บทบาทของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรในข้อพิพาททะเลจีนใต้ : กรณีศึกษาฟิลิปปินส์และจีน
วันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 2013 สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ยื่นขออนุญาโตตุลาการต่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea; UNCLOS) โดยคำนึงถึงบทบาทของสิทธิทางประวัติศาสตร์และสิทธิในทรัพยากรในทะเลจีนใต้รวมไปถึงการกระทำการทางกฎหมายของจีนซึ่งฟิลิปปินส์กล่าวอ้างว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดต่ออนุสัญญาดังกล่าว
อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล กล่าวได้ว่าเป็นธรรมนูญแห่งทะเลเนื่องจากมีแนวทางและข้อกำหนดทางกฎหมายทะเลและมีรัฐภาคีกว่า 168 รัฐ ซึ่งทั้งฟิลิปปินส์และจีนก็ต่างลงนามให้สัตยาบันเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญานี้
ข้อเท็จจริงในคดีพิพาท
ประเด็นข้อพิพาทเกิดขึ้นจากการขัดแย้งทางกฎหมายในสิทธิทางทะเลจีนใต้ระหว่างสาธารณรัฐฟิลิปปินส์และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน เนื่องจากทะเลจีนใต้เป็นทะเลกึ่งเปิดที่มีอาณาเขตติดกับหลายรัฐจึงนับเป็นเขตสำคัญทางเศรษฐกิจและธรรมชาติ ซึ่งฟิลิปปินส์ได้มีการร้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration) เพื่อระงับข้อพิพาทตามข้อ 286 และ ข้อ 287 แห่งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลซึ่งฟิลิปปินส์ต้องการให้มีคำชี้ขาดใน 4 กรณี ได้แก่
- กำหนดถึงสิทธิและหน้าที่ของทั้งสองรัฐอย่างชัดเจนทั้งน่านน้ำ (Water) พื้นดินท้องทะเล (Seabed) เกาะ (Island) และพื้นที่เหนือน้ำขณะน้ำลด (low-tide elevations) ในทะเลจีนใต้ภายใต้อนุสัญญา ซึ่งการที่จีนใช้การวัดอาณาเขตด้วยหลักเส้นประ 9 เส้นนั้นเป็นการวัดอาณาเขตทางทะเลด้วยการใช้สิทธิทางประวัติศาสตร์ซึ่งปรากฏในแผนที่ของจีนเท่านั้นจึงขัดต่ออนุสัญญาเพราะฉะนั้นจึงไม่มีผลบังคับใช้
- ตัดสินว่าพื้นดินกลางทะเลของหมู่เกาะสแปรตลีย์ที่ทั้งสองรัฐครอบครองนั้นเป็นเกาะ พื้นที่เหนือน้ำขณะน้ำลด หรือโขดหิน (Reefs) ตามข้อ 121 แห่งอนุสัญญา และรัฐสามารถกำหนดอาณาเขตทางทะเลเกินกว่า 12 ไมล์ทะเลได้หรือไม่ รวมไปถึงการได้มาซึ่งสิทธิทางทะเลตามอนุสัญญาบริเวณเกาะปะการังสกาโบโรห์
- แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางกฎหมายของจีนในทะเลจีนใต้ ซึ่งฟิลิปปินส์กล่าวว่าจีนได้กระทำการละเมิดต่ออนุสัญญาด้วยการละเมิดสิทธิทางการประมง การขุดหาน้ำมันในทะเลและการสร้างเกาะเทียม รวมไปถึงการที่จีนล้มเหลวในการปกป้องและดูแลทรัพยากรทางทะเล กล่าวคือชาวประมงจีนมีการจับสัตว์น้ำใกล้สูญพันธ์และทำการประมงซึ่งเป็นอันตรายต่อแนวปะการัง
- ฟิลิปปินส์ต้องการให้ศาลอนุญาโตตุลาการชี้ว่าจีนประสงค์ให้การยุติข้อพิพาทนี้ล่าช้าและทำให้สถานการณ์แย่ลงโดยการจำกัดเขตแดนการเดินเรือของฟิลิปปินส์ที่เกาะ Second Thomas Shoal รวมไปถึงการสร้างเกาะเทียมและการใช้ประโยชน์ในดินแดนแนวปะการังของหมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Islands)
