ประเมินบทบาทของกระบวนการอนุญาโตตุลาการฉุกเฉินภายใต้การจัดตั้งของ UNCITRAL Expedited Arbitration Rules
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 2021 คณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ หรือ UNCITRAL ได้จัดตั้ง Expedited Arbitration Rules นับว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญของกระบวนการอนุญาโตตุลาการนับตั้งแต่การกำเนิดของ UNCITRAL Arbitration Rules เมื่อปีค.ศ. 1976 ซึ่ง Expedited Arbitration Rules มีผลบังคับใช้วันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 2021
เป็นที่ทราบกันดีว่า UNCITRAL เป็นองค์กรสำคัญขององค์การสหประชาชาติที่มีเป้าหมายในการจัดการระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศไปจนถึงการสร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ ทางการอนุญาโตตุลาการ เช่น UNCITRAL Model Law on International Commercial Arbitration 1985, UNCITRAL Arbitration Rules และ United Nations Convention on Transparency in Treaty-based Investor-State Arbitration ซึ่งขณะปัจจุบันคณะกรรมาธิการได้ให้ความสนใจกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการฉุกเฉินเนื่องจากสถาบันอนุญาโตตุลาการทางการค้าหลายแห่งเริ่มมีการรับเอากระบวนการอนุญาโตตุลาการฉุกเฉินมาใช้มากขึ้น
ที่มาและความสำคัญของ UNCITRAL Arbitration Rules
UNCITRAL Arbitration Rules กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ให้คู่สัญญาอาจตกลงกันในกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ทางการค้าของคู่สัญญานั้นและเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้อย่างแพร่หลายในการอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทอื่นซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับทางการค้ารวมไปถึงการจัดการระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศด้วย กฎเกณฑ์ต่างๆ ครอบคลุมทุกแง่มุมของกระบวนการอนุญาโตตุลาการโดยจัดให้มีแม่แบบในการดำเนินการอนุญาโตตุลาการ กำหนดกฎเกณฑ์ขั้นตอนการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการและการดำเนินการของคณะอนุญาโตตุลาการ รวมไปถึงกำหนดรูปแบบ ผลกระทบ และการตีความคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งปัจจุบันมีกฎเกณฑ์ซึ่งเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการทั้งสิ้น 4 ฉบับ ได้แก่ ฉบับปีค.ศ. 1976 ฉบับเพิ่มเติมปีค.ศ. 2010 ฉบับปีค.ศ. 2013 ที่รับเอา UNCITRAL Rules on Transparency for Treaty-based Investor-State Arbitration และล่าสุดซึ่งเป็นหัวข้อในบทความนี้คือฉบับปีค.ศ. 2021 ซึ่งรับเอา UNCITRAL Expedited Arbitration Rules
UNCITRAL Arbitration Rules ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปีค.ศ. 1976 ซึ่งเป็นการใช้เพื่อระงับข้อพิพาททั่วไป รวมไปถึงข้อพิพาททางการค้าที่ไม่มีสถาบันอนุญาโตตุลาการเข้ามาเกี่ยวข้อง ข้อพิพาทระว่างนักลงทุนกับรัฐ ข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐ และข้อพิพาททางการค้าซึ่งดำเนินการโดยสถาบันอนุญาโตตุลาการ ในปีค.