ศูนย์การระงับข้อพิพาทแห่งใหม่ระหว่าง ไทย – จีน
เคยสงสัยมั้ยว่า หากเราทำธุรกิจการค้ากับต่างประเทศ แล้วเกิดมีปัญหาถึงขั้นต้องฟ้องร้องขึ้นมา เราจะไปที่ศาลไหนระหว่างศาลในประเทศของเราหรือศาลของประเทศคู่ค้า? แล้วรู้หรือไม่ว่าเรามีทางเลือกในการระงับข้อพิพาทรูปแบบอื่นอีกนอกจากการไปศาล?
ในประเทศไทยอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากนักสำหรับวิธีการระงับข้อพิพาท ในกรณีที่มีข้อพิพาทระหว่างประเทศ ซึ่งผิดกับหลายๆประเทศในโลกที่ทราบกันดีว่า เมื่อเกิดข้อพิพาทที่เกี่ยวกับธุรกิจการค้า การลงทุนหรือการผิดสัญญาต่างๆระหว่างประเทศขึ้น ประเทศอื่นๆ มักจะเลือกใช้การอนุญาโตตุลาการเป็นหลัก เพราะการอนุญาโตตุลาการเป็นที่ยอมรับกว่า 160 ปะเทศทั่วโลก และเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมากกว่าการไปขึ้นศาลประเทศใดประเทศหนึ่ง มีความสะดวก ยืดหยุ่น ข้อสัญญามีภาษาให้เลือกหลากหลาย มีระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้น สามารถยุติข้อพิพาทไปพร้อมกับดำเนินธุรกิจควบคู่กันต่อไปได้ อีกทั้งตัวของบริษัทที่เกิดข้อพิพาทเองก็จะไม่มีคดีติดตัวให้เกิดความเสียหายในอนาคตด้วย เพราะการเลือกใช้การระงับข้อพิพาททางเลือกอย่าง การอนุญาโตตุลาการนั้น เป็นวิธีการระงับข้อพิพาททางเลือกที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างยินยอมพร้อมใจที่จะใช้วิธีนี้ด้วยกันทั้งคู่ โดยมีการระบุลงในสัญญาก่อนเริ่มทำธุรกิจร่วมกันนั้นเอง
ปัจจุบันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าพูดถึงเรื่องการทำธุรกิจระหว่างประเทศ ประเทศที่เราจะนึกถึงเป็นอันดับแรกๆก็คงหนีไม่พ้นประเทศจีน ทั้งสินค้า อาหาร วัฒนธรรม เทคโนโลยี วงการบันเทิง และอื่นๆ เริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างมากในปัจจุบัน สังเกตได้ง่ายๆ จากการซื้อสินค้าผ่านช่องทาง E-Marketplace เช่น Lazada และ Shopee ฯลฯ ที่เรามักจะเห็นอยู่เสมอว่าเป็นสินค้า “พรีออเดอร์” จากต่างประเทศ ซึ่งประเทศนั้นก็คือประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างประเทศจีนนั้นเอง โดยสินค้าหรือธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษก็จะเป็นสินค้าประเภทเสื้อผ้าแฟชั่น ของใช้ภายในบ้าน ของตกแต่งบ้าน เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้เราจะเห็นร้านค้ารายย่อยเข้ามาเป็นตัวกลางในการทำธุรกิจประเภทนี้เป็นจำนวนมาก หรือแม้แต่ประเทศจีนเองก็มองประเทศไทยเป็นประเทศคู่ค้าที่ธุรกิจรายเล็ก – รายใหญ่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุน และเป็นประเทศที่น่าขยายฐานลูกค้ามากขึ้น อย่างเช่นในเรื่องของการนำเทคโนโลยีประเภทโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน หรือแก็ตแจ๊ต (Gedget) ต่างๆที่น่าใจ (Gedget คืออุปกรณ์ขนาดเล็กที่ส่วนใหญ่จะใช้ในด้านบันเทิง หรืออุปกรณ์เสริมที่มาพร้อมกับมือถือ แท็บเล็ต โน๊ตบุ๊คหรืออุปกรณ์ไอทีต่างๆ เช่น นาฬิกาอัจฉริยะ หูฟัง หรือลำโพงบลูทูธ) เข้ามาทำการค้าขายกับต่างประเทศมากยิ่งขึ้น
แน่นอนว่าเมื่อเกิดธุรกิจเชิงพาณิชย์ มีข้อสัญญา การสื่อสารที่ผิดพลาดหรือความคลาดเคลื่อนของการขนส่งย่อมมีปัญหา และอาจเกิดข้อพิพาทที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในอนาคตได้ การระงับข้อพิพาททางเลือก จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทเมื่อเกิดการค้าระหว่างประเทศ เพราะในระดับนานาชาติต้องการกฎหมายที่มารองรับการเชื่อมต่อที่ไร้พรมแดนนี้ให้มีความสะดวกและสามารถยุติข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้รวดเร็วมากที่สุด ตลอดจนเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุน ให้สามารถดำเนินการทำธุรกิจต่อไปได้โดยให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด