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจคือฟิลิปปินส์ไม่ได้ต้องการให้ศาลอนุญาโตตุลาการตัดสินชี้ขาดกรณีของอำนาจอธิปไตย[1]เหนือเกาะพิพาทว่าเป็นของรัฐใดรวมไปถึงไม่ได้ขอให้มีการจำกัดเขตแดนทางทะเลระหว่างสองรัฐ
อย่างไรก็ตามจีนได้เพิกเฉยต่อการร้องขออนุญาโตตุลาการของฟิลิปปินส์โดยกล่าวว่าเป็นสิทธิตามอนุสัญญาที่จะไม่เข้าร่วมในการอนุญาโตตุลาการซึ่งการไม่เข้าร่วมของรัฐนั้นมีปรากฏหลักตามภาคผนวก 7 ข้อ 9 แห่งอนุสัญญาว่า การที่ฝ่ายหนึ่งไม่มาปรากฏตัวหรือการไม่ต่อสู้คดีจะไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนพิจารณา
ศาลอนุญาโตตุลาการจึงถือว่าจีนเป็นรัฐที่ยังคงเป็นฝ่ายหนึ่งในการอนุญาโตตุลาการตามข้อ 296(1) และ ข้อ 11 ของภาคผนวก 7 แห่งอนุสัญญา
แม้ว่าจีนเลือกที่จะไม่ปรากฏตัวในคดีอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ดีจีนได้มีการเปิดเผย“Position Paper of the Government of the People’s Republic of China on the Matter of Jurisdiction in the South China Sea Arbitration Initiated by the Republic of the Philippines” ซึ่งเป็นเอกสารอย่างไม่เป็นทางการถึงการไม่ยอมรับเขตอำนาจของศาลอนุญาโตตุลาการในคดีนี้โดยกระทรวงการต่างประเทศของจีน ที่กล่าวว่าศาลอนุญาโตตุลาการไม่มีเขตอำนาจเนื่องจากสาระสำคัญในคดีคืออำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนพิพาทในทะเลจีนใต้ อีกทั้งจีนและฟิลิปปินส์ได้มีการทำสนธิสัญญาระหว่างสองรัฐรวมไปถึงเป็นภาคีในปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ ซึ่งมีข้อตกลงว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นรัฐจะระงับข้อพิพาทด้วยการเจรจา นอกจากนี้จีนกล่าวว่าการโต้แย้งของฟิลิปปินส์จะเป็นชนวนก่อให้เกิดข้อจำกัดทางทะเลของทั้งสองรัฐอีกด้วย
ด้วยอาศัยอำนาจตามอนุสัญญาข้อ 288(4) ซึ่งวางหลักไว้ว่า เมื่อมีข้อพิพาทว่าศาลหรือคณะตุลาการมีเขตอำนาจหรือไม่ ให้ศาลหรือคณะตุลาการนั้นเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด และตามภาคผนวก 7 ข้อ 9 ที่วางหลักไว้ว่า ก่อนจะมีคำชี้ขาด ศาลอนุญาโตตุลาการไม่เพียงแต่จะต้องแน่ใจว่าตนมีเขตอำนาจเหนือข้อพิพาทเท่านั้น แต่จะต้องแน่ใจว่าข้อเรียกร้องนั้นมีมูลความจริงและพื้นฐานทางกฎหมายเพียงพอ ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรจึงได้มีคำชี้ขาดเกี่ยวกับเขตอำนาจของศาลว่าศาลอนุญาโตตุลาการมีอำนาจตามภาคผนวก 7 แห่งอนุสัญญาเนื่องจากการไม่ปรากฏตัวของจีนไม่เป็นการลดทอนอำนาจของศาลและปฏิญญาว่าด้วยแนวปปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ไม่ขัดต่อข้อ 281 หรือ ข้อ 282 แห่งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ซึ่งวางหลักไว้ว่า รัฐภาคีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการตีความหรือการให้อนุสัญญาได้มีการตกลงกันระงับข้อพิพาทด้วยวิธีที่เลือกเอง วิธีการระงับข้อพิพาทที่บัญญัติในในอนุสัญญาใช้บังคับเมื่อไม่สามารถระงับข้อพิพาทได้ด้วยวิธีเช่นว่านั้น และความตกลงต่างๆไม่ตัดโอกาสที่จะใช้วิธีการดำเนินการอย่างอื่น
