[5] ครอบคลุมประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน และสหรัฐอเมริกา
อนุสัญญาสิงคโปร์[6]นับว่าเป็นกลไกที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ขจัดอุปสรรคด้านการบังคับตามสำหรับ ข้อพิพาทระหว่างประเทศลง กล่าวคือ บันทึกข้อตกลงสำหรับระงับข้อพิพาททางพาณิชย์ระหว่างประเทศ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการประนอมฯ นั้น นอกจากจะผูกพันคู่กรณีในฐานะสัญญาอย่างหนึ่งแล้ว หากคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่มีหน้าที่ตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้ในบันทึกแล้ว กลับไม่ยอมปฏิบัติตาม หรือปฏิบัติโดยไม่ถูกต้องสมควร คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งสามารถยื่นคำร้องขอต่อองค์กรที่มีอำนาจ (Competent authority) เพื่อให้บังคับตามข้อตกลงเช่นว่านั้นได้ ซึ่งเหตุในการปฏิเสธไม่บังคับนั้นมีค่อนข้างจำกัด กล่าวคือ เมื่อคู่กรณีพิสูจน์ได้ว่ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งของคู่สัญญาที่บกพร่องเรื่องความสามารถ, บันทึกข้อตกลงเป็นโมฆะ หรือใช้บังคับไม่ได้ หรือไม่มีผลผูกพัน ตามกฎหมายแห่งประเทศที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้ , ไม่มีผลผูกพัน หรือไม่เป็นที่ยุติตามเงื่อนไขในข้อตกลง, ได้มีการปฏิบัติตามข้อตกลงแล้ว หรือเงื่อนไขไม่ชัดเจน หรือไม่สามารถเข้าใจได้, การบังคับตามจะเป็นการขัดหรือแย้งกับข้อตกลงในบันทึกนั้นเอง หรืออาจเป็นกรณีที่องค์กรที่มีอำนาจเห็นได้เอง หากการบังคับตามข้อตกลงนั้นจะขัดหรือแย้งกับประโยชน์สาธารณะ หรือเรื่องที่พิพาทกันนั้นไม่อาจดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยวิธีการประนอมฯ ได้ภายใต้กฎหมายที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้[7] เป็นต้น
อย่างไรก็ดี อนุสัญญานี้ก็ยังมีข้อจำกัดด้านขอบเขตอยู่ กล่าวคือจะไม่นำมาบังคับใช้กับบันทึกข้อตกลงในการระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับบุคคล, ครอบครัว, มรดก รวมทั้งข้อพิพาททางแรงงาน นอกจากนี้ก็ไม่ใช้กับบันทึกข้อตกลงที่มีสภาพบังคับอย่างคำพิพากษาของศาลหรือคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ[8]
ในอีกนัยหนึ่ง ก็สามารถพูดได้ว่าอนุสัญญาสิงคโปร์ เป็นเครื่องมือที่แสดงถึงพัฒนาการในทางที่ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้การประนอมข้อพิพาทสำหรับคดีแพ่งและพาณิชย์ระหว่างประเทศ และยังเป็นเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกในการบังคับตามบันทึกข้อตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะลงนามในการอนุสัญญาดังกล่าวหรือไม่และเมื่อใด เพราะต้องพิจารณาถึงความพร้อมของกฎหมายภายในประเทศซึ่งต้องบัญญัติให้สอดคล้องกับข้อบทและอนุวัติการตามอนุสัญญาฯ ด้วย
กฎหมายการประนอมข้อพิพาทกับประเทศไทย
เมื่อปี พ.ศ. 2562 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งกฎหมายฉบับดังกล่าวบัญญัติขึ้นเพื่อวางหลักการเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสำหรับคดีแพ่ง ที่มีทุนทรัพย์เล็กน้อย กล่าวคือ ต้องเป็นคดีทีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 5 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสำหรับคดีอาญาในบางประเภทด้วย
ถ้าจะพูดกันตามความเป็นจริงแล้ว กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายฉบับแรกที่เกี่ยวกับการไกล่เกลี่ย อย่างแน่แท้ เพราะเดิมเรื่องการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หรือการประนอมข้อพิพาทจะสอดแทรกอยู่ในกฎหมายต่างๆ เช่น มาตรา 850 – 852[9] แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นลักษณะ 17 ว่าด้วยประนีประนอมยอมความ, พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522[10] มาตรา 10 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคได้ก่อนการฟ้องคดี ต่อศาล เป็นต้น ซึ่งผลผลิตที่ได้จากกระบวนการประนอมข้อพิพาทหรือการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนอกศาลก็จะได้เป็นสัญญาประนีประนอมยอม ซึ่งบังคับได้อย่างสัญญาประเภทหนึ่งเท่านั้น