ศ. 2006 คณะกรรมาธิการตัดสินใจว่า UNCITRAL Arbitration Rules ควรได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องต่อความเปลี่ยนแปลงของแนวทางการปฏิบัติการอนุญาโตตุลาการตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา การแก้ไขครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการอนุญาโตตุลาการภายใต้กฎเกณฑ์ใหม่โดยไม่เปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์ของกฎเกณฑ์เดิม ต่อมาในปีค.ศ. 2010 มีการแก้ไขเพิ่มเติมถึงบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับอนุญาโตตุลาการ ความรับผิด และขั้นตอนในการคัดค้านพยานผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะอนุญาโตตุลาการ รวมไปถึงขั้นตอนสำหรับการแทนที่อนุญาโตตุลาการซึ่งถูกคัดค้าน [LG1] ต่อมาการรับเอา UNCITRAL Rules on Transparency in Treaty-based Investor-State Arbitration ในปีค.ศ. 2013 ถูกแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใสของการอนุญาโตตุลาการ โดยแง่มุมเดิมยังไม่เปลี่ยนแปลงจากฉบับปีค.ศ. 2010
กระบวนการจัดตั้ง Expedited Arbitration Rules
คณะกรรมาธิการที่พิจารณาจัดตั้ง Expedited Arbitration Rules นั้นเป็นคณะกรรมาธิการจาก 60 รัฐภาคี ซึ่งมีการเลือกตั้งโดยการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ นอกจากนี้ยังมีองค์การระหว่างประเทศ และ NGOs เข้าร่วมและมีส่วนร่วมกับคณะกรรมาธิการในการร่วมจัดตั้ง Expedited Arbitration Rules ด้วย ซึ่งตัวแทนเหล่านั้นมักจะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงในสาขาที่เกี่ยวข้องทั้งนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงาน ผลลัพธ์ที่ได้คือกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่เป็นเอกลักษณ์ โปร่งใส และครอบคลุม Expedited Arbitration Rules จึงเป็นกฎเกณฑ์ที่แตกต่างจากกฎเกณฑ์การอนุญาโตตุลาการฉุกเฉินอื่นๆโดยทั่วไป เนื่องจากเป็นการรวบรวมฉันทามติในแง่มุมของการเป็นกฎเกณฑ์ซึ่งเป็นตัวแทนทางระหว่างประเทศและการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการได้รับผลประโยชน์จากการสนับสนุนของสถาบันอนุญาโตตุลาการระดับนานาชาติ
ภายใต้การควบคุมดูแลแห่งประธานคณะกรรมาธิการ Andrés Jana จากชิลี คณะปฏิบัติงานเริ่มต้นหัวข้อที่เกี่ยวกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการฉุกเฉินในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2019 ภายใต้การประชุมที่กรุงเวียนนาและนิวยอร์กซึ่งเป็นการประชุมสามัญประจำปีจนกระทั่งจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเนื่องจากการระบาดใหญ่ของโรค COVID-19 โดยทั่วไปแล้วการพิจารณาต่างๆ ของ UNCITRAL นั้นเกิดจากฉันทามติ การปรับเปลี่ยนรูปแบบไปใช้ระบบออนไลน์หรือกึ่งปกตินั้นนับว่าเป็นเรื่องที่ยากต่อการทำงานขององค์กร ผลสำเร็จของโครงการภายในกรอบเวลาที่วางไว้จึงเป็นข้อพิสูจน์ของความร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
ขอบเขตข้อกำหนดและความเชื่อมโยงของ Expedited Arbitration Rules และ UNCITRAL Arbitration Rules
แรกเริ่มได้มีการอภิปรายถึงการจัดตั้ง Expedited Arbitration Rules ว่าควรให้เป็นกฎเกณฑ์ที่แยกเป็นกฎเกณฑ์ใหม่หรือเพียงแค่ปรับแก้ไข UNCITRAL Arbitration Rules ซึ่งมีอยู่แล้วแต่เดิมเพื่อเป็นการกำหนดกระบวนการในการอนุญาโตตุลาการฉุกเฉิน ท้ายที่สุดคณะกรรมาธิการได้ตกลงให้มีการจัดตั้งภาคผนวกของ UNCITRAL Arbitration Rules ขึ้น โดย Expedited Arbitration Rules ประกอบไปด้วย 16 ข้อและการตีความของข้อกำหนดนี้ให้ตีความร่วมกันกับ UNCITRAL Arbitration Rules