อย่างไรก็ตามหลังมีการชี้ขาดเรื่องอำนาจของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร จีนยังคงไม่ยอมรับในคำชี้ขาดของศาลอนุญาโตตุลาการพร้อมกล่าวว่าคำชี้ขาดไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นโมฆะจึงไม่มีผลผูกพันกับจีน และยังคงยืนยันว่าศาลอนุญาโตตุลาการถาวรไม่มีเขตอำนาจในข้อพิพาทนี้ด้วยเหตุผลเดิมที่จีนกล่าว เพื่อมิให้เป็นที่สงสัยศาลอนุญาโตตุลาการยังคงยืนยันคำชี้ขาดด้วยข้อกำหนดตามอนุสัญญาเพื่อเป็นการยืนยันว่าศาลมีอำนาจในการชี้ขาดข้อพิพาทนี้
คำชี้ขาดของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร
การพิจารณาชี้ขาดของศาลอนุญาโตตุลาการเริ่มด้วยประเด็นวัดอาณาเขตของจีนด้วยหลักเส้นประ 9 เส้น อิงจากหลักแห่งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลพิจารณาร่วมกับอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ศาลชี้ว่าการที่จีนอ้างถึงสิทธิทางประวัติศาสตร์ในภูมิภาคของจีนไม่ได้แสดงให้เห็นว่าจีนสามารถใช้สิทธิทางประวัติศาสตร์นั้นในทะเลจีนใต้ได้ ในทางกลับกันเป็นการใช้สิทธิในทะเลหลวงมากกว่า อีกทั้งสิทธินั้นไม่ได้สร้างผลผูกพันและการปฏิบัติตามจากรัฐอื่นจะเรียกว่าเป็นสิทธิทางประวัติศาสตร์มิได้ นอกจากนั้น นับตั้งแต่ที่จีนมีการออกเอกสารการวัดอาณาเขตด้วยหลักเส้นประ 9 เส้นในปี 2009 นั้น หลายรัฐมีการคัดค้านการวัดอาณาเขตด้วยหลักนี้เช่นกัน ศาลจึงมีคำชี้ขาดว่าอนุสัญญามีผลแทนที่สิทธิทางประวัติศาสตร์ สิทธิอธิปไตย[2] หรืออำเขตนาจของรัฐซึ่งถูกกำหนดไว้ให้มีมากเกินไป ศาลยังมีคำชี้ขาดว่าเขตอำนาจของรัฐในสิทธิทางประวัติศาสตร์จะถูกจำกัดเมื่อกรณีทางทะเลและดินแดนรอบทะเลจีนใต้ กล่าวคือหากรัฐสามารถอ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์บนเกาะได้ รัฐก็จะสามารถกำหนดอาณาเขตทางทะเลบนเกาะของรัฐได้เช่นกัน
ประเด็นต่อมาคือการโต้แย้งกรณีพื้นดินกลางหมู่เกาะสแปรตลีย์ว่าเป็นลักษณะธรรมชาติทางทะเลชนิดใด ซึ่งประเด็นนี้ไม่ได้โต้แย้งถึงเรื่องอำนาจอธิปไตยของรัฐเหนือพื้นที่พิพาทกระทั่งหากพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่เหนือน้ำขณะน้ำลด รัฐที่มีอำนาจอธิปไตยจะสามารถกำหนดอาณาเขตได้ก็ตาม แต่เป็นการโต้เถียงเรื่องการจำกัดเขตแดนทางทะเล แม้ว่าในความเป็นจริงการได้มาซึ่งสิทธิทะเลของรัฐจะสัมพันธ์กับสถานะทางกฎหมายของลักษณะทางธรรมชาติทางทะเลของเกาะ พื้นที่เหนือน้ำขณะน้ำลด และโขดหิน มิใช่สิทธิในการจำกัดเขตแดนในพื้นที่พิพาทนั้น ซึ่งศาลอนุญาโตตุลาการถาวรถือคำชี้ขาดจากภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณพื้นที่พิพาทนั้นรวมไปถึงการสำรวจพื้นที่ทางทะเลโดยทหารเรือหรือหน่วยงานอื่น และมีคำชี้ขาดว่าเกาะปะการังสกาโบโรห์ที่ทั้งสองรัฐพิพาทนั้นเป็นโขดหิน กล่าวคือเป็นพื้นที่ที่น้ำขึ้นสูงสุดและโดยสภาพมนุษย์ไม่สามารถอยู่อาศัยหรือยังชีพทางเศรษฐกิจได้จึงไม่สามารถมีไหล่ทวีป (Continental Shelf)[3] หรือเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone: EEZ)[4] ของตัวเองได้เช่นเดียวกับหมู่เกาะสแปรตลีย์ ตามข้อ 121 แห่งอนุสัญญา เพราะฉะนั้นจีนจึงไม่มีสิทธิทางทะเลที่จะจำกัดเขตแดนในการเดินเรือบนเกาะ Second Thomas Shoal และในกรณีนี้ไม่มีพื้นที่ทับซ้อนระหว่างจีนและฟิลิปปินส์
