เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการประนีประนอม
การประนีประนอมถือเป็นหนึ่งในการประนอมข้อพิพาททางเลือกนอกศาลที่หลายๆ ฝ่ายมักเลือกใช้กันเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น ซึ่งในบทความนี้ THAC จะพาทุกท่านมารู้จักการประนีประนอมว่าโดยทั่วไปแล้วหมายถึงอะไร แล้วถ้ากล่าวถึงในเชิงกฎหมายจะหมายถึงอะไรบ้าง พร้อมทั้งอธิบายความแตกต่างระหว่างผู้ไกล่เกลี่ยและผู้ประนีประนอม รวมถึงแนะนำกฎหมายน่ารู้ที่เกี่ยวข้องให้ทุกท่านได้ทราบกัน
การประนีประนอม คืออะไร?
ความหมายทั่วไปของการประนีประนอม คือผ่อนหนักผ่อนเบาให้แก่กัน ปรองดองกัน หรือการอะลุ้มอล่วยกัน ซึ่งสามารถใช้ได้กับสถานการณ์ที่อยากให้ความขัดแย้งยุติโดยสันติวิธี การประนีประนอมจะไม่ได้มีลักษณะที่จะต้องชี้ผิดชี้ถูก ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้แบ่งได้ครึ่งต่อครึ่ง แต่เป็นการผสานความเข้าใจและหาจุดที่คู่กรณีพึงพอใจร่วมกัน
โดยจะมีคำว่า “ประนีประนอมยอมความ” ซึ่งเป็นศัพท์ทางกฎหมายว่าเป็นวิธีการระงับข้อพิพาทที่คู่กรณีทั้งสองประสงค์ให้เสร็จสิ้นไป โดยการโอนอ่อนผ่อนผันให้แก่กัน โดยสามารถที่จะทำได้ทั้งก่อนที่คดีจะเข้าสู่กระบวนการศาลเรียกว่า “ประนีประนอมยอมความนอกศาล” หรือในระหว่างพิจารณาคดีในชั้นศาล “ประนีประนอมยอมความในศาล” เมื่อสามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้แล้ว จะมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้นเพื่อเป็นสัญญาว่าทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทและต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน
การประนีประนอมยอมความสามารถทำได้ในกรณีที่เป็นข้อพิพาททางแพ่ง อย่างการกู้ยืม ค้ำประกัน เช่าทรัพย์สิน ครอบครัว มรดก รวมถึงข้อพิพาททางอาญาที่ยอมความได้ อย่างการบุกรุก หมิ่นประมาท ยักยอกทรัพย์ หรือข้อพิพาททางแพ่งที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา เช่น กรณีประมาทจนทำให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายต่อร่างกายหรือจิตใจ ซึ่งสามารถตกลงประนีประนอมยอมความได้ในส่วนของค่าเสียหายทางแพ่งได้และเจ้าหน้าที่พนักงานตำรวจจะดำเนินความผิดตามประมวลกฎหมายอาญานั้นๆ
ผู้ประนีประนอมคือใคร ต่างจากผู้ไกล่เกลี่ยอย่างไร?
ผู้ประนีประนอม คือผู้ที่จะทำหน้าที่ในการไกล่เกลี่ยในชั้นศาล โดยอาจจะเป็นผู้ประนีประนอมประจำศาลหรืออาจเป็นผู้พิพากษาประจำคดีนั้นขึ้นมาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นศาลเพียงเท่านั้น กล่าวคือผู้ประนีประนอมอาจมีอีกชื่อหนึ่งว่าผู้ไกล่เกลี่ย แตกต่างกันที่สถานที่ในการดำเนินการ เพราะผู้ประนีประนอมจะทำหน้าที่อยู่ในชั้นศาลหรือเฉพาะกรณีที่มีการประนีประนอมยอมความในศาลเพียงเท่านั้นนั่นเอง ในขณะที่ผู้ไกล่เกลี่ยจะดำเนินการไกล่เกลี่ยนอกศาลเป็นหลัก
กฎหมายน่ารู้เกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยและประนีประนอม
สำหรับท่านใดที่อยากทราบถึงตัวกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการไกล่เกลี่ยและประนีประนอม จะประกอบด้วย พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ที่มีการกล่าวถึง ข้อกำหนดในกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งซึ่งมีทุนทรัพย์ไม่มากและข้อพิพาททางอาญาบางประเภทให้มีระบบและมาตรฐานเดียวกัน โดยกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ไกล่เกลี่ย ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นอกจากนี้ เมื่อมีการไกล่เกลี่ยหรือประนอมข้อพิพาทแล้ว (ดูเพิ่มเติม ที่นี่) การจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความจะต้องมีลักษณะที่เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850-852 เพื่อให้สัญญามีผลสมบูรณ์ ดังนี้
- มาตรา 850 อันว่าประนีประนอมยอมความนั้น คือสัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน
- มาตรา 851 อันสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
- มาตรา 852 ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน
สำหรับใครที่สนใจต้องการประนอมข้อพิพาททางเลือกด้วยการไกล่เกลี่ยและทำสัญญาประนีประนอม สามารถเข้ารับคำปรึกษาได้ที่ THAC เรามีความยินดีที่จะให้บริการประนอมข้อพิพาททางเลือก รวมถึงการอนุญาโตตุลาการเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด สามารถติดต่อ THAC ได้ที่นี่ สามารถส่งอีเมลมาที่ [email protected] หรือติดต่อ +66(0)2018 1615
เกี่ยวกับเรา
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
โทร : 02-018-1615
เว็บไซต์: www.thac.or.th
อีเมล: [email protected]