อย่างไรก็ดี เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562[11] ออกมาใช้บังคับ ก็ได้นำรูปแบบของการยื่นคำร้องขอให้บังคับตามบันทึกข้อตกลงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาใช้ กล่าวคือ หากคู่กรณีฝ่ายที่มีหน้าที่ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อตกลงระงับข้อพิพาท คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งอาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้บังคับ ตามข้อตกลงระงับข้อพิพาทนั่นก็ได้ ซึ่งโดยหลักศาลก็จะต้องบังคับให้เว้นแต่มีเหตุเท่าที่กฎหมายปรากฎเท่านั้น ศาลจึงจะปฏิเสธไม่บังคับให้ เช่น ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บกพร่องความสามารถ, มูลเหตุแห่งข้อพิพาทมีลักษณะต้องห้ามโดยชัดแจ้ง ตกเป็นการพ้นวิสัย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชาชน[12] เป็นต้น จึงทำให้การบังคับตามข้อตกลงระงับข้อพิพาทนั้นเป็นไปโดยง่าย และใช้ระยะเวลาน้อยกว่าการต้องฟ้องคดีเพื่อให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
กระนั้นก็ตาม ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในช่วงต้นของบทความส่วนนี้ ว่ากฎหมายการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไม่ได้ใช้บังคับกับข้อตกลงหรือสัญญาประนอมข้อพิพาทในทุกกรณี แต่ต้องเป็นการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ดำเนินการตามกฎหมายนี้ด้วย ซึ่งขอบเขตค่อนข้างจำกัด หากพิจารณาในมิติของคดีแพ่งแล้ว ทุนทรัพย์ก็ค่อนข้างไม่สูงมากนัก กลไกดังกล่าวจึงอาจไม่ตอบรับกับข้อตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศที่มีทุนทรัพย์ค่อนข้างสูงนั่นเอง
กระบวนการ Med-Arb ในประเทศไทย
กระบวนการ Med-Arb ในที่นี้ หมายถึง กรณีที่คู่พิพาทเลือกใช้กระบวนการประนอมฯ หรือ Mediation ในการระงับข้อพิพาทก่อนในเบื้องต้น ภายหลังจากที่การประนอมฯ สำเร็จ คู่กรณีสามารถตกลงกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้แล้ว อาจมีความประสงค์ให้สัญญาเช่นว่านั้นมีสภาพบังคับเสทือนคำชี้ขาด จึงยื่นเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ หรือ Arbitration โดยที่คณะอนุญาโตตุลาการจะตรวจทานว่าข้อตกลงนั้นชอบด้วยกฎหมายและสามารถบังคับได้หรือไม่เท่านั้น หากว่าเนื้อหาของสัญญาชอบด้วยกฎหมายคณะอนุญาโตตุลาการก็จะต้องทำคำชี้ขาดให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่คู่กรณีได้ตกลงกันเอาไว้ในสัญญานั่นเอง ไม่อาจพิจารณาในเนื้อหาของข้อพิพาทได้
ซึ่งกระบวนการดังกล่าวก็ปรากฎในข้อบังคับของสถาบันอนุญาโตตุลาการ ว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่เกิดจากกระบวนการประนอมข้อพิพาท พ.ศ. 2560[13] เช่นกัน ซึ่งคู่กรณีที่ประสงค์จะเปลี่ยนสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการก็สามารถยื่นคำขอให้ดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการ นายทะเบียน[14]เมื่อได้รับคำขอจากคู่กรณีแล้ว ก็จะแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นคนหนึ่งโดยที่ต้องไม่ใช่ผู้ประนอมข้อพิพาทด้วย[15] โดยที่อนุญาโตตุลาการก็จะมีอำนาจในการพิจารณาเพียงว่าสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย หากไม่ฝ่าฝืนก็ให้ออกคำชี้ขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้เลยทีเดียว[16] ซึ่งนับว่าเป็นกระบวนการ Med-Arb ที่อยู่ภายใต้การดำเนินการของ ที เอช เอ ซี สถาบันอนุญาโตตุลาการนั่นเอง อย่างไรก็ดี ข้อบังคับฯ นี้จำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะการประนอมข้อพิพาทที่อยู่ภายใต้การจัดการโดยสถาบันฯ หรือหน่วยงานที่มีความตกลงกับสถาบันฯ เท่านั้น[17]
- [1] สืบค้นจาก http://www.arbitration.qmul.ac.uk/media/arbitration/docs/2018-International-Arbitration-Survey—The-Evolution-of-International-Arbitration-(2).PDF), เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564.