ประเด็นที่สามคือการละเมิดสิทธิทางการประมงและการใช้ทรัพยากรทางทะเลของจีนต่อฟิลิปปินส์ ศาลมีคำชี้ขาดว่าจีนได้กระทำการละเมิดต่ออนุสัญญาข้อ 77 ซึ่งวางหลักไว้ว่า รัฐชายฝั่งใช้สิทธิอธิปไตยเหนือไหล่ทวีปเพื่อความมุ่งประสงค์ในการสำรวจและแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของไหล่ทวีป ทรัพยากรนี้ประกอบไปด้วยแร่และทรัพยากรไม่มีชีวิตอย่างอื่นของพื้นดินท้องทะเลและใต้ผิวดิน รวมไปถึงข้อ 56 ซึ่งวางหลักไว้ว่า ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะรัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตยเพื่อความมุ่งประสงค์ในการสำรวจและแสวงหาประโยชน์การอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตในน้ำเหนือพื้นดินท้องทะเลและในพื้นดินท้องทะเลกับดินใต้ผิวดินของพื้นดินท้องทะเลนั้น รวมไปถึงสิทธิอธิปไตยในกิจกรรมอื่นๆ เพื่อการแสวงประโยชน์และสำรวจทางเศรษฐกิจในเขต โดยการควบคุมดูแลเรือเดินสมุทรซึ่งเกี่ยวข้องกับการสำรวจเจาะหาน้ำมันของฟิลิปปินส์ และการหยุดการทำประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ศาลยังชี้ว่าจีนได้กระทำการละเมิดข้อ 58(3) แห่งอนุสัญญา ซึ่งวางหลักไว้ว่า ในการใช้สิทธิและปฏิบัติหน้าที่ของรัฐภายใต้อนุสัญญาในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ รัฐอื่นๆจะต้องคำนึงตามควรถึงสิทธิและหน้าที่ของรัฐชายฝั่งและจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่ออกโดยรัฐชายฝั่งตามบทบัญญัติของอนุสัญญาและหลักเกณฑ์อื่นของกฎหมายระหว่างประเทศตราบที่ไม่ขัดกับอนุสัญญา โดยการที่จีนล้มเหลวในการป้องกันไม่ให้เรือสัญชาติจีนเข้ามาแสวงหาประโยชน์ในทรัพยากรทางทะเลรวมไปถึงการเคารพในสิทธิอธิปไตยในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์
ประเด็นสุดท้ายที่ศาลมีคำชี้ขาดคือกิจกรรมทางทะเลของจีนซึ่งมีสัตถุประสงค์ในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่และการแสวงประโยชน์ในที่ดินบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ ฟิลิปปินส์กล่าวอ้างว่าจีนทำการประมงซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบอันตรายต่อทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลแม้ว่ารัฐต่างๆได้มีการออกมาคัดค้านการกระทำดังกล่าวแต่จีนก็ยังคงดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ในขณะที่เรือประมงบางลำเป็นเรือที่ไม่มีสัญชาติและกระทำการโดยเอกชนมิใช่รัฐ จีนเองก็มิได้กล่าวโทษหรือกระทำการเพื่อหยุดยั้งเรือเอกชนนั้น ศาลอนุญาโตตุลาการจึงมีคำชี้ขาดจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางชีววิทยาแนวปะการังรวมไปถึงภาพถ่ายดาวเทียมว่าจีนกระทำการละเมิดต่อสนธิสัญญา ข้อ 192 ซึ่งวางหลักไว้ว่า รัฐมีพันธกรณีที่จะต้องคุ้มครองและรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล และข้อ 194 ซึ่งวางหลักไว้ว่า