สถาบันอนุญาโตตุลาการ THAC เป็นสถาบันที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการและการประนอมข้อพิพาททั้งในและระหว่างประเทศ จัดตั้งและดำเนินการมาตั้งแต่พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศและส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาททางเลือก ได้เล็งเห็นถึงความสัมพันธ์ทางการค้า ของประเทศไทยและประเทศจีน รวมถึงโอกาสการเกิดข้อพิพาทในธุรกิจระหว่างประเทศโดยเฉพาะประเทศพันธมิตรอย่างประเทศจีน จึงได้หารือกับ Hainan International Arbitration Center (HIAC) ซึ่งเป็นสถาบันอนุญาโตตุลาการด้านการค้าแห่งเดียวในมณฑล Hainan ซึ่งได้เริ่มดำเนินการจัดตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2539 เพราะ HIAC ไม่เพียงแต่มีชื่อเสียงแค่ในประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังมีชื่อเสียงและบทบาทในกลุ่มประเทศอาเซียนอีกด้วย ทั้งนี้ยังมี สมาคมพันธมิตรกฎหมายไทย – จีน (TCLAA) ที่ร่วมหารือด้วย เนื่องจากสมาคม TCLAA นี้จัดตั้งขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ตลอดจนเป็นสมาคมที่ช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน
ภายหลังจากที่ทั้ง 3 หน่วยงานได้หารือร่วมกัน มีความเห็นชอบร่วมกันว่าจะจัดตั้งศูนย์ระงับข้อพิพาททางเลือก โดยใช้ชื่อว่า “ศูนย์ระงับข้อพิพาททางเลือกระหว่างประเทศไทย – จีน” หรือ “Thai – Chinese International Arbitration and Mediation Center (TCIAC)” ขึ้นเพื่อเป็นจุดศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้และส่งเสริมความร่วมมือทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนโดยเฉพาะ สมาคมนี้เกิดขึ้นภายใต้ความคิดริเริ่มของสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC) Hainan International Arbitration Center (HIAC) และสมาคมพันธมิตรกฎหมายไทย-จีน เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 ณ สถาบันอนุญาโตตุลาการ นั่นเอง
การร่วมมือกันในการจัดตั้ง “ศูนย์ระงับข้อพิพาททางเลือกระหว่างประเทศไทย – จีน” หรือ “Thai – Chinese International Arbitration and Mediation Center (TCIAC)” ของทั้ง 3 องค์กรนี้ มีวัตุประสงค์ในการส่งเสริมให้ใช้กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน อย่างที่กล่าวในข้างต้นว่าในปัจจุบันประเทศไทยและประเทศจีน มีความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการค้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก การเปิดเสรีทางการค้าและการปฏิวัติเศรษฐกิจในประเทศจีนก็ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และไม่เพียงกระทบแค่เศรษฐกิจภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจระหว่างประเทศด้วย
ซึ่งการขยายตัวอย่างรวดเร็วนี้อาจจะส่งผลให้เกิดข้อพิพาทระหว่างธุรกิจที่ทำการค้าระหว่างประเทศได้ ดังนั้น ความต้องการในการใช้กระบวนการการระงับข้อพิพาทจึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า เพื่อให้การระงับข้อพิพาทเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการยุติข้อพิพาทระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจและรักษาความสัมพันธ์เพื่อสร้างบรรยากาศทางธุรกิจให้ดีขึ้น