- [2] รายชื่อสมาชิกสามารถดูได้ที่ http://www.newyorkconvention.org/countries
- [3] เดิมในปี ค.ศ. 2012 ได้มีกฎหมายต้นแบบเกี่ยวกับการประนอม/ไกล่เกลี่ย ภายใต้ชื่อว่า “UNCITRAL model law on international commercial conciliation 2002”
- [4] “Annex B : Factsheet on Singapore Convention on Mediation” , สืบค้นจาก https://www.mlaw.gov.sg/files/news/press-releases/2020/9/AnnexBSCMFactsheet.pdf, เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564.
- [5] สืบค้นจาก https://treaties.un.org/pages/ViewDetails.aspx?src=TREATY&mtdsg_no=XXII-4&chapter=22&clang=_en, เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564.
- [6] อนุสัญญาสิงคโปร์มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2020 ซึ่งเป็นระยะเวลา 6 เดือน นับจากมีประเทศที่มอบสัตยาบันสารให้เลขาธิการสหประชาชาติครบ 3 ประเทศ ตาม Article 10, 11(4) และ 14 ของอนุสัญญาฯ
- [7] Article 5 ของอนุสัญญาสิงคโปร์
- [8] ทั้งนี้ เนื่องมาจากว่ามีอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการบังคับตามคำพิพากษาของศาลและคำชี้ขาดของ คณะอนุญาโตตุลาการเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว สำหรับคำพิพากษาของศาลคืออนุสัญญากรุงเฮกฯ และคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการคืออนุสัญญานิวยอร์คฯ นั่นเอง
- [9] กล่าวโดยสรุปได้ว่า การประนีประนอมยอมความนั้น คือสัญญาซึ่งคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไปโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน ต้องจัดทำในรูปแบบของหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ ต้องรับผิด มิเช่นนั้นก็จะไม่สามารถฟ้องร้องบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ซึ่งการทำสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ก็จะทำให้การเรียกร้องที่มีกันมาแต่เดิมนั้นระงับสิ้นไป ในที่นี้ แนวคำพิพากษาฎีกาหลายคำพิพากษาจะพิจารณาว่าเมื่อมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว สัญญาก็จะมีผลผูกพันคู่สัญญาให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแความตกลงที่ปรากฎในสัญญานั้น และต้องถือว่ามูลหนี้เดิมที่ได้พิพาทกันนั้นเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยเพราะเป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามมาตรา 349 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- [10] บทบัญญัติดังกล่าวแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2556, เผยแพร่ ในราชกิจจานุเบกษา/เล่มที่ 130/ตอนที่ 25 ก/หน้า 24/ลงวันที่ 18 มีนาคม 2556, สืบค้นจาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2556/A/025/4.PDF, เข้าถึงเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564.
- [11] ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 136/ตอนที่ 67 ก/หน้า 1/ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2562
- [12] มาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562
- [13] ราชกิจจานุเบกษา/เล่มที่ 134/ตอนพิเศษ 215 ง/หน้า 57/ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2560, สืบค้นจาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/215/57.PDF, เข้าถึงเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 .
- [14] “นายทะเบียน” ตามข้อบังคับของสถาบันอนุญาโตตุลาการ ฯ หมายถึง ผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการ
- [15] ข้อ 5 แห่งข้อบังคับของสถาบันอนุญาโตตุลาการ ว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่เกิดจากกระบวนการประนอมข้อพิพาท พ.ศ. 2560
- [16] ข้อ 8 แห่งข้อบังคับของสถาบันอนุญาโตตุลาการ ว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่เกิดจากกระบวนการประนอมข้อพิพาท พ.ศ. 2560
- [17] ข้อ 4 แห่งข้อบังคับของสถาบันอนุญาโตตุลาการ ว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่เกิดจากกระบวนการประนอมข้อพิพาท พ.ศ. 2560