ให้รัฐใช้มาตรการทั้งปวงที่สอดคล้องกับอนุสัญญาซึ่งจำเป็นเพื่อป้องกัน ลด และควบคุมภาวะมลพิษของสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยใช้วิธีการปฏิบัติได้ที่ดีที่สุดซึ่งมีอยู่ และมาตรการที่ใช้ให้รวมถึงมาตรการที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองและรักษาระบบนิเวศที่หายากหรือถูกทำลายได้ง่าย รวมถึงที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์และสิ่งมีชีวิตทางทะเลที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ถูกคุมคาม หรือที่อยู่ในอันตราย นอกจากนี้ศาลกล่าวว่าการที่จีนสร้างสิ่งปลูกสร้างบน Mischief Reef โดยปราศจากการอนุญาตจากฟิลิปปินส์นั้นถือเป็นการละเมิดสิทธิอธิปไตยในเขตเศรษฐกิจจำเพาะและเขตไหล่ทวีปของฟิลิปปินส์รวมไปถึงเป็นการละเมิดต่ออนุสัญญาด้วย
มากไปกว่านั้นศาลอนุญาโตตุลาการถาวรยังคงสังเกตถึงพฤติการณ์ทางกฎหมายเกี่ยวกับเรือเดินสมุทรของจีนบริเวณเกาะปะการังสกาโบโรห์รวมไปถึงความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำต่างๆ ทั้งนี้ฟิลิปปินส์ได้ยกประเด็นข้อพิพาทว่าเกี่ยวเนื่องกับข้อกำหนดแห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยกฎข้อบังคับระหว่างประเทศเพื่อป้องกันเรือโดนกันในทะเล (Convention on the International Regulations for Preventing Collisions at Sea) โดยศาลเห็นว่าพฤติการณ์ต่างๆทางกฎหมายของจีนนั้นส่งผลอันตรายต่อเรือเดินสมุทรของฟิลิปปินส์อีกทั้งยังสามารถก่อให้เกิดภยันตรายอย่างยิ่งต่อการชนกันของเรือเดินสมุทรตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเล ข้อ 94 ซึ่งเป็นการกำหนดหน้าที่ของรัฐเจ้าของธงเรือ
มุมมองในอนาคตหลังคำชี้ขาด
ฟิลิปปินส์ได้มีคำร้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการว่าให้จีนเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของฟิลิปปินส์ภายใต้อนุสัญญาและจะยอมทำตามหน้าที่ภายใต้ข้อกำหนดแห่งอนุสัญญารวมไปถึงการปกป้องและดูแลทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลในทะเลจีนใต้ และขอให้จีนใช้สิทธิและเสรีภาพของตนในทะเลจีนใต้โดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของฟิลิปปินส์ตามอนุสัญญา
ในทางกลับกันจีนไม่ได้เปิดเผยมุมมองในประเด็นที่ฟิลิปปินส์กล่าวถึงหลังจากมีคำชี้ขาดของศาลอนุญาโตตุลาการ แต่ทางการจีนได้แถลงการณ์ถึงประเด็นความสำคัญของหลักสุจริตและพันธกรณีตามอนุสัญญา อาทิ ข้อ 300 แห่งอนุสัญญาซึ่งวางหลักไว้ว่า ให้รัฐภาคีปฏิบัติตามพันธกรณีที่ยอมรับตามอนุสัญญานี้โดยสุจริต และให้ใช้สิทธิ เขตอำนาจและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองในอนุสัญญานี้ในลักษณะซึ่งจะไม่เป็นการใช้สิทธิในทางที่ผิด ซึ่งล่าสุดรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่าจีนได้กระทำการตามกฎหมายพร้อมปกป้องและเคารพในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเล
หลังจากคำร้องของขอฟิลิปปินส์หลังคำชี้ขาด ศาลอนุญาโตตุลาการได้คำนึงถึงคำร้องขอและแบ่งประเด็นเป็น 3 องค์ประกอบ ได้แก่