กระบวนการอนุญาโตตุลาการฉุกเฉินเป็นขั้นตอนของกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่ง่ายขึ้นโดยมีกรอบเวลาที่สั้นลง ซึ่งทำให้คู่สัญญาสามารถระงับข้อพิพาทได้ในลักษณะที่คุ้มค่าและคุ้มเวลา Expedited Arbitration Rules จึงกำหนดกฎเกณฑ์ที่คู่สัญญาอาจตกลงกันให้มีกระบวนการอนุญาโตตุลาการฉุกเฉิน และสร้างกฎเกณฑ์ที่มีความสมดุลในแง่หนึ่งและสร้างประสิทธิภาพในกระบวนการอนุญาโตตุลาการในอีกแง่มุมหนึ่งด้วย รวมไปถึงการให้สิทธิของคู่สัญญาในการได้รับกระบวนการและการเยียวยาที่เป็นธรรม
ข้อ 1 แห่ง UNCITRAL Arbitration Rules ได้มีการเพิ่มเติมวรรค 5 เพื่อกำหนดวิธีการใช้ Expedited Arbitration Rules ไว้ว่า Expedited Arbitration Rules ซึ่งปรากฏในภาคผนวกแห่ง UNCITRAL Arbitration Rules นั้นจะสามารถบังคับใช้ได้ต่อเมื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงยินยอมกัน ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวเนื่องกันของทั้งสองกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนมากขึ้น ข้อ 1 แห่ง Expedited Arbitration Rules ได้กำหนดเชิงอรรถที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการและข้อยกเว้นการใช้อนุญาโตตุลาการฉุกเฉินอยู่พอสมควร[1] ซึ่งมีการวางหลักสำคัญในการใช้ข้อกำหนดนี้ไว้ว่า คู่สัญญาตกลงว่าเมื่อมีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นซึ่งเกี่ยวเนื่องกับข้อกฎหมายไม่ว่าจะตามสัญญาหรือไม่ก็ตาม จะต้องระงับด้วยวิธีการอนุญาโตตุลาการภายใต้ Expedited Arbitration Rules ข้อพิพาทเช่นว่านั้นจะต้องระงับด้วยวิธีการที่สอดคล้องกับ UNCITRAL Arbitration Rules อันถูกเพิ่มเติมโดย Expedited Arbitration Rules นี้ และอยู่ภายใต้ความตกลงกันของคู่สัญญา กล่าวคือความยินยอมของคู่สัญญานั้นเป็นเสมือนเกราะป้องกันให้สำหรับคู่สัญญาที่มีอำนาจน้อยกว่า ซึ่งอาจถูกบังคับให้เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการฉุกเฉินโดยหลีกเลี่ยงมิได้ นอกจากนี้การแสดงความยินยอมโดยชัดแจ้งระหว่างคู่สัญญาเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พึงกระทำโดยปกติหากมีข้อตกลงในกระบวนการอนุญาโตตุลาการฉุกเฉิน เพื่อป้องกันและลดข้อกังวลซึ่งสามารถกระทบต่อคำชี้ขาดและการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้
เป็นที่น่าสังเกตว่าการใช้ Expedited Arbitration Rules ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินในข้อพิพาทหรือกฎเกณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติมจากย่อหน้าที่ 6 ของ Draft Explanatory Note to the Expedited Rules (Explanatory Note)[2] อธิบายว่าคู่สัญญามีอิสระในการตกลงที่จะใช้ Expedited Arbitration Rules เมื่อใดก็ได้แม้หลังจากที่กระบวนการอนุญาโตตุลาการได้เริ่มต้นขึ้นภายใต้ UNCITRAL Arbitration Rules แล้วก็ตาม แต่คู่สัญญาควรคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหลังจากที่เปลี่ยนวิธีการอนุญาโตตุลาการปกติเป็นอนุญาโตตุลาการฉุกเฉิน
[1] ข้อยกเว้นซึ่งห้ามมิให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการฉุกเฉิน เช่น ข้อ 3(4) เรื่องหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้า, ข้อ 7 จำนวนของคณะอนุญาโตตุลาการ เป็นต้น
[2] เอกสารซึ่งออกโดย UNCITRAL เพื่ออธิบายถึงหลักข้อกำหนดและกฎเกณฑ์ต่างๆของ Expedited Arbitration Rules เพิ่มเติม
ปัจจัยที่อาจพิจารณาและโอกาสที่สามารถเกิดข้อยุติในกระบวนการอนุญาโตตุลาการฉุกเฉิน
ย่อหน้าที่ 93 ของ Explanatory Note อธิบายถึงแนวทางของปัจจัยที่คู่สัญญาสามารถตัดสินใจได้ว่าเมื่อใดควรยื่นอนุญาโตตุลาการฉุกเฉิน เช่น
- ความเร่งด่วนในการระงับข้อพิพาท
- ความซับซ้อนของการดำเนินการและจำนวนของฝ่ายที่เกี่ยวข้องในข้อพิพาท
- การคาดการณ์ความซับซ้อนของข้อพิพาท
- การคาดการณ์จำนวนเงินที่เกี่ยวข้องในข้อพิพาท
- สภาพคล่องทางการเงินของคู่สัญญาในการดำเนินการอนุญาโตตุลาการ
- ความเป็นไปได้ในการร่วมมือกัน
- โอกาสที่คณะอนุญาโตตุลาการจะมีคำชี้ขาดภายในกรอบเวลาตามข้อ 16 แห่ง Expedited Arbitration Rules[1]
ข้อ 2(1) แห่ง Expedited Arbitration Rules อนุญาตให้คู่สัญญาทำความตกลงได้ตลอดเวลาระหว่างกระบวนการอนุญาโตตุลาการว่า Expedited Arbitration Rules จะมีผลบังคับใช้หรือไม่มีผลบังคับใช้อีกต่อไป ซึ่งเป็นความยินยอมของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายอันจะตกลงกัน นอกจากคำร้องขอของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในสถานการณ์พิเศษคณะอนุญาโตตุลาการอาจชี้ให้ Expedited Arbitration Rules ไม่มีผลบังคับใช้แก่คู่สัญญาก็ได้หลังจากที่ให้คู่สัญญาได้แสดงความเห็นว่า Expedited Arbitration Rules ไม่ควรมีผลยังคับใช้แก่ตนอีกต่อไปแล้ว ดังปรากฏในข้อ 2(2) แห่ง Expedited Arbitration Rules
ย่อหน้าที่ 13 ของ Explanatory Note อธิบายเพิ่มเติมว่าหากเกิดกรณีสงสัย คณะอนุญาโตตุลาการอาจต้องพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น ความเร่งด่วนในการระงับข้อพิพาท ขึ้นตอนของการพิจารณาคดี ความซับซ้อนของข้อพิพาท ตลอดจนผลที่ตามมาของการพิจารณาข้อพิพาทนั้น นอกจากนี้ ข้อ 2(3) แห่ง Expedited Arbitration Rules วางหลักว่าเมื่อ Expedited Arbitration Rules ไม่มีผลบังคับใช้ต่อคูสัญญาแล้ว คณะอนุญาโตตุลาการอาจดำเนินการพิจารณาข้อพิพาทต่อไปได้โดยไม่ขัดต่อกฎเกณฑ์ UNCITRAL Arbitration Rules
ข้อกำหนดแหละกฎเกณฑ์ต่างๆของ Expedited Arbitration Rules ยังคงมีรายละเอียดอีกมาก เช่น การบอกกล่าวของการอนุญาโตตุลาการ การตอบรับการบอกกล่าวของคู่สัญญา วิธีการเบื้องต้นในการอนุญาโตตุลาการฉุกเฉิน เป็นต้น ซึ่งจะเป็นหัวข้อที่จะกล่าวถึงรายละเอียดในบทความถัดไป
[1] กรอบเวลาของคณะอนุญาโตตุลาการในการมีคำชี้ขาดคือ 6 เดือน แต่อาจเลื่อนเวลาออกไปได้ไม่เกิน 9 เดือน หรือหากไม่สามารถมีคำชี้ขาดภายใน 9 เดือนได้ คณะอนุญาโตตุลาการจะกำหนดเวลาที่แน่นอนในการมีคำชี้ขาดโดยได้รับความยินยอมจากคู่พิพาท
แหล่งอ้างอิง
International Arbitration Information by Aceris Law LLC, UNCITRAL Expedited Arbitration Rules.
Kluwer Arbitration Blog, UNCITRAL, Expedited!
Legal 500, UNCITRAL EXPEDITED ARBITRATION RULES.
Maxime Berlingin, Louis Atyeo, Marily Paralika, Ady Nieuwenhuizen & Daniel Hayward, Fieldfisher.
Adoption of the 2021 UNCITRAL Expedited Arbitration Rules.
United Nations Commission on International Trade Law, Draft Explanatory Note to the
UNCITRAL Expedited Arbitration Rules. United Nations.
United Nations Commission on International Trade Law, UNCITRAL Arbitration Rules.
United Nations.
United Nations Commission on International Trade Law, UNCITRAL Expedited Arbitration Rules.
United Nations.