- ศาลขอให้จีนเคารพซึ่งสิทธิและเสรีภาพของฟิลิปปินส์ภายใต้อนุสัญญา
- ศาลขอให้จีนปฏิบัติตามพันธกรณีแห่งอนุสัญญาในการปกป้องและดูแลทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลในทะเลจีนใต้
- ศาลขอให้จีนใช้สิทธิและเสรีภาพของตนในทะเลจีนใต้โดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของฟิลิปปินส์ตามอนุสัญญา
ข้อเสนอทั้ง 3 ข้อของศาลนั้นเห็นได้ว่าเป็นไปตามหลัก สัญญาต้องเป็นสัญญา หรือ pacta sunt servanda ซึ่งเป็นหลักในข้อ 26 แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา (Vienna Convention on the Law of Treaties) ว่า สนธิสัญญาที่มีผลบังคับใช้แล้วย่อมผูกพันภาคีแห่งสนธิสัญญานั้น และต้องได้รับการปฏิบัติโดยภาคีนั้นอย่างสุจริต อีกทั้งสาระสำคัญของคำร้องขอของฟิลิปปินส์ที่ต้องการให้จีนกระทำนั้นเป็นผลผูกพันในตัวเองของอนุสัญญาที่ทั้งสองรัฐเป็นภาคีนับแต่แรก
แหล่งที่มา
Award PCA Case N.2013-19, In the matter of the south china sea arbitration. 12 July 2016.
Award on Jurisdiction and Admissibility PCA Case N.2013-19, In the matter of the south china sea
arbitration. 29 October 2015.
United Nations Convention on the Law of the Sea 1982. United Nations.
Vienna Convention on the Law of Treaties 1969. United Nations.
Case Brief on the South China Sea Arbitration between the Republic of the Philippines and the
People’s Republic of China by the Permanent Court of Arbitration. Research Society of International Law (RSIL).
อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. ๑๙๘๒. กรมสนธิสัญญาและกฎหมายกระทรวงต่างประเทศ
กฎหมายระหว่างประเทศ. ศาสตราจารย์ ดร. จตุรนต์ ถิระวัฒน์. สำนักพิมพ์วิญญูชน
[1] อำนาจและเสรีภาพทางกฎหมายที่ได้รับรองจากระบบกฎหมายที่สถาปนาอำนาจอธิปไตยขึ้นมาโดยถือเป็นอำนาจสูงสุด ในทางกฎหมายระหว่างประเทศหมายความว่าไม่มีผู้ใดมีอำนาจเหนือรัฐ กล่าวคือรัฐไม่อยู่ภายใต้บังคับของอำนาจอื่นใด ซึ่งรัฐเป็นผู้มีคุณสมบัติอันมีซึ่งสิทธิ อำนาจ และเขตอำนาจ (กฎหมายระหว่างประเทศ, ศาสตราจารย์ ดร.จตุรนต์ ถิระวัฒน์, สำนักพิมพ์วิญญูชน)
[2] สิทธิอธิปไตยเป็นสิทธิจำเพาะแต่เพียงผู้เดียวของรัฐเพื่อความมุ่งประสงค์ในการแสวงหาประโยชน์ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (กฎหมายระหว่างประเทศ, ศาสตราจารย์ ดร.จตุรนต์ ถิระวัฒน์, สำนักพิมพ์วิญญูชน)
[3] ไหล่ทวีปประกอบด้วยพื้นดินท้องทะเลและดินใต้ผิวดินของบริเวณใต้ทะเลซึ่งขยายเลยทะเลอาณาเขตของรัฐตลอดส่วนออกไปตามธรรมชาติของดินอดนจนถึงริมนอกของขอบทวีป หรือจนถึงระยะ 200 ไม่ล์ทะเลจากเส้นฐานที่วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต (อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล)
[4] เขตเศรษฐกิจจำเพาะคือบริเวณที่อยู่เลยไปจากและประชิดกับทะเลอาณาเขตซึ่งจะต้องไม่ขยายเกินออกไป 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐานที่ใช้วัดทะเลอาณาเขต (อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล)